บทความ: ล้มละลายไทย/อเมริกัน - ความเหมือนที่แตกต่าง

ข่าวทั่วไป Friday August 23, 2002 10:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส
โดย นิมิตร หมดราคี
ประธาน บริษัท 124 คอมมิวนิเคชั่นส
ใครเป็นผู้ถือหุ้น หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจการบินของอเมริกันขณะนี้ต้องกุมขมับ เพราะผลกระทบของวินาสภัยเมื่อกันยายนปีที่แล้ว บัดนี้จะครบ 1 ปีแล้ว ยังตามหลอนหลอกธุรกิจการบิน ชนิดที่ยังคลำหาทองออกไม่เจอ เสริมด้วยการเสื่อมถอยของสถานเศรษฐกิจโดยรวม ที่ส่วนหนึ่งมาจากโรคธรรมาภิบาลบกพร่อง ทำให้สถานการณ์ขณะนี้เลวร้ายลงไปอีก
เอาเป็นว่า ขนาดสายการบินอันดับหนึ่งของอเมริกา คือ ยูเอส แอร์เวย์ ต้องประกาศขอความคุ้มครองจากศาลพิทักษ์ทรัพย์ และล้มละลาย เพื่อขอตั้งตัวใหม่
ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก สายการบิน ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ยักษ์ใหญ่การบินพาณิชย์อันดับสองของอเมริกา แจ้งว่า กำลังตัดสินใจว่าจะปรึกษาทนายว่าควรจะยื่นศาล ล้มละลายเพื่อการพิทักษ์ทรัพย์หรือไม่
พอข่าวนี้ออกไป เนื่องจากสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ เป็นสายการบินที่ได้รับความนิยมสูงมากในเอเชียแปซิฟิก ทำให้สื่อมวลชนประโคมทั่วกันอุตลุต โดยเฉพาะในประเทศไทย ผู้โดยสาร และเอเยนต์ ถึงกับตกใจว่า นี่มันจะล้มละลายไปแล้วหรืออย่างไร ถ้ามันล้มไปแล้ว ตั๋วที่ซื้อไปจะทำอย่างไร แต้มที่มีอยู่กับสตาร์อัลไลอันซ์ หรือผลประโยชน์ทางการท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร
ฟังแล้วกลุ้มใจแทน ดังนั้นเพื่อความกระจ่าง ขอไขความเพื่อท่านที่เป็นลูกค้าของสายการบินของอเมริกา ไม่ว่าสายการบินอะไรก็ตาม จะได้ไม่ต้องตกใจ
กฏหมายล้มละลายของไทย กับอเมริกัน แตกต่างกันราวกับฟ้ากับดินครับ ของเราตอนนี้ปรับปรุงมาบ้าง แต่ก็ยังแตกต่างกันเยอะ
พระราชบัญญัติล้มละลาย หรือกฏหมายล้มละลายของอเมริกาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับกฏหมายล้มละลายของไทย ทั้งในด้านเนื้อหา และข้อบังคับ ดังนั้นเพื่อความเข้าใจของผู้ที่สนใจ จึงขอสรุปดังต่อไปนี้
บทที่ 11 ในพระราชัญญัติล้มละลายของสหรัฐอเมริกา
บุคคล หรือนิติบุคคล มีสิทธิร้องขอต่อศาลเพื่อการคุ้มครองทรัพย์สิน ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการชำระหนี้สินตามกฏหมายอันเกี่ยวพันกับมูลหนี้ ที่มีจำนวนค้างชำระน้อยกว่ามูลค่าของทรัพย์สิน ผู้ประกอบการสามารถขอความคุ้มครองจากศาลล้มละลาย เพื่อดำเนินการปรับโครงสร้างธูรกิจ และหาผู้ร่วมลงทุนเพื่ออัดฉีดเม็ดเงินมาเป็นทุนเพื่อชำระหนี้สิน การดำเนินการดังกล่าวเป็นวิธีช่วยให้ธุรกิจสามารถฟื้นกลับมา และสามารถประกอบธุรกิจไปได้ แม้ในขณะที่อยู่ในระยะเวลาคุ้มครองภายในกฏหมาย ผู้ประกอบการสามารถระดมทุน ขายทรัพย์สิน ขายกิจการบางส่วนออกไปหรือ ออกหุ้นกู้ก็ได้แล้วแต่กรณี
นี่คือ ข้อแตกต่างระหว่างกฏหมายล้มละลายของไทยกับอเมริกา ในกรณีศาลไทย เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบุคคล หรือนิติบุคคลที่ล้มละลาย บรรดาทรัพย์สินทั้งหมด จะถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยรัฐ และจะต้องนำมาขายทอดตลาด เพื่อแบ่งให้เจ้าหนี้ แล้วแต่มูลหนี้ และจำนวนเจ้าหนี้ โดยลูกหนี้ในระหว่างคำพิพากษา ไม่มีสิทธิที่จะดำเนินการ หรือทำนิติกรรมทางกฏหมายหรือธุรกิจใด ๆ ทั้งสิ้น
ในอเมริกา นิติบุคคล หรือบุคคลที่ควรจะใช้ประโยชน์จากศาลล้มละลาย ภายใต้ Chapter 11 ได้แก่1.ผู้มีหนี้สินทางธุรกิจตั้งแต่ 1 US$ 250,000 หรือมีมูลค่าหนี้สินรวมกันไม่เกิน US$ 2,000,0002.พิจารณาโดยถ่องแท้แล้วว่า ภายในเงื่อนไขเวลาที่จะต้องชำระหนี้ ไม่มีทางหมุนเงินมาชำระได้3.ได้รับการแจ้งว่า จะต้องถูกดำเนินการตามกฏหมาย ถ้าไม่ได้ชำระหนี้ตามกำหนด4.ผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการ พิจารณาแล้วว่า ถึงแม้จะมีการปรับโครงสร้างทางการบริหาร และโครงสร้างหนี้แล้วก็อาจไม่สามารถชำระมูลหนี้ได้ทันเวลา
ในกรณีดังกล่าว ในอดีตสายการบินคอนติเนนตัล ของอเมริกา ก็เคยเข้าไปอยู่ในการพิทักษ์ทรัพย์ของศาลล้มละลายถึง 2 ครั้ง ปรับโครงสร้างเสร็จ ล้มไป แล้วลุกขึ้นมาใหม่ ล้มอีก ก็ฟื้นขึ้นมาใหม่ ตอนนี้ US Airways ก็เข้าไปแล้ว กำลังหาช่องทางฟื้นฟูสภาพหนี้ เช่นนี้ก็เป็นวิธีการปรกติของธุรกิจ ที่ฟื้นก็ฟื้นกันไป จะปรับโครงสร้าง ลดขนาดกำลังคน ปรับรูปแบบการบริการ หรือขายกิจการ หรือแม้กระทั่งหาคนมาลงทุนใหม่ ส่วนธุรกิจก็ดำเนินต่อไปตามปรกติ ล้วนเป็นมาตรการ ที่กฏหมายอนุญาตให้ทำได้ ไม่ใช่ล้มบนฟูกจนเน่าสนิทเหมือนในบ้านเรา แล้วค่อยลุกขึ้นมาป่วนเจ้าหนี้ขอทำแฮร์คัท หรือใช้วิธีวิ่งเต้นให้ล้มละลายไปเลย จะได้หมดเวรหมดกรรม หลังสามปีก็จะเป็นไท กลับมาสู่ยุทธจักรการค้าได้ใหม่
ตอนนี้บรรดาเซียนๆผู้เยี่ยมยุทธ ปีหน้าก็คงหลุดมาให้เห็นหน้ากันหลายคนครับ
สบายใจได้ครับ สายการบินขนาดยักษ์ของอเมริกา เช่น US Airways และยูไนเต็ด แอร์ไลน์ มันใหญ่ระดับโลก เป็นหน้าเป็นตาของพญาอินทรีย์ ตอนนี้หุ้นร่วง จึงเป็นโอกาสทองของคนอยากได้ของดีราคาถูก ถ้าบริษัทสามารถปรับลดความอุ้ยอ้าย หรือปลดธุรกิจ ตัดค่าใช้จ่าย หรือขายทรัพย์สิน ที่ไม่จำเป็นออกไป ก็จะมีเงินมาใช้หนี้ ข่าวว่าเพิ่งขายยกฝูงเครื่องบินเก่ารุ่น DC10 ให้เฟดเอ็กซ์ไปทำเครื่องบินขนส่ง แฮปปี้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ยูไนเต็ดลดค่าบำรุงรักษาเครื่องบินเก่า ขณะที่เฟดเอ็กซ์ ได้เครื่องบินราคาถูกไปขนสินค้า และพัสดุภัณฑ์
ทุกอย่างมันมีทางออกครับ สถานการณ์แบบนี้ผมมองว่า เป็นโอกาสของสายการบินอเมริกัน ในการรีเอ็นจิเนียร์ระบบบริหารทั้งหมด และทำให้เนื้อตัว เบาสบายขึ้น เพราะอย่างไร กระทรวงคมนาคมของอเมริกัน โดยเฉพาะคณะกรรมการความมั่นคงของอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาล จะไม่มีวันยอมให้ล้มเสียหน้าเป็นอันขาด
หวังว่าคงหายตกใจ กันแล้วนะครับ
จากคอลัมน์ Cyber BIZ นสพ.ผู้จัดการรายวัน--จบ--
-สพ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ