ฟิทช์ ให้อันดับเครดิตภายในประเทศแก่หุ้นกู้ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

ข่าวทั่วไป Wednesday August 28, 2002 13:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์-กรุงเทพฯ
ฟิทช์ เรทติ้งส์-กรุงเทพฯ/ลอนดอน--บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่อันดับ "A-(tha)" แก่หุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน ไม่ด้อยสิทธิ ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ("บริษัท") ครั้งที่ 1/2545 ครบกำหนดไถ่ถอน ปีพ.ศ. 2548 มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 7.5 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการชำระหนี้ระยะสั้นและระยะยาวของบริษัท อันดับเครดิตของหุ้นกู้สะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจปูนซีเมนต์ ปิโตรเคมี และกระดาษและบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ บริษัทยังมีจุดแข็งทางด้านชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักอย่างดีในกลุ่มลูกค้า ช่องทางการจัดจำหน่ายที่กว้างขวาง การบริหารงานที่ดีและโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่แข็งแกร่ง การที่บริษัทเข้าไปลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทในแง่ของการกระจายฐานรายได้สู่ธุรกิจอื่นมากขึ้นและลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจปูนซีเมนต์และธุรกิจวัสดุก่อสร้าง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มรายได้ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ การที่บริษัทมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ยังเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท เนื่องจากบริษัทอื่นๆที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าไปลงทุน (โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ) ยังอาจให้การสนับสนุนในด้านต่างๆแก่บริษัทได้ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และบริษัทลูกถือหุ้นจำนวน 31.9% ในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
อันดับเครดิตยังได้พิจารณาถึงระดับหนี้สินที่ค่อนข้างสูงของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเสี่ยงที่เกิดจากการเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ให้บริษัทที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวน 7.7 พันล้านบาท ซึ่งสะท้อนอยู่ในรูปหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (contingent liabilities) ในส่วนของการดำเนินงาน ถึงแม้ว่าในครึ่งปีแรกของปีพ.ศ. 2545 อุปสงค์ภายในประเทศของปูนซีเมนต์ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่การเติบโตของรายได้ของธุรกิจปูนซีเมนต์ในอนาคตก็ต้องขึ้นอยู่กับราคาจำหน่าย ซึ่งถูกดูแลอย่างใกล้ชิดจากภาครัฐบาล นอกจากนี้ ประโยชน์จากการกระจายฐานรายได้ที่จะได้รับจากธุรกิจปิโตรเคมีจะยังคงไม่เห็นชัดเจน จนกระทั่งปีพ.ศ. 2547 และ 2548 ซึ่งเป็นช่วงที่คาดว่าราคาของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะลดภาระหนี้สินและมีความพยายามที่จะเพิ่มรายได้ รวมถึงการที่บริษัทมีความสามารถสูงในการระดมเงินเพื่อการชำระหนี้ (refinancing ability) ช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยลบที่กล่าวมาข้างต้น บริษัทได้ดำเนินนโยบายทางธุรกิจโดยเน้นความสำคัญของธุรกิจหลัก ตลอดจนการลดภาระหนี้สินโดยการขายสินทรัพย์ที่มิได้เป็นธุรกิจหลัก รวมถึงการลดเงินกู้ยืมสกุลเงินต่างประเทศลง ฟิทช์คาดว่าในระยะกลาง ระดับหนี้สินของบริษัทจะลดลงอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการดำเนินงาน
ในช่วงครึ่งแรกของปีพ.ศ. 2545 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA/interest expense) ของบริษัท เพิ่มขึ้นเป็น 2.7 เท่า (เทียบกับ 1.9 เท่าในปีพ.ศ. 2543 และ 2.2 เท่าในปีพ.ศ. 2544) ขณะที่อัตราหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA (Net Debt/ EBITDA) ลดลงอยู่ระดับ 4.9 เท่า (เทียบกับ 6.4 เท่าในปีพ.ศ. 2543 และ 5.9 เท่าในปีพ.ศ. 2544) เมื่อรวมเงินปันผลจากบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน EBITDA/Interest expense และ Net debt/EBITDA ในครึ่งปีแรกของปีพ.ศ. 2545 จะอยู่ที่ระดับ 3.0 เท่าและ 4.5 เท่าตามลำดับ นอกจากนี้ ระดับหนี้สินที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศของบริษัท ลดลงจากระดับ 85 % ของหนี้สินรวม ในปีพ.ศ. 2540 มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2 % ของหนี้สินรวม ในครึ่งปีแรกของปีพ.ศ. 2545 โดยภาระหนี้สินต่างประเทศส่วนใหญ่ของเครือ ได้ถูกชำระคืนโดยการที่บริษัทออกหุ้นกู้ภายในประเทศจำนวนเก้าหมื่นล้านบาท ซึ่งจัดจำหน่ายในระหว่างปีพ.ศ. 2542-2543 รวมถึงการออกหุ้นกู้โดยบริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) จำนวนหนึ่งหมื่นล้านบาท ซึ่งจัดจำหน่ายในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2544 การที่เครือซิเมนต์ไทยสามารถออกหุ้นกู้ได้เป็นจำนวนมาก สะท้อนถึงชื่อเสียงที่ดีและความสามารถในการระดมเงินเพื่อการชำระหนี้
บริษัทเป็นหนึ่งในบริษัทอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ และได้ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2456 โดยเริ่มต้นจากเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ ก่อนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ บริษัทได้มีการขยายการลงทุนเข้าไปในหลายธุรกิจ หากแต่ผลกระทบทางวิกฤตเศรษฐกิจในปีพ.ศ. 2540 ทำให้บริษัทต้องปรับแนวทางการดำเนินงานโดยเน้นธุรกิจหลัก และให้ความสำคัญแก่การลดภาระหนี้สินเป็นลำดับแรก ในอนาคตบริษัทอาจพิจารณาเข้าไปซื้อสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก ซึ่งคาดว่าเงินลงทุนที่ใช้จะไม่เป็นจำนวนที่สูงนัก ในครึ่งปีแรกของปีพ.ศ. 2545 ธุรกิจปูนซีเมนต์ ปิโตรเคมี และกระดาษและบรรจุภัณฑ์สร้างรายได้คิดเป็น 73 % ของยอดขายสุทธิรวมและ 80% ของ EBITDA รวม
ติดต่อ:
อรวรรณ การุณกรสกุล, CFA, กรรมการ, Corporates + 662 655 4760
ภิมลภา สิมะโรจน์, ผู้ช่วยกรรมการ, Corporates + 662 655 4761
วสันต์ ผลเจริญ, นักวิเคราะห์, Corporates + 662 655 4763
Vincent Milton, กรรมการผู้จัดการ + 662 655 4759
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 'AAA' ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย--จบ--
-ศน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ