คิดดี สุขภาพดี ชีวีมีสุข

ข่าวทั่วไป Monday October 10, 2011 17:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--PR Network ความคิดนั้น สำคัญไฉน ! คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความคิดนั้น มีผลโดยตรงต่อการใช้ชีวิตและความสุขในการดำรงชีวิตของแต่ละคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างเช่น หากวันไหนความรู้สึกของคุณเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข โลกทั้งใบของคุณในวันนั้นเต็มไปด้วยสีสันสดใสสวยงาม ลองสังเกตดูว่าวันนั้นคุณ “คิดบวก” หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “มองโลกในแง่ดี” ในขณะที่หากวันไหน ชีวิตของคุณเต็มไปด้วยความทุกข ์แสนสาหัส มองไปที่ไหนก็เต็มด้วยความขัดใจ ฟังใครพูดจาก็ขัดหู ใครยืนอยู่ตรงหน้าก็ขวางหูขวางตาเต็มไปหมด ลองพิจารณาใจของคุณดูว่า วันนั้นคุณ “คิดลบ” หรือ “มองโลกในแง่ร้าย” อยู่หรือเปล่า บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยสองมุมมอง สองความคิด สองความรู้สึก สามารถตีความแตกต่างกันไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญ ความคิดนั้นสัมพันธ์กับอารมณ์ ความรู้สึก และสามารถทำให้คุณดูดีอ่อนวัย หรือแก่เกินวัยได้เช่นเดียวกัน นี่เอง ! คือความสำคัญของความคิด และในงานสำหรับคนรักสุขภาพอย่าง งานสุขภาวะดี วิถีไทย ครั้งที่ 3 (Thailand Health & Wellness 2011) ก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของความคิดที่จะส่งผลโดยตรงต่อการมีสุขภาพที่ดี โดยนำเรื่องร่าววิธีคิดของศาสตร์ในโลกตะวันออก ผ่านแนวคิดทางพระพุทธศาสนาของ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย ที่ได้กล่าวถึง วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม 6 แบบ คือ 1. คิดแบบอริยสัจ หรือคิดแบบแก้ปัญหา ซึ่งเป็นวิธีคิดที่เป็นสากล ใช้ได้ตลอดกาล และเป็นวิธีคิดที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยกย่องพระพุทธเจ้ามาก โดยวิธีคิดแบบอริยสัจมี 4 ขั้นตอน คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ถ้าเกิดปัญหาขึ้นในชีวิตให้กำหนดรู้ว่า ความทุกข์ที่เราเจออยู่นี้คืออะไรแน่ ทุกข์เราต้องกำหนดรู้ต้องศึกษา แต่คนส่วนใหญ่ เมื่อเกิดปัญหา เกิดความทุกข์ขึ้นมา กลับหลอมรวมตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของปัญกา แทนที่ทุกข์จะมีไว้สำหรับเห็น ก็กลับกลายเป็นทุกข์มีไว้สำหรับเป็น เมื่อมีความทุกข์ควรจะศึกษาให้ชัดว่า ที่ว่าทุกข์ ทุกข์นี้คืออะไรแน่ เมื่อกำหนดชัดแล้ว ศึกษาต่อไปว่าสาเหตุมันอยู่ที่ตรงไหน ตามไปดูให้รู้ถึงสาเหตุ และเมื่อค้นพบสาเหตุแล้ว ดูว่าจะแก้มันอย่างไร ลองตั้งสมมติฐานขึ้นมา นี่คือนิโรธ เมื่อตั้งสมมติฐานแล้วตั้งค้างไว้ก็ไม่เกิดอะไรขึ้นต้องลงมือแก้ทุกข์ จากนั้นก็ลงมือแก้ทุกข์ นั่นคือมรรค 8 ตามที่เราทราบกัน 2. คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย หรือกล่าวอีกอย่างว่า ปรากฏการณ์ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกและชีวิตของเราล้วนมีที่มา ทุกสิ่งที่เราประสบพบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความทุกข์ ไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ มีที่มาทั้งหมด แต่เรามักไม่ค่อยคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย เพราะคนส่วนใหญ่จะคิดแบบผิด ๆ 3 วิธีคือ คิดแบบแล้วแต่กรรมเก่า คิดแบบแล้วแต่พระเจ้าบันดาล และคิดแบบแล้วแต่โชคชะตาจะพาให้เป็นไป ทั้ง ๆ ที่ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตมนุษย์เรา สามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ทั้งหมด ถ้าเราเข้าใจวิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย มนุษย์ทุกคนที่มีความทุกข์ มีศักยภาพที่จะพ้นทุกข์อย่างทัดเทียมกัน 3. วิธีคิดแบบมองโลกในแง่ดี ท่านทั้งหลายคงได้ยินบ่อย คำว่า positive thinking พูดกันบ่อยมาก แต่การมองโลกในแง่ดีนี้มีอยู่ 2 แบบ คือ มองโลกในแง่ดีแบบคนโง่ และมองโลกในแง่ดีแบบคนฉลาด ทั้งนี้ การมองโลกในแง่ดีแบบคนโง่ คือ สอบตกก็สอบใหม่ได้ไม่เห็นเป็นไร เรียนนาน ๆ ความรู้ยิ่งแน่น มองแบบนี้มันก็ไม่ทุกข์ สอบตกก็ยังร้องเพลงได้ มันไม่ทุกข์ในปัจจุบัน แต่มันจะทุกข์ในอีก 10 — 20 ปีข้างหน้า ซึ่งแท้ที่จริงการมองโลกในแง่ดีต้องมองด้วยสติ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับพระอานนท์ในกรณีของนางจิญจมานวิกาว่า “อานนท์ เธอก็คิดสิว่าเราเกิดมาอยู่ในสังคม เธอ ฉัน คนทั้งโลก เราเปรียบเสมือนช้างศึกก้าวสู่สงคราม ต้องพร้อมที่จะยอมรับศาสตราวุธจากทิศทั้งสี่ เมื่อเราก้าวสู่สงครามชีวิต” เพราะฉะนั้น สุข ทุกข์ สมหวัง ผิดหวัง เศร้าเสียใจ เรา้ต้องเจอแน่ 4. วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน หรือการคิดแบบรู้ตัวทั่วพร้อม ซึ่งวิธีการอยู่กับปัจจุบัน คือ การฝึกสติตามแนววิปัสสนากรรมฐาน พระพุทธองค์ทรงเป็นตัวอย่างที่ดี ครั้งหนึ่งทรงนั่งสมาธิอยู่กับปัจจุบันอย่างสงบใต้โคนต้นไม้ ใกล้ ๆ บริเวณนั้น มีฟ้าผ่าโคชาวนาตายไป 7 ตัว พอฝนซาฟ้าสว่างมีคนไปกราบถามพระพุทธองค์ว่า ทรงได้ยินเสียงฟ้าผ่าไหม ทรงตอบว่า “ไม่ได้ยินเลย” เหตุที่พระพุทธองค์ไม่ได้ยิน เพราะพระองค์ไม่ได้ส่งใจออกไปตามเสียงฟ้าเสียงฝน แต่เก็บใจไว้ในที่ที่ควรอยู่ นั่งนิ่ง ๆ แต่เป็นการนิ่งอย่างตื่นรู้ คนที่มีสติอยู่กับปัจจุบัน ข้างนอกยุ่งอย่างไร ใจเขาก็มีความสุข 5. วิธีคิดแบบรู้ทันธรรมดา ธรรมดาของโลกนี้เป็นสิ่งสากล คนทั่วโลกจะพบเหมือนกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเกิดมาบนกองเงินกองทอง หรือเกิดมาแล้วคุณแม่พยายามเอาไปใส่ในชักโครกแล้วกดทิ้ง สัจธรรมนี้ไม่เคยมีใครหนีพ้น นั่นคือไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือ ไม่เที่ยง ไม่ทน ไม่แท้ ซึ่งมันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในตัวของเราและครอบงำไปทั่วโลก เราจะต้องรู้จักคำ “รู้ทันธรรมดา” แล้วท่องไว้ในใจ 6. วิธีคิดแบบคุณค่าแท้ — คุณค่าเทียม หมายถึงว่า เราอยู่ในโลกนี้ เราเสพบริโภคปัจจัยสี่ ปัจจัยสี่ที่เราบริโภคจะมีอยู่ 2 คุณค่า คือ คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม เวลาพระจะฉันภัตตาหาร พระพุทธเจ้าจะให้ท่องหรือพิจารณา ท่านเรียกว่าบทปฏิสังขาโย บทนี้เป็นบทพิจารณาปัจจัยสี่ ถ้าเราพิจารณาอย่างมีปัญญา เราจะบริโภคปัจจัยสี่อย่างเห็นคุณค่าที่แท้ เช่น เวลาเราบริโภคอาหารท่านก็ให้พิจารณาว่า อาหารนี้ที่เรารับประทานเข้าไป ไม่ใช่เพื่อเล่นเพื่อสนุกสนาน เพื่อเมามัน เพื่อเกิดพลังทางกาย แต่เรากินเพื่อกำจัดความหิว กินเพื่อให้ร่างกายมีแรงศึกษาธรรมะ กินเพื่อบำบัดเวทนาเก่า และป้องกันเวทนาใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น และเมื่อมีเรี่ยวแรง แล้วก็ไม่ใช่เพื่อเมามัน หรือเพื่อความสวยความงาม แต่เพื่อจะได้ทำประโยชน์ต่อไป นี่คือคุณค่าแท้ในการกินอาหาร ในเชิงของพระพุทธศาสนา ความคิด เป็นเรื่องของการมีสัมมาทิฏฐิ หรือการคิดชอบ ที่เปรียบเป็นนาวาที่พาชีวิตให้ไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องและมีความสุขได้ การคิดดีนำไปสู่การมีอารมณ์ดี สะท้อนถึงสุขภาพจิตที่ดี การลดความโกรธ ความเครียด สร้างทัศนคติในเชิงบวก ก็จะนำมาซึ่งความสุขสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และอายุที่ยืนยาว สำหรับผู้ที่รัก ห่วงใย และใส่ใจสุขภาพของตนเองและคนที่คุณรัก พลาดไม่ได้กับ งานสุขภาวะดี วิถีไทย ครั้งที่ 3 (Thailand Health & Wellness 2011) ในระหว่างวันที่ 10 - 13 พฤศจิกายน 2554 ณ บริเวณอาคาร 2-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร 02-627-9038 หรือคลิกไปดูรายละเอียดได้ที่ www.thailandhealthandwellness.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ