ม.อ.เดินหน้าสร้างมูลค่างานวิจัยเชิงพาณิชย์ มอบสิทธิบัตรเทคโนโลยีแก๊สชีวภาพ ดันเอกชนผลิตพลังงาน

ข่าวทั่วไป Monday September 12, 2011 12:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ม.อ.ลงนามมอบสิทธิบัตร ‘กรรมวิธีการกำจัดไฮโดรเจนซัลไฟด์ในแก๊สชีวภาพด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดสารละลายที่ฟื้นฟูสภาพได้ด้วยอากาศ’ ให้กับบริษัท ไบโอแก๊ส สครับเบอร์ เพื่อนำแก๊สชีวภาพในฟาร์มปศุสัตว์ทั้งในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน ไปผลิตเป็นพลังงานเพื่อใช้ในบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม เผยเป็นการต่อยอดงานวิจัยเพื่อเปิดประตูสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการใช้งานและสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง รองศาสตราจารย์ ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า จากการที่มหาวิทยาลัยมีนโยบายส่งเสริมให้นำผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ รวมถึงความพร้อมด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยเชื่อมต่อกับโลกธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม เพื่อก่อให้เกิดธุรกิจใหม่หรือการพัฒนาต่อยอดธุรกิจเดิม และเป็นช่องทางสร้างรายได้ของมหาวิทยาลัยในระยะยาวนั้น ล่าสุด ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา ม.อ. ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการนำผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยออกสู่เชิงพาณิชย์ ได้ลงนามการอนุญาตใช้สิทธิในสิทธิบัตร เรื่อง ‘กรรมวิธีการจำกัดไฮโดรเจนซัลไฟด์ในแก๊สชีวภาพด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดสารละลายที่ฟื้นฟูสภาพได้ด้วยอากาศ’ ให้แก่บริษัทไบโอแก๊ส สครับเบอร์ จำกัด เพื่อนำไปผลิตเป็นแก๊สชีวภาพที่สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือการให้ความร้อนแทนแก๊สหุงต้มในครัวเรือนและในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้ สิทธิบัตรดังกล่าว เป็นนวัตกรรมการใช้อุปกรณ์กำจัดไฮโดรเจนซัลไฟด์ในแก๊สชีวภาพด้วยระบบหอดูดซึมร่วมกับตัวเร่งปฏิกิริยา เพื่อกำจัดแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่ปนเปื้อนอยู่ และเป็นอุปสรรคสำคัญในการนำแก๊สชีวภาพไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากแก๊สดังกล่าว เมื่อสัมผัสกับน้ำหรือไอน้ำจะเปลี่ยนสภาพเป็นกรดซัลฟูริก ทำให้เกิดการกัดกร่อนต่ออุปกรณ์เครื่องจักร ทำให้อายุการใช้งานของเครื่องจักรสั้นลง และต้องมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการซ่อมบำรุงหรือต้องซื้อเครื่องจักรใหม่ สำหรับกรรมวิธีที่คิดค้นขึ้นนี้ จะใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดเฟอร์ริกไอออน ที่เตรียมขึ้นจากเทคนิคโซล-เจล ทำการเคลือบบนวัสดุตัวกลางยึดเกาะ และเผาที่อุณหภูมิสูง ทำให้ตัวเร่งปฏิกิริยามีความเสถียร มีพื้นที่ผิวในการเกิดปฏิกิริยาสูง ไม่เกิดปฏิกิริยากับแก๊สมีเทนในแก๊สชีวภาพ สามารถฟื้นฟูสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่ายโดยใช้ออกซิเจนในอากาศ มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่ำ และมีความสามารถสูงในการจำกัดไฮโดรซัลไฟด์ในแก๊สชีวภาพ เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย บริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป) โทร: 0-2248-7967-8 ต่อ 118Email : c_mastermind@hotmail.com หรือ kongwong91@hotmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ