ประธาน สป. ระบุชัดขัดแย้งน้ำมันเถื่อน "ควรไปร้องเรียนที่ศาลเพราะเป็นประเด็นกฏหมาย"

ข่าวทั่วไป Thursday June 12, 2003 17:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานสภาที่ปรึกษาฯ ยืนยันต่อที่ประชุมสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ สื่อมวลชน และกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจการประมง ที่เดินทาง มายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม กรณีการอายัดทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ป้องกัน ละปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ว่า "กรณีขัดแย้งระหว่าง นายสุนทร หงษ์คู สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ และ พล.ต.ต.ชาลี เภกะนันท์ ผู้การตำรวจน้ำ ถือว่าเป็นเรื่องของตัวบุคคล ขึ้นอยู่กับแต่ละฝ่ายจะดำเนินการอย่างไร ไม่ใช่หน้าที่ความรับผิดชอบของสภาที่ปรึกษาฯ แต่ขณะเดียวกันทางสภาก็พร้อมจะจับตามองผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นพิเศษ แต่ไม่มีการพิจารณาใดๆ"โดยในวันนี้ (12 มิถุนายน 2546) กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจประมง จ.สมุทรสาคร และ จ.สมุทรปราการ ได้เดินทางมายังสภาที่ปรึกษาฯ เพื่อยื่นจดหมายต่อนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ในเรื่อง "ขอความเป็นธรรม และขอให้พิจารณาหามาตราการแก้ไขปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ" ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาจากการรายงานของกลุ่มสื่อมวลชนกรณีความขัดแย้งระหว่างนายสุนทร หงษ์คู สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ และพล.ต.ต.ชาลี เภกะนันท์ ผู้การตำรวจน้ำ โดยในเนื้อหาของข้อร้องเรียนสามารถสรุปพอสังเขปดังนี้;
"กลุ่มผู้ประกอบกิจการประมง จ.สมุทรสาคร และ จ.สมุทรปราการ ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และประสบปัญหาเดือดร้อน จากกแารที่คณะกรรมการธุรกรรม ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ได้มีคำสั่งที่ ย.81/2545 ให้ยับยั้งการทำธุรกรรมทางการเงินทุกประเภท ให้สถาบันการเงินทำการตรวจสอบการทำธุรกรรม และ/หรือบัญชีเงินฝากทุกชนิด ทุกประเภท ระหว่างปี พ.ศ.2540-ปัจจุบัน ซึ่งเมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าว ได้มีคำสั่งยับยั้งการทำธุรกรรม จากนั้นพนักงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจน้ำ ได้มีคำสั่งให้ผู้บังคับการตำรวจน้ำให้ยึด หรืออายัดเงินฝาก และทรัพย์สินอื่นๆ ของพวกผู้ประกอบธุรกิจไว้ นับตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2545 ซึ่งนับเป็นเวลา 10 เดือน แต่ยังไม่มีการพิจารณาดำเนินคดีเพื่อส่งฟ้องต่อศาลตามกฏหมายแต่อย่างใด ซึ่งการกระทำของพนักงานสอบสวน และคณะกรรมการธุรกรรม ทำให้กลุ่มธุรกิจเดือดร้อน ชื่อเสียงเสียหาย ไม่มีเงินหมุนเวียนในการทำธุรกิจ ไม่สามารถเปิดบัญชีสินเชื่อ ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้กลุ่มธุรกิจต้องยื่นจดหมายร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมต่อประธานสภาที่ปรึกษาฯ"
โดยภายหลังจากที่ประธานสภาที่ปรึกษาฯ รับทราบเรื่องดังกล่าวจากกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจแล้ว ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีของนายสุนทร หงษ์คู นี้ ถือว่าไม่เกี่ยวกับกิจการของสภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งในขณะนี้ทางสภาที่ปรึกษาฯ ยังไม่มีความเห็นว่าฝ่ายใดถูกต้อง หรือฝ่ายใดผิด ถ้าหากทางกลุ่มธุรกิจต้องการจะร้องเรียนหรือขอความเป็นธรรม ควรเดินทางไปร้องเรียนที่ศาลเพราะเป็นประเด็นกฏหมาย
"เมื่อครู่นี้ได้มีกลุ่มทำธุรกิจเกี่ยวกับการประมง มายื่นหนังสือมอบให้ผมในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาฯ เรื่อง ขอความเป็นธรรม และขอให้พิจารณาหามาตรการการแก้ไขปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ทำธุรกิจประมงถูก ปปง. อายัดทรัพย์และยับยั้งการกระทำธุรกรรมทางการเงินทุกประเภท ในเรื่องนี้ขอเรียนว่า สภาที่ปรึกษาฯแห่งนี้ไม่มีหน้าที่แก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง มันเป็นเรื่องของตัวบทกฎหมาย การตีความ และเจ้าหน้าที่ของรัฐบังคับให้กฎหมาย และมีหลายหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ จึงจะขอมอบให้ รศช.พรรณราย รับเรื่องนี้ไป ในเรื่องนี้ ขอให้คำนึงว่าเป็นเรื่องของสภาที่ปรึกษาฯหรือไม่?เป็นเรื่องการตอบโต้กันไปมาระหว่างตัวบุคคลในขณะที่ยังไม่มีการฟ้องร้อง ยังไม่มีการดำเนินการ ก็ถือเป็นเรื่องส่วนตัว และถ้าหากเรื่องมีการฟ้องร้อง และดำเนินการ ผู้ถูกกล่าวหาอยู่ในฐานะสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ เมื่อนั้นสภาที่ปรึกษาฯ ก็จะต้องกลับมาพิจารณาว่าเป็นของสภาที่ปรึกษาฯ" นายอานันท์ ปันยารชุน กล่าว
นอกจากนั้น ประธานสภาที่ปรึกษาฯ ยังได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ต่อไปว่า "เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นมา มีการกล่าวหาสมาชิกของสภาที่ปรึกษาฯ เราก็จะต้องมีการจับตามองเป็นพิเศษ แต่ก็ยังไม่มีการพิจารณาใดๆ จนกว่าจะถึงเวลาที่สภาที่ปรึกษาฯ จะมองเห็นว่าเป็นเรื่องของสภาหรือยัง แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา และยังถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว"
หลังจากนั้น นายสุนทร หงษ์คู สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ได้ขอกล่าวในที่ประชุมมีใจความว่า "ปัจจุบันผมทำน้ำมันเขียว 15 ไมล์ทะเล เพื่อบริการเติมน้ำมันสำหรับเรือประมงขนาดกลางที่ไปทำประมงน้ำลึกอยู่หลายสิบไมล์ของน่านน้ำ ซึ่งต้องเติมน้ำมันนอกราชอาณาจักร ทำให้มักถูกข้อหาว่าค้าน้ำมันเถื่อน แต่จริงๆ การทำธุรกิจน้ำมันเขียวเกิน 24 ไมล์ทะเล ถือว่าถูกกฎหมาย ผมได้สัมปทานทานน้ำมันเขียวอย่างถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องค้าน้ำมันเถื่อน ผมยืนยันว่าไม่ได้ทำธุรกิจค้าน้ำมันเถื่อนอย่างเด็ดขาด"
ส่วนนายวันชัย แสงสุขเอี่ยม สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ และนักธุรกิจอุตสาหกรรมการประมงได้ชี้แจงว่า "ปัจจุบันนี้การค้าน้ำมันเถื่อนหมดหลายปีแล้ว เพราะรัฐบาลมีนโยบายน้ำมันเขียว ไม่ต้องเสียค่านำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งรัฐบาลอุดหนุนให้กับประมงขนาดเล็ก เมื่อก่อนธุรกิจน้ำมันเถื่อนเกิดขึ้นเพราะประมงพม่า ทำให้ต้องมีการจัดหาน้ำมันให้กับชาวประมง ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำมันเขียวมีเพียงพอกับความต้องการของกลุ่มประมง ส่วนการค้าขายนอกเขตที่ไม่ใช่ประเทศไทย ก็ต้องถือว่าไม่เกี่ยวกับทางการ ส่วนเรือค้าน้ำมัน "เพลย์บอย" ที่ถูกจับกุมนั้นเป็นที่รู้กันในวงการประมง ว่าเป็นเรือของนักธุรกิจสิงคโปร์"--จบ--
-รก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ