การดำเนินการบังคับจำนอง/จำนำกับลูกค้าของ บสท.

ข่าวทั่วไป Friday January 31, 2003 10:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--บสท.
เมื่อบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐและเอกชนมาแล้ว บสท. ได้พยายามดำเนินการให้ลูกค้าทุกรายเข้ามาเจรจาเพื่อให้การ แก้ไขหนี้ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยกระบวนการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของ บสท. นั้น ลูกค้าจำเป็นต้องแสดงเจตนาและร่วมมือในการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ บสท. ใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาประเมินความสามารถในการชำระหนี้และ ศักยภาพการดำเนินธุรกิจของลูกค้าเป็นราย ๆ ไป
ปัจจุบันลูกค้าที่มีการปรับโครงสร้างหนี้กับ บสท. จำนวนกว่า 680 ราย คิดเป็นมูลค่าบัญชีที่ รับโอนประมาณ 250,000 ล้านบาท สามารถกลับไปดำเนินธุรกิจได้อย่างปกติแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีลูกค้าอีกประมาณ 1,500 ราย ที่ บสท. ได้ใช้ความพยายามติดต่อหรือเจรจาหาข้อยุติในการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว แต่ไม่ได้ผลด้วยเหตุที่ว่า
-ไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งอาจเนื่องมาจากปิดกิจการไม่ดำเนินธุรกิจแล้ว
-กรณีที่สามารถติดต่อได้แต่ลูกค้าไม่ให้ความร่วมมือในการชำระหนี้หรือหลบหนี โดยมีเจตนาประวิงเวลา หรือมีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางที่ไม่สุจริต มีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน
-ลูกค้าไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของแผนปรับโครงสร้างหนี้ หรือ ปรับโครงสร้างกิจการได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าว บสท. จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการใช้อำนาจพิเศษ โดยการบังคับหลักประกันจากลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาประโยชน์และลดส่วนสูญเสียต่อภาครัฐและผู้เสียภาษีให้มากที่สุด
ทั้งนี้ การใช้อำนาจพิเศษของ บสท. ในการบังคับจำนองหรือจำนำหลักประกันเพื่อจำหน่าย ตามมาตรา 74 แห่งพระราชกำหนด บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2544 อันเนื่องมาจากเหตุผลและความ จำเป็นดังกล่าวข้างต้นนั้น บสท. จะมีหนังสือบอกกล่าวให้ลูกหนี้ ผู้จำนอง ผู้จำนำและผู้ค้ำประกันมีโอกาสที่จะ ชำระหนี้ได้ภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว หากพ้นจากระยะเวลาที่กำหนด บสท. ก็จำเป็นต้องดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน หรือพิทักษ์ทรัพย์ต่อไปแล้วแต่กรณี
สำหรับนโยบายการจัดการสินทรัพย์ที่ได้รับมาจากการบังคับหลักประกันนั้น บสท. มีแนวทางในการดำเนินการตามอำนาจของกฎหมายที่ให้ไว้ 3 แนวทาง คือ
1. ขายทอดตลาด
2. การจำหน่ายโดยวิธีการอื่น ที่เป็นประโยชน์ต่อ บสท. และลูกค้า
3. รับโอนทรัพย์สินไว้ในกรณีที่เห็นว่ายังไม่ควรจำหน่าย หรือเห็นว่าควรนำทรัพย์สินนั้นไปพัฒนา ต่อไป
สำหรับการจำหน่ายโดยวิธีการขายทอดตลาดและ/หรือการจำหน่ายโดยวิธีอื่นนั้น บสท. จะประกาศล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนวันจำหน่าย โดยลงโฆษณาในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และใน หนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วัน
หากบุคคลใดมีข้อต่อสู้เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ บสท. จะจำหน่ายให้ยื่นคำคัดค้าน และชี้แจงเหตุผลในการคัดค้านต่อ บสท.พร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องก่อนวันจำหน่ายทรัพย์สินไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ เพื่อ บสท. จะได้มีการพิจารณาคำคัดค้าน หาก บสท. เห็นว่าคำคัดค้านมีเหตุผลอันสมควรจะให้ชะลอการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไว้ก่อนจนกว่าจะมีการพิสูจน์สิทธิในทรัพย์สินที่จะจำหน่าย หากเห็นว่าไม่มีเหตุผลสมควร บสท. จะยกคำคัดค้าน
เมื่อ บสท. ได้รับชำระเงินจากการจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว บสท. จะหักค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการจำหน่ายทรัพย์สินก่อน หากมีเงินเหลือสุทธิให้ส่งคืนให้แก่ลูกหนี้ ผู้จำนองหรือผู้จำนำ ในกรณีที่เงินที่ได้รับจากการจำหน่ายข้างต้นไม่พอชำระหนี้ และลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะนำมาชำระหนี้ได้อีก หากผู้ค้ำประกันชำระหนี้ส่วนที่เหลือไม่น้อยกว่าสองในสาม หรือในจำนวนที่น้อยกว่านั้นตามที่ บสท. กำหนด บสท. ก็อาจพิจารณาให้ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันรายนั้นหลุดพ้นจากภาระหนี้สินกับ บสท. ได้
อย่างไรก็ตาม บสท. คาดหวังว่า ลูกค้าที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวการชำระหนี้จาก บสท. แล้ว จะเปลี่ยนใจและให้ความร่วมมือในการเข้ามาเจรจาเพื่อหาแนวทางชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว และ บสท. จะ ดำเนินการบังคับและจำหน่ายทรัพย์หลักประกัน รวมทั้งพิทักษ์ทรัพย์ต่อเมื่อไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยวิธีอื่นใด ที่จะลดความเสียหายต่อส่วนรวมได้แล้วเท่านั้น
กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณของ บสท. สามารถยื่นเรื่อง ร้องเรียน พร้อมแสดงหลักฐาน ข้อเท็จจริงและเหตุผลประกอบคำร้องเรียนมาที่ “ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ” ชั้น 22 อาคารเอ็กซิม ถนนพหลโยธิน พญาไท กรุงเทพฯ 10400 หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ บสท. โปรดติดต่อสอบถามมาที่ โทร. 0-2265-5198-99 หรือ Fax 0-0265-5197 หรือติดต่อทาง E-mail : Aree @ tamc.or.th และที่ ตู้ ปณ.50 ปณฝ. สนามเป้า กทม.10406--จบ--
-ศน-

แท็ก รับโอน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ