โครงการลด เหลื่อม ล้ำ ลงพื้นที่ชุมชน 96 แห่งใน กทม. สำรวจความต้องการ แก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ข่าวทั่วไป Friday September 30, 2011 15:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย 25 แห่ง เดินหน้า โครงการลด เหลื่อม ล้ำ ลงพื้นที่วิจัยชุมชน 96 แห่ง ทั่วกรุงเทพมหานคร สำรวจความคิดเห็นและความต้องการของคนในชุมชน เพื่อจัดทำโครงการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาและแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคม นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับนิด้า จัดทำ โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคมในเขตกรุงเทพมหานคร หรือ โครงการลด เหลื่อม ล้ำ เพื่อทำให้กรุงเทพเป็นเมืองที่น่าอยู่ โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยจำนวน 25 แห่ง สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย ร่วมทำงานวิจัย ซึ่งได้มีการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ การดำเนินโครงการมีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ โดยล่าสุดทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทั้ง 25 แห่ง ได้ลงพื้นที่ในชุมชน 96 แห่ง เพื่อประเมินความคิดเห็นเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม รับทราบความเป็นอยู่ ความพึงพอใจต่อคุณภาพชีวิต รวมทั้งมีการจัดประชุมระดมความคิดเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเพื่อการปรองดองในชุมชน ความต้องการของชุมชน รวมไปถึงการพัฒนาชุมชนในอนาคต และร่วมเสนอกิจกรรมที่ต้องการให้เกิดการพัฒนา ทั้งกิจกรรมที่ชุมชนสามารถทำได้เอง กิจกรรมที่ชุมชนทำร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานอื่นๆ และกิจกรรมที่ขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ และหน่วยงานอื่นๆ “การสำรวจชุมชนนำร่องทั้ง 96 ชุมชนจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ โดยกรุงเทพมหานครจะมีเงินสนับสนุนให้ชุมชนละ 150,000 บาท ซึ่งได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบการวิจัยในแต่ละเขตเป็นผู้ช่วยดูแลการใช้จ่ายงบประมาณ และติดตามผล ทั้งนี้ชุมชนแต่ละแห่งอาจจะทำได้มากกว่า 1 โครงการ โดยเงินจะไปถึงประมาณเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งทางกรุงเทพมหานครหวังว่าชุมชนนำร่องเหล่านี้จะเป็นแนวทางให้กับการวางแผนแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในชุมชนอื่นๆ ต่อไป เพื่อนำไปสู่ความปรองดองและทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างแท้จริง” นางทยา กล่าว ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า โครงการนี้นับเป็นอีกบทบาทหนึ่งของมหาวิทยาลัยในการให้บริการชุมชน และการที่โครงการได้เชิญเครือข่ายสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน มาร่วมด้วย ก็นับว่าเป็นการบูรณาการร่วมกันของหลายๆ ฝ่าย ทำให้ได้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่ มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน การลงพื้นที่ทำให้เรารับรู้สถานการณ์ของชุมชนในปัจจุบัน และรู้ว่าชุมชนคาดหวังอะไรในอีก 2-3 ปีข้างหน้า อะไรคือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ชุมชนเป็นไปตามที่คาดหวัง และโครงการอะไรที่ชุมชนอยากพัฒนาเร่งด่วน บางแห่งอาจจะต้องการพัฒนาด้านการศึกษา แต่บางแห่งอาจจะต้องการเทคโนโลยี หรือต้องการอาชีพ อนึ่ง โครงการ ลด เหลื่อม ล้ำ จะดำเนินการสำรวจความเหลื่อมล้ำทางสังคมใน 6 ประเด็น คือ 1) การเข้าถึงระบบการศึกษาและการพัฒนาเยาวชน 2) การพัฒนาด้านกายภาพของชุมชน 3) การแก้ไขปัญหาความยากจน และสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน 4) การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมโดยอำนาจรัฐ 5) การเข้าถึงทรัพยากรของรัฐ 6) การแสดงความคิดเห็น โดยเริ่มจากการวิจัยเชิงคุณภาพเป็นลำดับแรก หลังจากนั้นจะทำวิจัยเชิงปริมาณ โดยแบ่งประชากรเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มนำร่อง 96 ชุมชน กลุ่มที่สอง ชุมชนที่จดทะเบียนในกรุงเทพมหานคร ประมาณ 2 ล้านคน กลุ่มสุดท้าย ชุมชนที่ไม่ได้จดทะเบียนกับกรุงเทพมหานคร ประมาณ 3 ล้านคน เริ่มเก็บข้อมูลปลายกันยายน — ต้นตุลาคม 2554 หลังจากเงินสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครลงมาถึงชุมชนแล้ว ประมาณเดือนพฤศจิกายน จะเก็บข้อมูลอีกครั้ง เพื่อนำผลสำรวจมาสนับสนุนการสำรวจเชิงคุณภาพ ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ อุษณีย์ ถาวรกาญจน์ Email: usanee@incom.co.th วันวิสาข์ วสุกาญจน์ Email: wanwisa@incom.co.th จิรสุดา จิตรากรณ์ Email: jeerasuda@incom.co.th บริษัท อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด โทร. 0 2354 3588 www.incom.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ