ไต้หวันตั้งเป้าสูง จะเป็น 1 ของโลกด้านเทคโนโลยี ด้านฮ่องกงชูมาตรการปลอดภาษีในการส่งออกไปจีน

ข่าวทั่วไป Monday October 20, 2003 11:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--บีโอไอ
นักธุรกิจและนักลงทุนไทยสนใจไปลงทุนในต่างประเทศ แห่เข้าฟังการสัมมนาชี้แนะช่องทางการลงทุนในงานเอเปค อินเวสท์เม้นท์ มาร์ท ร่วม 300 คน ไต้หวันหวังชิงอันดับ 1 ของโลกในสินค้า 15 ชนิด ด้านฮ่องกงก็ชูมาตรการปลอดภาษีการส่งออกไปจีนหากไปลงทุนในฮ่องกง
นาย Thomas Chuang รองอธิบดีศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมและการลงทุน กระทรวงการเศรษฐกิจของไต้หวัน ได้บรรยายหัวข้อเรื่อง "ไต้หวัน ทางเลือกที่ดีเยี่ยมสำหรับการลงทุน" (Chinese Taipei, Your Ideal Choice For Investment) ในงานเอเปค อินเวสท์เม้นท์ มาร์ท ว่า ระหว่างปี 2546 - 2551 ไต้หวันได้ตั้งเป้าหมายท้าทายหลายประการ อาทิ การเป็นอันดับ 1 ของโลกในสินค้าและเทคโนโลยี 15 ประเภท การเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาเป็น 3% ของ GDP การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็น 5 ล้านคน/ปี การลดอัตราการว่างงานเหลือ 4% เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี รวมถึงพัฒนาเครือข่ายอินเตอร์เนตความเร็วสูงเชื่อมต่อกับบ้านเรือนไม่ต่ำกว่า 6 ล้านหลัง
สำหรับอุตสาหกรรมที่ไต้หวันมีศักยภาพสูงในการรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ ประกอบด้วย แผงวงจรรวม การประกอบไอซี การผลิตอุปกรณ์ CD-R และ DVD เซมิคอนดักเตอร์ เครื่องจักรกล เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อากาศยาน ยานยนต์ เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น
" ไต้หวันเป็นฐานผลิตสำคัญในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตแผงวงจรรวม นอกจากนี้ไต้หวันยังโดดเด่นในด้านนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา ซึ่งปัจจุบันไต้หวันมีค่าใช้จ่ายในด้านวิจัยและพัฒนาเป็นสัดส่วน 2.2% ของ GDP และมีหลายบริษัทได้มาตั้งฐานวิจัยและพัฒนาในไต้หวัน เช่น โซนี่ ไอบีเอ็ม อินเทล เดลล์ "
นาย Chuang กล่าวด้วยว่า ไต้หวันกำลังจะก้าวไปไปสู่การผลิตภายใต้แบรนด์ของตนเอง OBM (Own Brand Manufacturing) โดยจะเน้นการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ และมีการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ไต้หวันรับจ้างผลิตโดยออกแบบผลิตภัณฑ์เอง จากเดิมที่ไต้หวันเคยรับจ้างผลิตตามการออกแบบของผู้ว่าจ้าง
ฮ่องกงชูจุดแข็งปลอดภาษีส่งออกไปจีน
ด้านนาย John Rutherford ผู้ช่วยผู้อำนวยการ Invest Hong Kong ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนกล่าวว่า ฮ่องกงเป็นประตูเปิดสู่การดำเนินธุรกิจในประเทศจีน เนื่องจากได้ทำสัญญาการค้าเสรีระหว่างกัน (Closer Economic Partnership Agreement) ซึ่งครอบคลุมทั้งในส่วนสินค้า บริการ และการลงทุน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ทำให้บริษัทที่เข้ามาลงทุนในฮ่องกงจะสามารถส่งออกสินค้าไปจีนโดยไม่ต้องเสียอากรขาเข้า ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยดึงดูดให้การลงทุนเข้ามาฮ่องกงมากยิ่งขึ้น
"การนำเข้าและส่งออกของจีน 80% ดำเนินการผ่านฮ่องกง และในด้านการลงทุน ฮ่องกงก็เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของจีน เพราะกว่าร้อยละ 70 ของการลงทุนในจีนนั้นมากจากฮ่องกง" นาย John Rutherford กล่าว
ปัจจุบันบริษัทต่างชาติหลายรายได้เข้ามาตั้งสำนักงานภาคพื้นเอเชียในฮ่องกง เช่น บริษัท ฟิลิปส์ได้ย้ายมาจากสิงคโปร์ หรือบริษัท BAT ซึ่งเป็นผู้ผลิตบุหรี่รายใหญ่ของโลก ก็ได้ย้ายสำนักงานจากมาเลเซียมายังฮ่องกง--จบ--
-รก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ