(ต่อ2) ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ประจำวันที่ 30 กันยายน 2546

ข่าวทั่วไป Wednesday October 1, 2003 16:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--ศูนย์ปชส. กระทรวงคมนาคม
3. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับการลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชน
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับการลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ สรุปได้ดังนี้
1. ผลการดำเนินการ
1.1 ก.พ.ร. ได้กำหนดแนวทางดำเนินการเพื่อให้บังเกิดผลสำเร็จตามมติคณะรัฐมนตรี โดยในช่วงแรกให้ส่วนราชการจัดทำข้อเสนอในการลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชน สำหรับกระบวนการที่มีความสำคัญ 3 - 5 กระบวนงาน แล้วจะขยายผลให้ครอบคลุมในทุกกระบวนงานในปี พ.ศ. 2550 พร้อมกับให้ส่วนราชการรายงานผลการสำรวจกระบวนงานที่มีความเชื่อมโยงกันหลายส่วนราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อที่จะได้รับทราบปัญหาและดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในโอกาสต่อไป
1.2 ส่วนราชการ จำนวน 204 ส่วนราชการ ได้แจ้งผลการดำเนินการเพื่อขอลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการ จำนวน 156 ส่วนราชการ 617 กระบวนงาน สำหรับส่วนราชการที่ยังไม่ได้แจ้งผลการดำเนินการเป็นส่วนราชการที่ตั้งใหม่ เนื่องจากยังไม่มีความพร้อม และเป็นส่วนราชการที่ไม่มีงานบริการประชาชนโดยตรง
1.3 ข้อเสนอในการลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนมีลักษณะ ดังนี้
1) กระบวนงานที่ส่วนราชการเสนอส่วนใหญ่ (ร้อยละ 42) ไม่สามารถลดขั้นตอนลงได้จากเดิมเนื่องจากเป็นกระบวนงานที่มีขั้นตอนการดำเนินงานเพียง 1 หรือ 2 ขั้นตอนอยู่แล้ว หรือเป็นขั้นตอนที่กฎหมาย ระเบียบกำหนดไว้ชัดเจนแล้ว อย่างไรก็ตาม ส่วนราชการส่วนใหญ่ (ร้อยละ 49) สามารถลดระยะเวลาลงได้ร้อยละ 30 - 50 นอกจากนี้ยังมีบางส่วนราชการ (ร้อยละ 29) สามารถลดระยะเวลาลงได้มากกว่าร้อยละ 50 อีกด้วย
2) ส่วนราชการบางแห่งได้ส่งข้อเสนอการลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการที่มีลักษณะโดดเด่น โดยสามารถลดขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการลงได้มาก รวมทั้งจัดระบบการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมีทางเลือกในการเข้ารับบริการได้หลายทาง เข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการได้ง่าย ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายลงได้มาก ซึ่งจะได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบต่อไป
2. การดำเนินการต่อไป
2.1 ติดตามและประเมินผล โดยดำเนินการจัดให้มีองค์กรหรือสถาบันการศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการประเมินผล โดยประเมินผลเกี่ยวกับคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการและการปฏิบัติงานที่เป็นจริงของส่วนราชการ ให้รางวัลและประกาศเกียรติคุณแก่ข้าราชการและส่วนราชการที่มีผลการประเมินอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดสร้างต้นแบบการบริการที่เป็นเลิศ (Best Practices) เพื่อเป็นแบบอย่างกับส่วนราชการอื่น ๆ ต่อไป ติดตาม ตรวจสอบให้ส่วนราชการประกาศแผนผัง ขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจน
2.2 ให้คำปรึกษาแนะนำและช่วยเหลือส่วนราชการที่ยังมีขั้นตอนและระยะเวลาปฏิบัติราชการมากเกินความจำเป็น ให้ลดขั้นตอนและระยะเวลาลงจากเดิมเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น
2.3 เร่งรัดให้ส่วนราชการต่าง ๆ พิจารณาและดำเนินการคัดเลือกกระบวนงานเพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนในปี พ.ศ. 2547 โดยมีเป้าหมายให้ทุกส่วนราชการต้องดำเนินการให้ครอบคลุมทุกกระบวนงานในปี พ.ศ. 2550 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2546 -พ.ศ. 2550)
2.4 ให้ความสำคัญกับกระบวนงานที่มีความเชื่อมโยงการปฏิบัติงานหลายส่วนราชการ โดยเฉพาะกระบวนงานที่มีปัญหาที่ทางรัฐบาล ภาคธุรกิจเอกชน และสื่อมวลชนให้ความสนใจ โดยศึกษาวิเคราะห์จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน พร้อมกับจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษา กำหนดขั้นตอน และระยะเวลาการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนของแต่ละส่วนราชการให้มีความชัดเจนและจัดระบบการบริการแบบเบ็ดเสร็จให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็วต่อไป
2.5 พัฒนาคุณภาพมาตรฐานการบริการ โดยให้ส่วนราชการจัดระบบวิธีการบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยให้ประชาชนมีทางเลือกในการเข้ารับบริการได้หลาย ๆ ทาง และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการได้โดยง่าย ทั้งนี้ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
2.6 จัดระบบการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการบริการให้มีประสิทธิภาพ เป็นที่พึ่งและสามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างจริงจัง
3. ข้อสังเกต
เพื่อให้มีการปรับปรุงการบริการประชาชนของหน่วยงานของรัฐเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างทั่วถึงเห็นควรที่จะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้การบริการประชาชนตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนี้ครอบคลุมการบริการในลักษณะดังต่อไปนี้ด้วย
3.1 การบริการลูกค้าภายในของส่วนราชการ เช่น กรณีมหาวิทยาลัย ให้บริการนักศึกษาในการขอใบรับรองการศึกษา และการบริการของส่วนราชการกับข้าราชการที่เกษียณอายุราชการแล้ว เป็นต้น
3.2 การบริการระหว่างส่วนราชการกับส่วนราชการ ไม่ว่าจะบริการด้วยกันโดยตรงหรือโดยอ้อม ที่ประชาชนยื่นคำขอที่ส่วนราชการหนึ่งแล้วส่วนราชการที่ได้รับคำขอต้องขอความเห็นจากส่วนราชการอื่น เป็นต้น
3.3 การปรับปรุงการให้บริการในกระบวนงานที่อำนาจในการอนุญาตอนุมัติ เป็นของรัฐมนตรีเจ้าสังกัด
(ยังมีต่อ)
-รก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ