“ศูนย์บริการที่เป็นมิตร” เปิดตัวหนัง 3 เรื่อง 3 รส เจาะลึกทุกปมเรื่องเพศ คนบันเทิงพร้อมใจกระตุ้นสังคมปรับทัศนคติ

ข่าวบันเทิง Tuesday August 30, 2011 14:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--อาร์ค เวิล์ดไวด์ “ศูนย์บริการที่เป็นมิตร” เปิดตัวภาพยนตร์สั้น 3 เรื่อง 3 แนวจากโครงการ “หนังเอ็กซ์เรย์” หนังเรื่องเพศที่เจาะลึกทุกปมจากผลงานของ 3 ผู้กำกับ เค-ไชยณรงค์ แต้มพงษ์ พุ-เหมันต์ เชตมี และ มุก-ปิยะกานต์ บุตรประเสริฐ โดยได้นักแสดงหน้าใหม่ตัวแทนวัยรุ่นตัวจริงจากการคัดเลือกทั่วประเทศร่วมแสดงภาพยนตร์สะท้อนความคิดของวัยโจ๋ในปัจจุบันเกี่ยวกับเรื่องเพศ งานนี้สามสาวเกิร์ลลี่ เบอร์รี่ กิ๊ฟซ่า-ปิยา พงศ์กุลภา แนนนี่-ภัทรนันท์ ดีรัศมี และ เบลล์-มนัญญา ลิ่มเสถียร รวมถึงศิลปินกลุ่ม 321 ตบเท้าร่วมชมภาพยนตร์พร้อมร่วมแสดงความคิดเห็นเรื่องเพศ กระตุ้นสังคมปรับทัศนคติการยอมรับการพูดเรื่องเพศอย่างเปิดเผย สำหรับภาพยนตร์สั้นทั้ง 3 เรื่องนั้น แต่ละเรื่องมีเนื้อหาที่สะท้อนเรื่องราวของเยาวชนที่ต้องเผชิญกับประเด็นเรื่องเพศซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมแต่ถูกหลีกเลี่ยงไม่ให้พูดถึง โดยเรื่องแรก คือ เรื่อง รัก ชัก จะ มันส์ กำกับโดย เค-ไชยณรงค์ แต้มพงษ์ เปิดเผยเรื่องราวของหนุ่มวัยรุ่นที่กำลังแตกเนื้อหนุ่ม เริ่มมีความต้องการทางเพศ และรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ต้องการที่จะเรียนรู้และเริ่มทดลองหาคำตอบด้วยตัวเอง ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เปิดประเด็นให้สังคมถกเถียงกันว่า เมื่อวัยรุ่นเข้าสู่วัยที่เริ่มมีความต้องการทางเพศพวกเขาควรหาทางออกอย่างไร และการที่วัยรุ่นช่วยตัวเองถือเป็นเรื่องที่ผิด หรือ เป็นเรื่องที่น่าอายหรือไม่ เค-ไชยณรงค์ แต้มพงษ์ เผยถึงการกำกับหนังเรื่องเพศครั้งนี้ว่า "การทำหนังเกี่ยวกับเรื่องเพศ โดยเฉพาะเรื่องการช่วยตัวเอง ประเด็นไม่อยู่ที่ทำง่ายหรือทำยาก แต่อยู่ที่ว่าจะถ่ายทอดออกมาอย่างไรในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้ดูสนุกในขณะเดียวกันก็ได้สาระ เพราะโจทย์จริงๆ ของการทำหนังในครั้งนี้คือการนำเอาเรื่องใกล้ตัวของวัยรุ่นมาพูดอย่างเปิดเผย เพื่อกระตุ้นให้ตัววัยรุ่นเองกล้าแสดงความคิดเห็นและหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ หนังที่ทำออกมาจึงมีบางฉากที่ดูสอดเสียดไปบ้างในทางลามก แต่ก็เป็นภาพสะท้อนของวัยรุ่นจริงๆ ในสังคม ซึ่งทำให้หนังดูสนุก และที่สำคัญนำคนดูไปสู่สาระจริงๆ ที่หนังต้องการนำเสนอ นั้นคือ การส่งสารถึงวัยรุ่นว่า วันนี้เรื่องเพศเป็นเรื่องที่พูดได้ ทั้งเรื่องการมีเซ็กครั้งแรก การใช้ถุงยางอนามัย หรือแม้แต่การช่วยตัวเอง ซึ่งผมมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับเด็กผู้ชาย ถ้าวันนี้คุณกล้าพูด ก็มีคนพร้อมที่จะรับฟังและให้คำปรึกษา" นิธิพนธ์ ดุริยะสีห์สกุล นักแสดงจากเรื่อง รัก ชัก จะ มันส์ เปิดเผยว่า “หนังที่ผมเล่นเกี่ยวกับเด็กผู้ชายที่เริ่มมีอารมณ์ทางเพศและปลดปล่อยด้วยการช่วยตัวเอง ซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติของเด็กหนุ่มทุกคน คนไหนที่ไม่เคยทำถือว่าเป็นเรื่องแปลกซะมากกว่า ผมว่ามันขึ้นอยู่กับการจัดการควบคุมอารมณ์ของเราเองให้เหมาะสม ถูกที่ถูกเวลา ผมยอมรับการพูดเรื่องนี้ในสังคมนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องน่าอาย แต่การที่ได้ออกมาพูดเป็นเรื่องเป็นราวให้สังคมได้รับรู้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เหมือนเป็นกระจกสะท้อนชีวิต ซึ่งส่งผลให้สังคมหันมาคุยเรื่องนี้กันมากขึ้น” เรื่องที่สองกำกับโดย เหมันต์ เชตมี เรื่อง กล้า / ท้า / กลัว ตีแผ่ชีวิตของหนุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่กำลังมีความรัก แต่ไม่กล้าบอกความลับของตัวเองให้คนรักรู้ เพราะความกลัวว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นอาจทำให้ทุกคนหันหลังให้กับตัวเอง ภาพยนตร์เรื่องนี้นอกจากเปิดโอกาสให้สังคมรับรู้ถึงวิธีการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีอย่างถูกต้อง ยังส่งสารถึงสังคมว่า แม้จะเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีแต่พวกเขาก็มีความรัก ความฝัน และความกลัว พวกเขาไม่ได้กำลังนอนรอความตาย หากต้องการพื้นที่และการยอมรับเพื่อใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ แต่ในสังคมที่กีดกันการสมาคมกับผู้ป่วยโรคติดต่อขั้นรุนแรง จะยอมรับการอยู่ร่วมกับพวกเขาได้หรือไม่ และจะยังคงมองพวกเขาเป็นแกะดำของสังคมอีกต่อไปไหม หากพวกเขาพูดความจริงว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวี นางสาวปรียาณัฐ ไชยศิริ นักแสดงจากเรื่อง กล้า / ท้า / กลัว กล่าวว่า “หลังจากที่ได้ร่วมแสดงหนังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทำให้รู้ว่าโรคเอดส์ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เราสามารถจะเป็นคนรักหรือเป็นเพื่อนกับผู้ติดเชื้อได้อย่างปกติ เพียงแต่เราเปิดใจยอมรับว่าผู้ติดเชื้อก็เป็นเหมือนเราทุกคน และทำความเข้าใจว่าเขาไม่ได้แตกต่างไปจากเรา มันเป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้ที่เขาได้รับเชื้อมาตั้งแต่เกิด เราสามารถที่จะมีความรักกับผู้เชื้อเอขไอวีได้ แต่ก็ต้องเรียนรู้วิธีการป้องกัน เพื่อให้อยู่ร่วมกับเขาอย่างปลอดภัย” ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายเปิดประเด็นการพูดเรื่องเพศในครอบครัวระหว่างแม่กับลูก ในชื่อเรื่อง โปรดระวังแขกที่ไม่ได้รับเชิญ กำกับโดย ปิยะกานต์ บุตรประเสริฐ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของคุณแม่ที่มีลูกสาวกำลังโตเป็นวัยรุ่นและเริ่มมีเพื่อนชายมาพัวพัน ขณะที่ลูกสาวเองก็ไม่กล้าบอกคนในครอบครัวว่ากำลังมีความรัก คนเป็นแม่ก็ไม่กล้าพูดคุยเรื่องเพศสัมพันธ์กับลูกเพราะกลัวจะเป็นการกระตุ้นให้ลูกมีเซ็กส์ก่อนวัยอันควร ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนภาพครอบครัวในปัจจุบันที่มองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ต้องปกปิด จึงรู้สึกอึดอัดเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องเพศที่เกิดขึ้นในบ้านและพยายามหาทางออก บ้างก็หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง บ้างก็กล่าวโทษทำให้เด็กกลัว จึงกลายเป็นว่าเด็กไม่สามารถพูดคุยเรื่องเพศกับพ่อแม่อย่างสะดวกใจและไปปรึกษาเพื่อนหรือทดลองด้วยตนเอง ดังนั้นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายนี้จึงพยายามกระตุ้นให้สังคมเข้าใจว่าการพูดเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มจากครอบครัว พ่อแม่ซึ่งเป็นคนที่ใกล้ชิดลูกที่สุดต้องให้ความรู้เพื่อให้เยาวชนพร้อมรับมือกับปัญหาเรื่องเพศที่เขาอาจต้องเจอในอนาคต นางสาวชญานิศ ซื่อตรง นักแสดงจากเรื่อง โปรดระวังแขกที่ไม่ได้รับเชิญ เปิดเผยความรู้สึกว่า “ในเรื่องเล่นเป็นลูกสาวที่กำลังมีรัก แต่ไม่กล้าบอกแม่ว่ามีแฟน แม่ก็เป็นห่วงแต่ไม่กล้าพูด พอย้อนกลับมาถามตัวเองว่า แล้วในชีวิตจริงเราได้พูดคุยกับแม่เรื่องเพศบ้างไหม แทบไม่มีการพูดคุยกันเลยจริงๆ พอได้มาเล่นเรื่องนี้ ทำให้รู้ว่า คนใกล้ตัวอย่างพ่อแม่เรานี้แหละ เป็นคนที่ให้คำปรึกษาเราได้ดีที่สุด ไม่มีใครที่ห่วงเรามากกว่าพ่อกับแม่อีกแล้ว” ด้านเหล่าคนบันเทิงที่ได้ร่วมชมภาพยนตร์ได้แสดงความคิดเห็นต่อโครงการนี้ อาทิ เบลล์-มนัญญา ลิ่มเสถียร สมาชิกสาววงเกิร์ลลี่ เบอร์รี่ กล่าวว่า "หนังสนุกและพูดเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมามากค่ะ ทำให้รู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่พูดได้ ไม่ต้องปกปิด เพราะยิ่งหลีกเลี่ยงที่จะพูดก็ยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิด โดยเฉพาะการพูดกับคนที่เรารัก เช่น เมื่ออยู่ในภาวะที่ต้องตัดสินใจที่จะมีเพศสัมพันธ์หรือการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อ การพูดจากันอย่างเปิดใจ จะช่วยปรับทัศนคติของทั้งสองฝ่ายก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรซึ่งมีผลกับอนาคต และอาจจะทำให้รักและเข้าใจกันมากขึ้น คิดว่าหากวัยรุ่นได้ดูหนังทั้งสามเรื่องจะช่วยให้วัยรุ่นกล้าเปิดใจพูดเรื่องเพศมากขึ้น เพราะได้เห็นตัวอย่างจากหนังว่า เรื่องเพศจริงๆ แล้วเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่ต้องอายที่จะพูดจะถาม แต่ถ้าบางคนอึดอัดไม่กล้าเปิดใจพูดกับพ่อแม่ก็สามารถมาปรึกษาได้ที่ศูนย์บริการที่เป็นมิตร ที่พร้อมจะรับฟังปัญหาและให้คำปรึกษาทุกเรื่องของวัยรุ่น” สำหรับ แนนนี่-ภัทรนันท์ ดีรัศมี สมาชิกอีกคน พูดถึงความสำคัญในการเริ่มต้นพูดคุยเรื่องเพศว่า "ในฐานะผู้หญิง คิดว่าการพูดเรื่องเพศเป็นเรื่องจำเป็น เพราะจะทำให้เรารู้เท่าทันอารมณ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ที่สำคัญคือทำให้เรารู้จักป้องกันตัวหากตัดสินใจจะมีเพศสัมพันธ์ โครงการนี้จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่วัยรุ่นจะได้รับความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องเพศ เพราะโดยธรรมชาติของเด็กไทยไม่กล้าพูดไม่กล้าถาม ยิ่งเป็นเรื่องเพศ ยิ่งเกิดความกลัว คิดว่าเป็นเรื่องน่าอายหรือบางทีกล้าถาม แต่ผู้ใหญ่อาจไม่กล้าตอบ โครงการนี้จึงเป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ให้เข้าใจกันมากขึ้น เพราะมีศูนย์บริการที่เป็นมิตรเข้ามาช่วยแนะนำและตอบคำถามเรื่องเพศอย่างเปิดเผย” สุดท้าย กวินท์-นิโคลัส ดูวัล ตัวแทนศิลปินกลุ่ม 321 เสริมความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังทั้งสามเรื่องว่า "หลังจากดูหนังทั้งสามเรื่องทำให้ผมกลับมาย้อนถามตัวเองว่า ถ้าเป็นตัวเราเองจะทำยังไง จะกล้าพูดเรื่องเพศกับคนในครอบครัวตรงๆ ไหม และก็ตอบได้ว่าต้องพูด เพราะการคุยกับพ่อแม่ถือว่าดีที่สุดแล้ว ถ้าหากเราเกิดพลาดขึ้นมา ก็จะกระทบต่ออนาคต แต่ถ้าพูดคุยปรึกษา พ่อแม่อาจช่วยให้คำแนะนำ ช่วยกันคิดแก้ปัญหาก่อนที่จะสายเกินไป ผมจึงอยากให้วัยรุ่นเปิดใจให้กว้าง ยอมรับที่จะพูดเรื่องเพศ และรู้จักคิดหน้าคิดหลังให้ดีๆ ก่อนจะทำอะไรลงไป" ภาพยนตร์สั้นทั้ง 3 เรื่องเป็นการสะท้อนมุมมองเรื่องเพศบางประเด็นในสังคม แต่ในความเป็นจริงยังมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเพศอีกมากมายที่สังคมหลีกเลี่ยงที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรักในวัยเรียน การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ฯลฯ ดังนั้นการฉายภาพยนตร์ในครั้งนี้จึงเป็นการจุดประกายให้เกิดการพูดคุยเรื่องเพศที่จะนำไปสู่ประเด็นอื่นๆ ต่อไป พร้อมกันนี้ศูนย์บริการที่เป็นมิตรยังได้เชิญชวนเยาวชนให้เข้ามาปรึกษากับเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ที่จะให้คำปรึกษาและแนะนำกับเยาวชนทุกปัญหาโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาความลับ การไม่ตีตรา และไม่ซ้ำเติมปัญหาของผู้รับบริการ ทั้งยังไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือคิดค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด นอกจากการฉายภาพยนตร์รอบพิเศษในกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ทางศูนย์บริการที่เป็นมิตรจะดำเนินการจัดฉายภาพยนตร์สั้นรอบพิเศษทั้ง 3 เรื่อง พร้อมจัดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในอีกสาม 3 จังหวัด ซึ่งเยาวชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่สถานที่ต่อไปนี้ โรงภาพยนตร์ โคลีเซี่ยม โรบินสัน จ.นครศรีธรรมราช วันที่ 10 กันยายน 2554, โรงภาพยนตร์ Major Cineplex Central Airport จ.เชียงใหม่ วันที่ 17 กันยายน 2554 และโรงภาพยนตร์ SF Cinema City Central จ. ขอนแก่น วันที่ 24 กันยายน 2554 นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ยังมีการจัดทำภาพยนตร์ในรูปแบบของซีดี เพื่อแจกจ่ายให้เยาวชนที่สนใจสามารถขอรับได้ที่ศูนย์บริการที่เป็นมิตรทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม กรุณาติดต่อ : อาร์ค เวิล์ดไวด์ ประเทศไทย รวีพลอย เนื่องจำนงค์ (ออย) / โทร + 66 2 684 5588 พิชยาภรณ์ จิตต์นุพงศ์ (ใหม่) / โทร + 66 2 684 5700
แท็ก ภาพยนตร์  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ