ศอส. รายงานมีน้ำท่วม 23 จังหวัด เตือน 17 จังหวัดระวังน้ำท่วมฉับพลัน

ข่าวทั่วไป Monday September 26, 2011 13:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--ศอส. ศอส. รายงานมีสถานการณ์อุทกภัยใน 23 จังหวัด พร้อมเตือน 17 จังหวัดระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และ ดินโคลนถล่ม ในช่วงวันที่ 27 — 29 กันยายน 2554 จัดลำดับความสำคัญในพื้นที่ประสบภัยที่จะขอรับการสนับสนุนเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานการประชุมศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 23 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ชัยภูมิ ยโสธร ขอนแก่น อำนาจเจริญ ฉะเชิงเทรา นครนายก และปราจีนบุรี รวม 141 อำเภอ 1,052 ตำบล 8,088 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 583,370 ครัวเรือน 1,927,120 คน ผู้เสียชีวิต 158 ราย สูญหาย 3 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 5,110,327 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บ่อปลา 60,124 ไร่ สัตว์ได้รับผลกระทบ 4,727,694 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ รวม 106 สาย แยกเป็น ทางหลวง 32 สาย ใน 10 จังหวัด ทางหลวงชนบท 74 สาย ใน 20 จังหวัด สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากและระดับน้ำล้นตลิ่ง มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ลุ่มน้ำยม ที่อำเภอสามง่าม อำเภอโพทะเล อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ลุ่มน้ำน่าน ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ลุ่มน้ำป่าสัก อำเภอวังม่วง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี ลุ่มน้ำปราจีนบุรี อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ลุ่มน้ำมูล อำเภอด่านขุนทด อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา อำเภอลำปลายมาศ อำเภอสตึก อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอห้วยทับทัน อำเภอเมือง อำเภอราษีไศล อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ อำเภอตระการพืชผล อำเภอเดชอุดม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ลุ่มน้ำชี ที่อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม อำเภอปัญจาคีรี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม มีน้ำมากคาดว่าน้ำจะล้นตลิ่งภายใน 1-2 วันนี้ อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ลุ่มน้ำท่าจีน ที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 4,254 ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้าพระยาปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,697 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3,213 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ 9 จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวเตือนว่า ในช่วงวันที่ 27 ก.ย. 54 จะมีฝนตกหนักมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและบางส่วนของภาคตะวันออก จึงต้องเฝ้าระวังพื้นที่ 11 จังหวัดเป็นพิเศษ ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ส่วนในวันที่ 28 — 29 ก.ย. 54 จะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนโดยเฉพาะพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย สกลนคร มุกดาหาร บึงกาฬ อุดรธานี และเลย จึงขอให้จังหวัดจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ที่ราบลุ่มและใกล้ทางน้ำไหลผ่านระมัดระวังอันตรายจากภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ติดตามประกาศแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ส่วน คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้นคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือและเรือเล็ก ควรงดออกจากฝั่ง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาผ่านการประชุมทางไกล (VDO Conference) ให้ ศอส. ดำเนินการสรุปการปฏิบัติงานตามนโยบาย 2P2R ในทุกด้าน ได้แก่ Preparation (การเตรียมพร้อม) Response (การเผชิญเหตุ) Recovery (การฟื้นฟู) และ Prevention (การป้องกัน) ทั้งในด้านการประมาณการน้ำ การเตรียมตัวในระยะสั้น การเตรียมการป้องกัน โดยมุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการ One Stop Service ให้สามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งสำรวจความเสียหาย การให้ความช่วยเหลือ และความต้องการการช่วยเหลือของจังหวัดทุกจังหวัดที่ประสบอุทกภัย เพื่อสรุปนำเรียนนายกรัฐมนตรีให้ทราบภายในวันพุธที่ 28 ก.ย. 54 ส่วนแผนระยะยาวให้จัดทำข้อมูลและส่งให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือในลำดับต่อไป อีกทั้งได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ศึกษารายละเอียดของกฎระเบียบเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณมาใช้ในการป้องกันอุทกภัยได้ สำหรับ ในส่วนของ ศอส. ได้สั่งการให้จังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือ สถานการณ์ภัย พร้อมให้จังหวัดจัดลำดับความสำคัญในพื้นที่ประสบภัยที่จะขอรับการสนับสนุน เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ เช่น เต๊นท์ เครื่องสูบน้ำ เรือท้องแบน ส้วมกระดาษ โลชั่นกันยุง เป็นต้น เพื่อสนับสนุนให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ