มหาวิทยาลัยรังสิต มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพนักศึกษาสู่อุตสาหกรรมไอที จับมือกับไอบีเอ็ม เปิด“ศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศทางเทคโนโลยี”

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday September 27, 2011 14:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--ไอบีเอ็ม มหาวิทยาลัยรังสิตร่วมมือกับไอบีเอ็มในการเสริมสร้างความรู้ และพัฒนาความสามารถ ทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน เตรียมความพร้อมรองรับการแข่งขันของไทยก่อนเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เปิด “ศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศทางเทคโนโลยี” หรือ Center of Excellence ศูนย์ผลิตผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับประกาศนียบัตรอย่างเป็นทางการจากไอบีเอ็ม เน้นการเสริมสร้างทักษะของบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของไอบีเอ็ม ด้วยการเรียนการสอนอย่างทันสมัย โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ มุ่งผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานทางด้านไอทีในประเทศไทย รองรับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน ปี 2558 ในปัจจุบัน ปัญหาความท้าทายของการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศประการหนึ่ง คือ การขาดแคลนผู้มีความรู้ ทักษะ ความสามารถทางด้านไอที นอกจากนั้น จำนวนนักศึกษาที่มีคุณภาพจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่ผลิตออกมาในแต่ละปีก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงานและภาคธุรกิจ ด้วยเหตุดังกล่าว ศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายในด้านนี้ ศูนย์ฯ ดังกล่าว นอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพของมหาวิทยาลัยรังสิต ในการผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิตที่มีทักษะสูงและพร้อมทำงานอย่างมืออาชีพแล้ว มหาวิทยาลัยรังสิตยังจะเป็นผู้ดำเนินการจัดหาสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์การเรียนการสอน โดยไอบีเอ็มจะรับหน้าที่จัดหาซอฟต์แวร์ชั้นนำ สื่อการเรียนการสอน การฝึกอบรม การพัฒนาหลักสูตร และการจัดสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรจากไอบีเอ็มเมื่อนักศึกษาจบหลักสูตรฯ ในส่วนของความรู้และทักษะต่าง ๆ นักศึกษาจะได้โอกาสในการฝึกทักษะความรู้ในเทคโนโลยีหลาย ๆ ด้านของไอบีเอ็ม เช่น ระบบปฏิบัติการเอไอเอ็กซ์ (ยูนิกซ์) ซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลหรือดีบีทู (DB2) ซอฟต์แวร์บริหารจัดการระบบเว็บแอพพลิเคชันหรือเว็บสเฟียร์ (WebSphere) และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น คลาว์ดคอมพิวติ้ง การวิเคราะข้อมูลเชิงธุรกิจ (Business Analytics) วิทยาศาสตร์บริการ เป็นต้น ทักษะเหล่านี้ นอกจากจะช่วยให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ความสามารถไปใช้งานได้อย่างเชี่ยวชาญเมื่อสำเร็จการศึกษา แล้ว กระบวนการเรียนรู้ในห้องปฏิบัติการยังจะช่วยให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรง ได้รับความคุ้นเคยในการใช้งานเทคโนโลยีชั้นนำของไอบีเอ็ม และสามารถพัฒนาความรู้และทักษะของตัวเองให้เป็นแรงงานที่มีความสามารถ พร้อมรับกับการแข่งขันทั้งในประเทศและประเทศในกลุ่มอาเซียนได้เป็นอย่างดี ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า “มหาวิทยาลัยรังสิต มีความมุ่งมั่นที่จะผลิตบัณฑิต ให้มีทักษะที่จะออกไปรับใช้สังคม และในโลกกว้าง โดยคาดหวังว่า บัณฑิตที่จบออกไป ได้รับความรู้ที่ทันสมัยตรงตามสาขาที่สนใจศึกษา และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้เป็นอย่างดี “คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ของมหาวิทยาลัยรังสิต ได้ร่วมกับองค์กรเอกชน ทางด้านเทคโนโลยีหลายๆหน่วยงาน เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาเสริมในหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการบุคลากรไอทีได้ตรงกับความต้องการขององค์กรธุรกิจ และอุตสาหกรรม รวมถึงเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านไอทีของคณะ จึงได้ร่วมมือกับไอบีเอ็มในการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีขึ้น ด้วยความมุ่งหวังที่จะผลิตบุคลากรที่มีความรอบรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ มีทักษะการวิเคราะห์ วางแผนและการบริหารจัดการด้านไอทีได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของความร่วมมือระหว่างสององค์กรที่จะมุ่งสร้างมืออาชีพด้านไอทีผ่านนวัตกรรมการเรียนรู้ที่เน้นความร่วมมือกันการปฏิบัติจริง” นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศที่เป็นตลาดที่กำลังเติบโตสำคัญของไอบีเอ็ม โดยไอบีเอ็มได้ให้ความสำคัญในการนำเงินมาลงทุนพัฒนาในหลายอุตสาหกรรม และหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ไอบีเอ็มนำเงินมาลงทุนคือด้านการศึกษา โดยไอบีเอ็มได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำหลายแห่งในโครงการศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศทางเทคโนโลยี (Center of Excellence) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ไอบีเอ็ม อคาเดมิค อินนิชิเอทีฟ” (IBM Academic Initiative) สำหรับประเทศไทย ไอบีเอ็มมีความยินดีป็นอย่างยิ่งที่ได้เปิดศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศทางเทคโนโลยี ร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นสถาบันที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ ที่จะเป็นแหล่งผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านไอทีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้ เราจะเดินหน้าในความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำแห่งอื่น ๆ อีกเพื่อขยายขอบข่ายการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัดเช่นนี้ไปในวงกว้างขึ้น นับเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เปิดกว้างและส่งเสริมให้ผู้เกี่ยวข้องพัฒนานวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป” ดร.ชุณหพงศ์ ไทยอุปถัมภ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยี คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า “คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทเอกชนผู้ผลิตและผู้ให้บริการทางด้านไอทีชั้นนำของโลก อยู่หลายบริษัท และหนึ่งในบริษัทที่มหาวิทยาลัยรังสิตไว้วางใจเลือกเป็นพันธมิตร คือ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เนื่องจากเป็นบริษัทผู้นำทางด้านเทคโนโลยี ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับในทั่วโลก โดยก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยรังสิตและไอบีเอ็มได้ร่วมมือกัน ในโครงการส่งเสริมหลักสูตรวิทยาศาสตร์การบริการ Services Science Management and Engineering —SSME) ซึ่งไอบีเอ็มได้เป็นผู้ริเริ่มนำหลักสูตรนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และได้ผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะความชำนาญเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ” ในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานที่นำมาใช้ในการพัฒนาความรู้ ทักษะให้กับนักศึกษา หนึ่งในเทคโนโลยีจากไอบีเอ็มที่มหาวิทยาลัยรังสิตนำมาใช้ คือ ไอบีเอ็ม เพาเวอร์ ซิสเต็ม (IBM Power Systems ) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเซิร์ฟเวอร์สมรรถนะสูง ที่นำมาใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานในระบบงานสำคัญ ๆ ขององค์กรชั้นนำหลายแห่งทั่วโลก อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการไอบีเอ็ม อคาเดมิค อินิทิเอทีฟ เข้าไปที่ www.ibm.com/academicinitiative สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด จินรี ตัณมณี โทรศัพท์: 02-273-4676 อีเมล: chinnare@th.ibm.com มหาวิทยาลัยรังสิต สิรินภา เจริญแก้วโทรศัพท์ 02 791 5583 อีเมล์: sirinapa@rsu.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ