นักวิชาการแนะ สังคมไทยถึงเวลาสร้างการเปลี่ยนแปลงต้อง “สานพลังชุมชนท้องถิ่นและภาคีสู่การจัดการตนเอง”

ข่าวทั่วไป Friday September 16, 2011 17:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--พม. คณะประสานงานองค์กรชุมชน (คปอ.), คณะกรรมการดำเนินการสภาองค์กรชุมชน, คณะอนุกรรมการโครงการสนันสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน, คณะอนุกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน, เครือข่ายภาคประชาสังคม, เครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป, สมัชชาองค์กรชุมชนแห่งประเทศไทย (สอท), เครือข่ายผู้หญิงไทย, สหพันธ์พัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชน คนจนเมืองแห่งประเทศไทย (สอช.), สำนักงานปฏิรูป (สปร.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมจัดงานสมัชชาเครือข่ายองค์กรชุมชน “สานพลังชุมชนท้องถิ่นและภาคีสู่การจัดการตนเอง” และการจัดประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ครั้งที่ ๑/๒๕๕๔ ระหว่างวันที่ ๑๓ — ๑๕ กันยายน ๒๕๕๔ ณ ห้องเอนกประสงค์ (๒๐๙) ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ รังสิต อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อนำเสนอการดำเนินงานพัฒนาของขบวนชุมชนท้องถิ่นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายเสนอระบบการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น ในมิติพื้นที่เป็นตัวตั้ง และรวมถึงการรวบรวมข้อเสนอ ประเด็นปัญหาสู่นโยบาย โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความร่วมมือของขบวนองค์กรชุมชนกับภาคีการพัฒนา ที่จะขับเคลื่อนงานพัฒนา โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยมีผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชน ๗๗ จังหวัดๆละ ๑๐ คน คณะประสานงานองค์กรชุมชนและคณะทำงานประเด็นงานต่าง ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานส่วนกลาง ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษา สภาองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เข้าร่วมงานจำนวนกว่า ๑,๐๐๐ คน พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการ พอช. กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของ พอช. ที่ว่าชุมชนเป็นหลัก พื้นที่เป็นตัวตั้ง หมายถึงชุมชนในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ตำบล อำเภอ จังหวัด ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นที่ต้องร่วมมือกันทำงานพัฒนา สิ่งที่เราต้องคิดคือเราจะชนะได้อย่างไร (How to win) ซึ่งยุทธศาสตร์นั้นไม่ใช่แผน แต่เป็นวิธีการที่จะเอาชนะ ปัญหาทุกปัญหานั้นมีหน่วยงานรับผิดชอบทั้งสิ้น ในการสานพลังนั้นให้มีข้อพึงระวังในการจัดการตนเอง ตำบลจัดการตนเอง หรือจังหวัดจัดการตนเอง อยู่สองด้าน หนึ่งเรื่องของฉันมึงไม่เกี่ยว อีกมุมเรื่องของมึงฉันไม่เกี่ยว ซึ่งในการจัดการตนเองนั้นต้องมีวงเล็บไว้ด้วยว่าภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานปกติ ส่วนเรื่องของสภาองค์กรชุมชนที่เป็นเวที เป็นพื้นที่ในการหารือแลกเปลี่ยน และเครื่องมือคือแผนพัฒนาชุมชน ซึ่งบ้านเราเริ่มมีแผนชุมชนมาตั้งแต่ปี ๔๖ แต่ก็ยังไม่สามารถทะลุเป็นแผนที่แท้จริงได้ ซึ่งสิ่งที่เราทำ ( What to do) นั้นเป็นกิจกรรม เรื่องแผนเป็นเรื่องที่สำคัญของสภาฯ แผนชุมชนคือการปฏิรูปประเทศไทยจากล่างขึ้นบนแต่ต้องทำทุกชุมชน ซึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงชิงโครงสร้าง วิธีงบประมาณ ถ้าชุมชนไม่ลุกขึ้นมาก็ไม่มีทางสำเร็จ แผนคือกำหนดการในการที่จะปรับปรุงพัฒนาเปลี่ยนแปลง จากสถานภาพปัจจุบันไปสู่อนาคตด้วยวิธีและในเวลาที่กำหนด และต้องมีองค์ประกอบจาก ๔ หน่วยงาน คือ ชุมชน หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนั้นท้องถิ่น และท้องที่ ความสำคัญของแผนชุมชนคือการปฏิรูปประเทศไทย ถ้าชุมชนไม่ลุกขึ้นมาจะเกิดการปฏิรูปได้หรือไม่ ถ้าเป็นเพียงโครงการเย็บเล่มจะไม่ประสบความสำเร็จ ผมว่าเรามาถูกทาง องค์กรชุมชนพัฒนาประเทศไทยได้ ซึ่งเรามีองค์กรชุมชนแปดหมื่นกว่าองค์กร สองพันกว่าสภาฯ ขอให้ทะลุเรื่องแผนชุมชนอีกนิด พลเอกสุรินทร์ กล่าว ด้าน ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ผอ.สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา กล่าวในเวทีอภิปราย “เมื่อโลกไม่ใช่ใบเดิมเริ่มเปิดเทอมการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยขบวนองค์กรชุมชน” โดยกล่าวว่า กว่า ๖๐ ปี ของจุดเริ่มต้นในการเปิดเสรีทางการค้า จนถึงวิกฤตต้มยำกุ้งที่สถาบันการเงินไทยถูกปิดไป ๕๐ กว่าองค์กร วันนั้น IMF บอกว่าสถาบันการเงินของไทยขาดธรรมาภิบาล รัฐไม่ควรอุ้มเข้าช่วยเหลือ แต่พอเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่อเมริกา บอกว่าเพราะสถาบันทางการเงินขาดธรรมภิบาลทำให้รัฐบาลต้องเข้าอุ้ม เรื่องนี้กลายเป็น ๒ มาตรฐาน กระแสทุนที่กำลังเข้ามา อาเซียนกำลังจะเปิดประตู ชุมชนจะรับมืออย่างไร ในอนาคตเราต้องมีการร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้น อย่างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเริ่มในปี ๒๕๕๘ อนาคตการเดินทางไปต่างประเทศเหมือนกับการเดินทางต่างจังหวัด และจะไม่มีการเก็บภาษี แน่นอนจะกระทบกับชุมชน ในเส้นทางการเชื่อมต่อภูมิภาคเพื่อขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งสารเคมี ขยะสารพิษ ฯลฯ ทุนโลกกำลังสนใจมาลงที่เอเชีย คือ จีน และอาเซียน วันนี้ทุนโลกมีกำลังมามีขนาดมหึมามาก และความเปลี่ยนแปลงอีกเรื่องที่สำคัญ คือเรื่องกำลังของพลเมือง Civilian power การสนับสนุนภาคพลเมือง ใช้วัฒนธรรมเป็นตัวนำ ซึ่งเรื่องนี้ผู้นำของโลกเห็นความสำคัญของคน และวัฒนธรรม และในการเคลื่อนของชุมชนท้องถิ่นเราต้องมีการเชื่อมข้ามประเทศ ซึ่งเราสามารถเชื่อมโยงกับโลกได้ทางอินเตอร์เน็ต ผมเชื่อมั่นพลังของภาคประชาสังคม ถ้ากระบวนการรวมกลุ่มในพื้นที่ไม่พอก็ไปรวมกับพื้นที่อื่นๆ เรียนรู้จากประสบการณ์การต่อสู้ของชาวบ้าน กระบวนการออมทรัพย์ ในไม่ช้านี้เรื่องสวัสดิการชุมชนจะเป็นทิศทางสำคัญ เพราะสถาบันการเงินเกิดปัญหา รัฐต้องให้ความสำคัญกับองค์กรการเงินของชุมชน การที่ชุมชนยืนหยัดได้เพราะการออม ภูมิใจในสิ่งที่ชุมชนมี เชื่อมั่นภูมิปัญญาเหล่านี้จะทำให้ชุมชนอยู่รอด ทุนสอนให้อยู่รอด แต่ชุมชนจะไปได้ต้องอยู่ร่วม พืชอิ่มถัง (พืชพลังงาน) แม้จะทำให้มีรายได้ที่ดี แต่มีความเสี่ยงในอนาคต แต่ถ้าปลูกพืชอิ่มท้อง จะทำให้เกิดการรักษาที่ดิน รักษาแหล่งน้ำ รักษาภูมิปัญญาจะทำให้เราไปรอด รศ.ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในเวทีอภิปราย โดยระบุว่า โลกกำลังเกิดวิกฤต ๔ ด้าน หรือจะเรียกว่า ๔E วิกฤตที่ ๑ Economic crisis วิกฤตทางเศรษฐกิจเดิมเรามีความเชื่อที่ว่าเสรีนั้นดีที่สุด แต่ปัจจุบันความศักดิ์สิทธิ์เริ่มคลาย เราต้องหันมาพัฒนาตลาดภายใน คือ คนมีเงินซื้อของคือตลาด ตลาดอยู่ได้ด้วยการบริโภค เงินที่ใช้ซื้อของมาจากค่าจ้าง บำนาญคนแก่ และภาคเกษตร ครอบครัวเกษตรกรปัจจุบันรายได้ กว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์มาจากนอกบ้าน รายได้ส่วนใหญ่มากจากนอกภาคเกษตร วิกฤตที่ ๒ Envelopment Crisis วิกฤตสิ่งแวดล้อม การขาดแคลนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ ก็เป็นวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญไม่น้อยกว่า น้ำเสีย อากาศเป็นพิษ ปัจจุบันประเทศใหญ่ๆ กำลังมองหาที่ดินมาเป็นตัวค้ำประกันเงิน อนาคตที่ดินจะถูกกวาดเข้าไปสู่มือนายทุน วิกฤตที่ ๓ Energy Crisis วิกฤตพลังงานที่กำลังขาดแคลน เราจึงมีการส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานต่างๆ แต่ควรระวังดุลยภาพ และพลังงานจากอาหารเป็นพลังงานที่สำคัญ กว่าพลังงานจากน้ำมัน และวิกฤตที่ ๔ Elder People Crisis วิกฤตประชากรสูงอายุ เด็กเกิดใหม่เกิดขึ้นมาไม่ทัน ทำให้ประเทศเริ่มขาดแคลนแรงงานจึงต้องมีการใช้แรงงานต่างด้าว จากเดิมที่คนวัยแรงงานมีปีละ ๑,๕๐๐,๐๐๐ ปัจจุบันเหลือเพียง ๗๐๐,๐๐๐ เท่านั้น ซึ่งปัญหาหลักของสังคม คือความไม่เป็นธรรม อันนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ ทั้งรายได้ โอกาส เราไม่สามารถแก้ได้พร้อมกัน คณะปฏิรูปได้สรุปว่าสิ่งแรกที่ต้องทำ คือการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ ของรัฐและทุน เราต้องให้ประชาชนคนเล็กคนน้อยมีอำนาจต่อสู้กับรัฐ และทุน และสำหรับกิจกรรมสำคัญของงานสมัชชาฯในวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๔ จะมีการแสดงปาฐกถาพิเศษ “สานพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง” โดยดร.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา การอภิปราย “ชุมชนท้องถิ่นกับการจัดการตนเองโดยพื้นที่เป็นตัวตั้ง “ และห้องเรียนรู้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองสู่การปฏิรูปสังคม ๖ ห้องเรียน ได้แก่ สภาองค์กรชุมชนรวมพลเพื่อการปฏิรูปชุมชนท้องถิ่น การแก้ปัญหาหนี้สินและความยากจนด้วยกองทุนชุมชน ความมั่นคงทางด้านอาหารกับการจัดการทรัพยากร ฯลฯ ทั้งนี้ การจัดงานสมัชชาฯ ประกอบด้วย งานวิชาการ การจัดเวทีเสวนา การแบ่งกลุ่มย่อย งานข้อเสนอนโยบาย การสรุปบทเรียนงานพัฒนาจากประเด็นงานต่างๆ และเกิดการสังเคราะห์เนื้อหางานพัฒนาโดยผ่าเวทีสมัชชาเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อเสนอต่อขบวนองค์กรชุมชน ขยายสู่สาธารณะ งานสาธิตและแสดงรูปธรรม การจัดนิทรรศการแสดงพื้นที่รูปธรรมระดับตำบล/จังหวัด การแสดงผลิตภัณฑ์ สินค้าชุมชน การแสดงศิลปะวัฒนธรรม และการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลประจำปี ๒๕๕๔ ที่จะสรุปผลการดำเนินงานสภาองค์กรชมุชนตำบล กำหนดทิศทางการขับเคลือนโดยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือ รวมทั้งรวบรวมประเด็นปัญหาเพื่อเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป โดยในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๔ จะมีการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติประจำปี ๒๕๕๔ และในช่วงสุดท้ายของการประชุมสภาองค์กรชุมชนฯ นางพนิดา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯจะเดินทางมารับข้อเสนอเชิงนโยบายของขบวนชุมชน ซึ่งผ่านการรับรองของที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ พร้อมมอบนโยบายการพัฒนาเพื่อสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองและเป็นประธานปิดการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นางอุดมศรี ศิริลักษณาพร หัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) E-mail udomsri789@gmail.com นายรุ่งโรจน์ เพชรบูรณิน เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ โทร. 081-3428754

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ