“ตำบลบุพราหมณ์” ชุมชนปลอดขยะ สสส.หนุนสร้าง “ชุมชนน่าอยู่” คู่ป่ามรดกโลก

ข่าวทั่วไป Tuesday October 4, 2011 13:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี “การไม่มีที่ทำกิน ก็ไม่ต่างจากคนไม่มีหัวนอนปลายเท้า แต่ชาวทับลานยืนยันว่าแผ่นดินนี้คือบ้านที่บรรพบุรุษเข้ามาพักพิงและบุกเบิกไว้ให้ลูกหลานนานกว่าร้อยปีแล้ว เราจึงต้องดูแลบ้านให้อบอุ่นน่าอยู่และร่วมกันอนุรักษ์ป่าลาน สัญลักษณ์แห่งผืนป่ามรดกโลกให้คงอยู่สืบไป” นี่คือเสียงสะท้อนจากชาวตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ที่ต่างเข้าใจและยอมรับสภาพปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ที่ทับซ้อนอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทำให้ประชากรกว่า 1,860 ครัวเรือน ไม่มีเอกสารสิทธิ์การครอบครองที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือ คนในชุมชนรู้สึกขาดความมั่นคงในชีวิต ขาดจิตสำนึกรักษ์ถิ่นฐาน เกิดการละทิ้งบ้านเกิดและอาชีพเกษตรกรรมดั้งเดิม หันไปใช้แรงงานในเขตเมือง เกิดปัญหาลูกโซ่ทั้งครอบครัวแตกแยก หนี้สิน และการจบสิ้นของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาช้านาน สภาองค์การชุมชนตำบลบุพราหมณ์ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของแกนนำ 10 หมู่บ้าน เพื่อจัดทำแผนงานบริหารชุมชน ได้เล็งเห็นว่า ปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ไม่สำคัญเท่าปัญหาที่สมาชิกของชุมชนขาดจิตสำนึกรักบ้านเกิด เพราะถิ่นที่อยู่อาศัยแห่งนี้เต็มไปด้วย “ต้นลาน” ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติแห่งผืนป่ามรดกโลกที่ต้องช่วยกันรักษาไว้ จึงได้จัดทำโครงการ “บ้านน่าอยู่ ครอบครัวอบอุ่น อาหารปลอดภัย” เพื่อปลูกจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการรู้รักสามัคคีให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยใช้ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของชุมชน เป็นเครื่องมือกระตุ้นให้สมาชิกได้เข้ามามีส่วนร่วม แสดงถึงพลังรักท้องถิ่นที่สามารถมองเห็นเป็นรูปธรรม โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายอำนวย โพธิ์แก้ว ประธานสภาองค์การชุมชนตำบลบุพราหมณ์ หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า ตำบลบุพราหมณ์ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบเชิงเขาในพื้นที่เขตอุทยาน 2 แห่งอันเป็นเขตผืนป่ามรดกโลก ซึ่งเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรและความงดงามของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แต่คนในพื้นที่ซึ่งเกิด อาศัย และทำมาหากินอยู่ที่แห่งนี้กลับมีแต่ทุกขภาวะ ครอบครัวและชุมชนขาดความน่าอยู่ การจัดทำแผนแก้ไขปัญหาโดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางโดยปรับให้สอดคล้องกับวิถีชุมชน จึงเป็นหนทางที่จะทำให้ชาวตำบลบุพราหมณ์ทุกคนกลับมามีสุขภาวะที่ดีอีกครั้ง “เราใช้โอกาสจากการที่ชุมชนตั้งอยู่ในเขตผืนป่ามรดกโลก และมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่หลายแห่ง อาทิ น้ำตกเหวนกกก อ่างเก็บน้ำทับลาน น้ำตกห้วยใหญ่ ฯลฯ มากำหนดเป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของชุมชน โดยใช้โฮมสเตย์เป็นจุดขาย ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชม นำมาซึ่งรายได้ที่จะกระจายสู่ทุกอาชีพอย่างทั่วถึง โดยสมาชิกที่จะเข้าร่วมในแผนยุทธศาสตร์จะต้องปฏิบัติตามกติกาของโครงการฯ ที่กำหนดไว้ จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ จากสภาองค์การชุมชนฯ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เกิด เติบโต เจ็บป่วย จนถึงเสียชีวิต” นายอำนวยกล่าว โครงการบ้านน่าอยู่ ครอบครัวอบอุ่น อาหารปลอดภัย มีกฎกติกาที่จะทำให้สมาชิกทุกครัวเรือนในตำบลฯ ได้เตรียมตนเองให้มีความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวในฐานะโฮมสเตย์ ตามแนวคิด “การเรียนรู้การอยู่ร่วมกันตามวิถีชีวิตที่เรียบง่ายภายใต้บริบทของชุมชน” โดยเจ้าของโฮมสเตย์ที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติเป็นอันดับแรก นายสำราญ ทศพร เจ้าของโฮมสเตย์ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านทับลาน ตำบลบุพราหมณ์ ที่เข้าร่วมโครงการฯ อธิบายว่า เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาพักอาศัยและร่วมเรียนรู้วิถีชีวิต เจ้าของบ้านก็ต้องปฏิบัติตนเป็นต้นแบบที่ดี โดยโครงการฯ ได้กำหนดว่า แขกที่เข้าพักจะต้องได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยไร้สารพิษ มีลูกหลานช่วยดูแลอำนวยความสะดวกด้วยใจบริสุทธิ์ ยิ้มแย้มแจ่มใส สถานที่จะต้องสะอาด น่าอยู่และปลอดภัย สามารถบอกเล่าถึงเรื่องราวสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่นได้อย่างถูกต้องไม่บิดเบือน “การจะทำตามกติกาของโครงการฯ ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน ด้วยการพูดคุยกับคนรอบข้างด้วยภาษาดอกไม้ ออกกำลังกายด้วยการปัดกวาดเช็ดถูกบ้านให้สะอาด ปลูกผักปลอดสารพิษและปรุงอาหารกินเองในครอบครัว สิ่งเหล่านี้จะทำให้เจ้าของบ้านมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สุขภาพจิตแจ่มใส เมื่อเจ้าบ้านเป็นแบบอย่างที่ดี ก็ช่วยให้นักท่องเที่ยวเกิดการเรียนรู้และนำไปปฏิบัติตามได้ และเรื่องสำคัญที่ละเลยไม่ได้คือการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เมื่อมีนักท่องเที่ยวก็ย่อมมีทั้งขยะเศษอาหาร และขยะที่ย่อยสลายได้ยากอย่างขวดและถุงพลาสติก” นายสำราญอธิบาย ที่กำจัดขยะ ที่เกิดจากการร่วมคิดของชาวบุพราหมณ์ มีลักษณะเป็นถังคอนกรีตซึ่งใช้เงินลงทุนไม่ถึง 1000 บาท สามารถกำจัดขยะเปียกได้ด้วยการหมักกับน้ำชีวภาพเพื่อให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดิน และสามารถย่อยสลายขวดและถุงพลาสติกได้ด้วยการเผาโดยไม่เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม นางสองเมือง พรมภูผา สมาชิกโครงการฯ บ้านวังหิน ตำบลบุพราหมณ์ เล่าว่า การกำจัดขยะที่สภาองค์การชุมชนฯ ได้ถ่ายทอดให้ ทำให้ตนและสมาชิกในบ้านเกิดการเรียนรู้และคิดสร้างสรรค์ เช่น การคัดแยกขยะด้วยตนเอง นอกจากจะทำให้บ้านน่าอยู่น่ามอง ลดการสร้างมลภาวะให้แก่ชุมชน ยังเป็นการสร้างรายได้จากการนำขยะมาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการประดิษฐ์เป็นงานฝีมือและของใช้ภายในบ้าน “เศษขยะที่ถูกทิ้งไว้ในที่สาธารณะจะถูกหมักหมมส่งกลิ่นเน่าเหม็น สร้างความรำคาญให้คนที่พบเห็น หากทิ้งอยู่ใกล้ลำคลองเศษขยะก็จะไหลไปตามน้ำยามฝนตก คนทับลานทุกคนจึงต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบเศษขยะที่เกิดขึ้นในชุมชน อย่างเศษผ้านวมหรือที่นอนถือเป็นขยะชิ้นใหญ่ที่มีมูลค่ามาก เพราะสามารถนำเส้นใยสังเคราะห์ด้านในออกมาซักล้างให้สะอาดแล้วนำไปทำเป็นหมอนใบใหม่สำหรับใช้ในครอบครัวและรับแขกที่จะมาพักโฮมสเตย์ได้” นางสองเมืองกล่าว กิจกรรมต่างๆ ภายใต้การดำเนินงานของโครงการฯ เป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้ที่จะทำให้ชาวตำบลบุพราหมณ์ เกิดความรักความหวงแหนท้องถิ่นและจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมที่เข้มแข็งขึ้นได้ โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่ตัวเองและครอบครัว เพราะเมื่อชุมชน สามารถแสดงจุดยืนความรับผิดชอบต่อท้องถิ่นของตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เอกสารแสดงสิทธิครอบครองใดๆ ก็คงไม่สำคัญอีกต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ