ภาพข่าวพุทธ-มุสลิม เรียนรู้ความต่างสารทไทย-ฮารีรายอ มรภ.สงขลา

ข่าวทั่วไป Tuesday October 4, 2011 12:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม ถือเป็นพื้นฐานทางธรรมชาติของสังคมมนุษย์ แต่นั่นมิใช่ปัจจัยที่จะก่อให้เกิดเส้นแบ่งที่จะนำไปสู่ความแตกแยก เพราะในมุมมองของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ความหลากหลายดังกล่าว นำไปสู่การยอมรับในความแตกต่าง และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เมื่อไม่นานมานี้ ตัวแทนนักศึกษาทั้ง 7 คณะ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้เข้าร่วมกิจกรรมวันสารทไทยและวันฮารีรายอ ซึ่งกองพัฒนานักศึกษา จัดให้มีการแข่งขันจัดหฺมฺรับ (การจัดสำรับอาหารเพื่อทำบุญในเทศกาลเดือนสิบ) การแข่งขันทำแกงกะทิ และ การแข่งขันทำขนมต้ม โดยคาดหวังว่ากิจกรรมดังกล่าว จะทำให้นักศึกษาที่นับถือศาสนาแตกต่างกัน ได้มีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมของอีกฝ่าย ศรันย์ เทพทวี นักศึกษาปีที่ 3 โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้าอุตสาหกรรม นายกสโมสรนักศึกษาคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา กล่าวว่า ตนและเพื่อนๆ อีก 8 คน ซึ่งมีทั้งนักศึกษาไทยพุทธและไทยมุสลิม ได้เข้าร่วมการแข่งขันในทุกประเภท แม้ทีมของตนจะเป็นผู้ชายทั้งหมด แต่ก็ไม่คิดว่าเสียเปรียบทีมอื่นๆ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าผลแพ้ชนะคือ ความรัก ความผูกพัน ของเพื่อนๆ ในทีม “ผมและเพื่อนๆ รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกันของชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมแล้ว ยังฝึกนิสัยการทำงานเป็นทีม ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเราทุกคนไม่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดหฺมฺรับ การทำแกงกะทิ และการทำขนมต้มเลย แต่ก่อนวันแข่งขันพวกเราได้ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ที่ชุมชนสำโรง จังหวัดสงขลา ซึ่งเปรียบได้กับปราชญ์ชาวบ้าน และได้ถ่ายทอดกรรมวิธีในการทำอย่างไม่หวงวิชา ทำให้ผมและเพื่อนๆ ได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของชาวใต้ และความเป็นอยู่ของคนสมัยก่อน” ด้าน นูรีดา อาบูนีเปาะ นักศึกษาปีที่ 3 โปรแกรมวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา กล่าวถึงการทำขนมต้มว่า เป็นขนมที่ชาวไทยมุสลิมจะทำก่อนวันฮารีรายอ 1 วัน ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวไทยมุสลิมทำติดต่อกันมานาน แต่ก็ทราบจากเพื่อนๆ ว่าชาวไทยพุทธจะทำขนมต้มในช่วงวันสารทเดือนสิบ ซึ่งแม้จะใช้ในโอกาสที่แตกต่างกัน แต่ก็มีความสำคัญทางศาสนา และบ่งบอกถึงวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม ซึ่งสามารถเผยแพร่ให้คนในภูมิภาคอื่นๆ ได้เข้าใจถึงวิถีชีวิตของชาวใต้ ในขณะที่ จิรภา สุวรรณวงศ์ อรัญชนา หาบยูโซะ และลัดดาวัลย์ อินทสระ นักศึกษาปีที่ 4 โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ซึ่งเข้าแข่งขันทำแกงกะทิกุ้ง กล่าวว่า แกงกะทิกุ้งเป็นแกงที่ใช้ในวันทำบุญวันสารทเดือนสิบ โดยจะรับประทานร่วมกับขนมต้ม แต่แกงกะทิกุ้งที่ทีมของตนนำมาแข่งขันในครั้งนี้ มีการมาประยุกต์ด้วยการใส่ฟักทองเข้าไป เพื่อให้ได้รสชาติที่อร่อยยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นภาคใต้เอาไว้ สำหรับผลการแข่งขันแต่ละประเภท ปรากฏว่า คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ชนะเลิศทำขนมต้มส่วนคณะเทคโนโลยีการเกษตร ชนะเลิศทำแกงกะทิกุ้ง และ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชนะเลิศแข่งขันจัดหมฺรับ ได้ทั้งความภูมิใจ และการเรียนรู้นอกบทเรียน ในรูปแบบของวิชาที่ว่าด้วยการอยู่ร่วมกัน บนพื้นฐานความแตกต่างของคนในสังคม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ