ฟิทช์ ประเทศไทย ประกาศคงอันดับเครดิตของ อิออน ธนสินทรัพย์

ข่าวทั่วไป Friday October 31, 2003 13:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ของหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระยะยาวที่ระดับ 'A-(tha)' และ ระยะสั้นที่ระดับ 'F2(tha)' ด้วยแนวโน้มมีเสถียรภาพ
อิออนได้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตและการทำกำไรที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อภายในประเทศ การเติบโตของอิออนนั้นมีพื้นฐานมาจากการที่บริษัทเน้นการให้บริการกลุ่มลูกค้าที่ในอดีตบริษัทคู่แข่งไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่ได้รับการเอาใจใส่ ซึ่งทำให้ธุรกิจในกลุ่มที่อิออนดำเนินงานอยู่นั้นมีการแข่งขันที่ไม่สูงนัก และมีกำไรหลังการปรับความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง อิออนได้สร้างชื่อเสียงในการเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อผู้บริโภคโดยจะมุ่งเน้นในเชิงพาณิชย์และทุ่มเทการปล่อยสินเชื่อรวมทั้งบริการที่มีคุณภาพ, การขายผลิตภัณฑ์สินเชื่อและการให้บริการอันหลากหลาย, การใช้ประโยชน์จากผู้ค้าปลีกรายย่อย 6,300 ราย จากห้างขายสินค้าส่วนลดขนาดใหญ่ (Tesco, Big C, Makro) และจากห้างสรรพสินค้า (Jusco, The Mall)
อิออนรายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 464 ล้านบาท ในปีประกอบการ 2545/2546 เพิ่มขึ้น 59% จาก 292 ล้านบาท ที่รายงานไว้ในปีประกอบการก่อนหน้าเนื่องมาจากการเติบโตของลูกหนี้การค้าที่แข็งแกร่ง ทั้งๆที่ลูกหนี้การค้าได้ลดลงเล็กน้อยในครึ่งปีแรกของปีประกอบการ 2546/2547 อิออนก็ยังคงรายงานการทำกำไรที่ดีขึ้น โดยกำไรสุทธิเพิ่มเป็น 274 ล้านบาท จาก 210 ล้านบาท ในครึ่งปีแรกของปีประกอบการ 2545/2546 เนื่องจากรายได้จากธุรกิจเช่าซื้อและสินเชื่อรายบุคคลเพิ่มขึ้น รวมทั้ง รายได้จากการบันทึกหนี้สูญรับคืน และ กำไรจากการขายสินทรัพย์ถาวรก็ได้เพิ่มขึ้นด้วย
สินเชื่อของอิออนส่วนใหญ่จะมีอายุสั้น แบ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อไม่มีประกัน (48% ของสินเชื่อทั้งหมด), บัตรเครดิต (30%) และสินเชื่อส่วนบุคคล (20%) สำหรับการซื้อผลิตภัณฑ์ขนาดย่อมของผู้บริโภค สินเชื่อของอิออนได้ขยายตัวอย่างมากใน 4 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เนื่องมาจากการเติบโตของธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจเช่าซื้อ และ บัตรเครดิต การเติบโตของสินเชื่อนำมาซึ่งแนวโน้มการทำกำไรที่แข็งแกร่งขึ้นจากการที่อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสูงกว่า 20% แม้ว่าการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยของทางการสำหรับธุรกิจบัตรเครดิตที่ 18% จะมีผลกระทบต่ออัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ย ผลกระทบนี้ได้ถูกชดเชยบางส่วนโดยรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าสินเชื่อของอิออนหดตัวลงเล็กน้อยในครึ่งปีแรกของ ปีประกอบการ 2546/2547 จากการที่ความมั่นใจของผู้บริโภคถูกกระทบโดยโรคไข้หวัดซาร์สและสงครามในประเทศอิรัก แต่ฟิทช์ก็คาดว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อน่าจะกลับสู่สภาพปกติในครึ่งปีหลังของปีประกอบการ 2546/2547 จากการที่การเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นใจของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น
หนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปรวมหนี้ที่ตัดเป็นหนี้สูญแล้ว อยู่ที่ 7.3% ของสินเชื่อลูกหนี้การค้าทั้งหมด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ในขณะที่หนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวเมื่อเทียบกับสินเชื่อเฉลี่ยของปีก่อนอยู่ที่ 10.7% แม้ว่าหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวจะยังดูน่าเป็นห่วง แต่มาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้ที่เข้มงวดขึ้นในครึ่งปีแรกของปีประกอบการ 2546/2547 ได้หยุดการถดถอยของคุณภาพของสินทรัพย์ ดังจะเห็นได้จากการที่หนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวลดลงมาเป็น 6.4% และเมื่อเทียบกับสินเชื่อเฉลี่ยของปีก่อนลดลงมาเป็น 6.1% ณ สิ้นเดือนสิงหาคม
ปัจจัยหลักอีกประการหนึ่งที่ทำให้อิออนมีผลประกอบการที่ดีขึ้นคือการบริหารงานที่เข้มงวดโดยเฉพาะทางด้านการปล่อยสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้ อิออนได้ทำการกันสำรองเต็มจำนวนสำหรับหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 3 เดือนและได้ตัดหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปเป็นหนี้สูญ อย่างไรก็ตามอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่ในระดับสูงและความผันผวนของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยเฉพาะในธุรกิจบัตรเครดิตอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่หนี้ที่ค้างชำระ และหนี้สูญอาจเพิ่มขึ้นอีกซึ่งจะส่งผลกระทบกับการทำกำไรใน 2-3 ปีข้างหน้าก็ได้ การเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ค้างชำระ จากระดับปัจจุบันอาจจะส่งผลกระทบกับภาพรวมความน่าเชื่อถือของอิออน
อิออนมีเงินกองทุนต่อสินเชื่อในระดับ 14% ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2546 ฟิทช์เชื่อว่าแม้ว่าอิออนจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในระดับสูง อิออนอาจจะมีความต้องการเพิ่มทุนในอนาคตถ้าบริษัทจะรักษาอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่สูงต่อไป
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 'AAA' ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ