ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิต “กรุงเทพมหานคร” ที่ระดับ “AA+” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 30, 2011 19:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตของกรุงเทพมหานครที่ระดับ “AA+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานภาพของเขตกรุงเทพมหานครในฐานะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2554 อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงแหล่งรายได้ที่แน่นอนจากภาษีอากร รวมทั้งการบริหารงบประมาณที่มีประสิทธิภาพภายใต้นโยบายงบประมาณแบบสมดุล และฐานะการเงินที่แข็งแกร่งจากการมีภาระหนี้สินที่ต่ำและการดำรงเงินสะสมในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวลดทอนลงจากความต้องการในการลงทุนเป็นอย่างมากในโครงการด้านสาธารณูปโภคและระบบขนส่งมวลชน ตลอดจนภาระทางการเงินที่อาจเพิ่มขึ้นจากการถ่ายโอนภารกิจจากรัฐบาลกลางให้แก่กรุงเทพมหานครภายใต้นโยบายการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในขณะที่กรุงเทพมหานครมีข้อจำกัดในการจัดหาแหล่งรายได้เพิ่ม นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ การนำเสนองบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบภายในกรอบเวลาที่เหมาะสม และการบริหารจัดการหนี้สินและการลงทุนให้มีความสอดคล้องกับระดับรายได้ รวมถึงการพัฒนากรอบวินัยในการบริหารหนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการมีแหล่งรายได้ที่แน่นอนและนโยบายการบริหารงบประมาณแบบสมดุลของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ากรุงเทพมหานครจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางอย่างต่อเนื่องตลอดไป อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครจะต้องรักษาวินัยทางการเงินเพื่อให้สามารถบริหารงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพและคงความแข็งแกร่งทางการเงินให้อยู่ในระดับสูง รวมถึงการลงทุนและการก่อหนี้ในอนาคตจะต้องได้รับการศึกษาและวางแผนอย่างรอบคอบให้เหมาะสมกับระดับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของกรุงเทพมหานคร ทริสเรทติ้งรายงานว่า กรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่บริหารราชการและบริหารจัดการกิจการสาธารณูปโภคเพื่อให้บริการแก่ผู้อยู่อาศัยและผู้ประกอบกิจการในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศ ในปี 2553 กรุงเทพมหานครมีผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด (Gross Provincial Product — GPP) สูงที่สุดในประเทศ ด้วยมูลค่า 2.51 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product — GDP) ในด้านการเงินการคลังนั้น กรุงเทพมหานครมีรายได้หลักโดยประมาณ 90%-95% มาจากภาษีอากรทั้งที่เป็นภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเอง (20%) และส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ (70%-75%) ภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองกว่า 90% มาจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน ในขณะที่ภาษีที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ประมาณครึ่งหนึ่งมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยภาษีหรือค่าธรรมเนียมรถยนต์ และภาษีหรือค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมีสัดส่วนเฉลี่ยอย่างละประมาณ 19%-20% อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีหรือค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อรายได้ทั้งหมดในระหว่างปีงบประมาณ 2552-2553 มีสัดส่วนลดลงสู่ระดับประมาณ 10% เนื่องจากมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยการลดภาษี/ค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ทั้งนี้ ภาษีอากรนับว่าเป็นแหล่งรายได้ที่มีความแน่นอนสูงแม้จะมีความผันผวนอยู่บ้างตามภาวะเศรษฐกิจ ทริสเรทติ้งกล่าวว่า แม้ว่าในปีงบประมาณ 2553 จะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศบางส่วน แต่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็ฟื้นตัวอย่างมาก ทำให้กรุงเทพมหานครได้รับจัดสรรภาษีจากรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น โดยกรุงเทพมหานครจัดเก็บรายได้คิดเป็น 113% ของประมาณการรายได้รวมจำนวน 41,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 20% จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาษีที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้เพิ่มขึ้นกว่า 23% ในช่วงเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2553 กรุงเทพมหานครมีงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมและมีค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 การขยายตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมส่งผลให้การจัดเก็บภาษีรายได้ปรับตัวสูงขึ้น 18% จากช่วงเดียวกันในปีงบประมาณ 2553 ส่งผลให้กรุงเทพมหานครยังคงมีสภาพคล่องที่สูง อีกทั้งมีภาระหนี้สินคงอยู่ในระดับต่ำและมีเงินสดสะสมในระดับสูง จึงทำให้ฐานะทางการเงินของกรุงเทพมหานครยังคงมีความแข็งแกร่ง แม้ในเขตกรุงเทพมหานครจะมีระดับการพัฒนาที่ก้าวหน้ากว่าท้องถิ่นอื่น แต่ก็ยังคงมีความต้องการในการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการของประชากรจำนวนมาก รวมทั้งเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจและการลงทุนในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ กิจการสาธารณูปโภคต่าง ๆ มีทั้งที่กรุงเทพมหานครริเริ่มดำเนินการเองและที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจมาจากรัฐบาลภายใต้นโยบายการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้กรุงเทพมหานครมีความต้องการเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายผูกพันในอนาคตจำนวนมาก ถึงแม้กรุงเทพมหานครจะได้รับเงินอุดหนุนรายปีจากรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการต่าง ๆ เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็อาจไม่เพียงพอ อีกทั้งกรุงเทพมหานครยังมีแผนการลงทุนในโครงการระบบขนส่งมวลชนที่ต้องการเงินลงทุนสูง กรุงเทพมหานครจึงได้ลงทุนผ่าน บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่กรุงเทพมหานครจัดตั้งขึ้น โดยกรุงเทพมหานครได้ทำสัญญาจ้างระยะยาวกับบริษัทกรุงเทพธนาคมเพื่อใช้เป็นหลักประกันในการจัดหาเงินกู้ในการดำเนินโครงการนั้น ๆ ซึ่งเงื่อนไขของเงินกู้จะสอดคล้องกับการจ่ายเงินของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ภาระหนี้ที่เกิดขึ้นนั้นทริสเรทติ้งจะพิจารณารวมเป็นภาระหนี้ของกรุงเทพมหานครด้วยเช่นกัน กรุงเทพมหานคร (BMA) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ AA+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ