ยุทธศาสตร์การแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข่าวทั่วไป Friday August 23, 2002 14:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--สศก.
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2544 เห็นชอบในยุทธศาสตร์การแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการให้เกิดผลในทางรูปธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อจัดทำแนวทางการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์การแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคณะทำงานปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ฯ ขึ้น และได้กำหนดให้มีการจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสมาชิก นักวิชาการ ผู้แทนสถาบันการศึกษา ผู้นำเกษตรกร ปราชญ์ชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน และเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดโดยนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับปรุงยุทธศาสตร์ให้มีความสมบูรณ์และเหมาะสม ในการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
เพื่อเป็นการเปิดกว้างและเพื่อนำเสนอร่างยุทธศาสตร์การแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ปรับปรุงแล้ว ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับนโยบายของชาติจนถึงระดับที่ยุทธศาสตร์มีผลต่อชีวิตและการปรับปรุงคุณภาพจึงจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้น เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรับทราบ ร่วมกันพิจารณาข้อมูล ตลอดจนแนวทางในการดำเนินการว่าเหมาะสมและสามารถนำไปปฏิบัติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างไร โดยร่วมกันวางข้อกำหนดในการคัดเลือกจังหวัดนำร่อง และคัดเลือกจังหวัดนำร่องที่จะนำยุทธศาสตร์แปลงไปสู่แผนปฏิบัติการต่อไป ซึ่งข้อสรุปที่ได้จากกการประชุมจะนำเสนอเป็นแนวนโยบายในการดำเนินการแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป
โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกับสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ยุทธศาสตร์การแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะจัดให้มีขึ้นที่ โรงแรมเจริญธานีปริ๊นเซส จังหวัดขอนแก่น ในวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2545 โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมและมอบแนวนโยบาย ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการระดมความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานทั้งภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ฝ่ายการเมือง นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ เกษตรกร องค์กรเกษตรกร ผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ที่มีต่อยุทธศาสตร์การแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเป็นการกระตุ้นให้สังคมสนใจถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ความเห็นชอบในยุทธศาสตร์ฯ รวมทั้งแนวทางในการแปลงยุทธศาสตร์ฯ ไปสู่การปฏิบัติ โดยได้กำหนดรูปแบบการประชุมไว้ในภาคเช้า นั้นจะเป็นพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการและมอบนโยบาย โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และมีนายชูชีพ หาญสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวรายงาน จากนั้นก็จะมีการชี้แจงปรัชญา แนวคิดในการแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจน โดยนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อด้วยการนำเสนอยุทธศาสตร์การแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย ดร.อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รวมทั้งมีการอภิปรายให้ข้อคิดเห็นร่วมกันของผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ส่วนในภาคบ่ายนั้น จะเป็นการประชุมกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม เกี่ยวกับกระบวนการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ และการนำเสนอผลเพื่อพิจารณาคัดเลือกพื้นที่นำร่อง และพิจารณากระบวนการแปลงแผนยุทธศาสตร์ไปสู่แผนปฏิบัติการ
สำหรับยุทธศาสตร์การแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์หลัก 6 ด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนาภูมิภาค ยุทธศาสตร์ด้านการเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ยุทธศาสตร์ด้านการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบให้เอื้อต่อการพัฒนา ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมอย่างเป็นธรรม ยุทธศาสตร์ด้านพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยการดำรงชีวิต และยุทธศาสตร์ด้านการปรับปรุงระบบบริหารของภาครัฐ ซึ่งผลความเห็นชอบในยุทธศาสตร์การแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแนวทางการแปลงแผนยุทธศาสตร์ฯ ไปสู่แผนปฏิบัติการ รวมทั้งพิจารณาจังหวัดนำร่องเพื่อทำแผนปฏิบัติการ จะนำเสนอเป็นแนวนโยบายในการดำเนินการแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนส่งผลให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรต่อไป--จบ--
-ศน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ