ผลการประชุมกลุ่มศึกษาตะกั่วและสังกะสีระหว่างประเทศแนวโน้มตะกั่วและสังกะสีในตลาดโลกดีขึ้น

ข่าวทั่วไป Wednesday November 12, 2003 17:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
นายอนุสรณ์ เนื่องผลมาก อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม แถลงผลสรุปจากการประชุมกลุ่มศึกษาตะกั่วและสังกะสีระหว่างประเทศ (International Lead and Zinc Study Group : ILZSG) ครั้งที่ 48 ซึ่งไทยเป็นสมาชิก ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคม 2546 ซึ่งผลจากการประชุมดังกล่าวสรุปว่า ปี 2546 แนวโน้มการบริโภคตะกั่วและสังกะสีทั่วโลกดีขึ้น คาดว่าอยู่ที่ระดับ 6.7 ล้านตัน และ 9.6 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2545 ร้อยละ 1 และร้อยละ 2 ตามลำดับ และแนวโน้มในปี 2547 คาดว่า การบริโภคตะกั่วและสังกะสีจะเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านตันและ 10 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.4 และร้อยละ 3.5 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการในจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การประชุมครั้งนี้มีผู้แทนจากประเทศสมาชิก 24 ประเทศ โดยคณะผู้แทนไทยประกอบด้วย นายอนุสรณ์ เนื่องผลมาก อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นายยงยุทธ เพ็ชรสุวรรณ ประธานสภาการเหมืองแร่ นายปัญญา ดุลยพิจิตร เลขาธิการสภาการเหมืองแร่ และนายพินิต วงศ์มาสา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ที่ประชุมได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะตลาดโลกและแนวโน้มปี 2547 ตลอดจนแผนการดำเนินงานของกลุ่มศึกษา โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
ปี 2546 แนวโน้มการบริโภคตะกั่วและสังกะสีทั่วโลกดีขึ้น คาดว่าอยู่ที่ระดับ 6.7 ล้านตัน และ 9.6 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2545 ร้อยละ 1 และร้อยละ 2 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการในเอเชียเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตัวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของจีนเป็นหลัก ในขณะที่การผลิตตะกั่วและสังกะสีทั่วโลกตลอดปี จะมีปริมาณ 6.6 ล้านตัน และ 9.7 ล้านตัน ใหล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
สำหรับแนวโน้มปี 2547 คาดว่า การบริโภคตะกั่วและสังกะสีจะเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านตันและ 10 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.4 และร้อยละ 3.5 ตามลำดับ เป็นผลจากความต้องการในจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การผลิตตะกั่วคาดว่า จะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากการปิดตัวของโรงถลุงทรายและการลดการผลิตในยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ในขณะที่ปริมาณการผลิตสังกะสีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากการเพิ่มการผลิตในเบลเยี่ยม ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ และสเปน รวมถึงอิหร่าน เม็กซิโก และเกาหลี
นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการนำเสนอด้านเทคนิค โดยได้กล่าวถึงการพัฒนาการผลิตสังกะสีจากแร่ที่อยู่ในรูปออกไซด์ และการเพิ่มมูลค่าในรูปสารเคมีและโลหะผสม ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกสำหรับอุตสาหกรรมสังกะสีของไทย เนื่องจากในประเทศมีแหล่งสังกะสีออกไซด์ขนาดใหญ่ รวมทั้งสามารถพัฒนาการเพิ่มมูลค่าสังกะสีเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ สี ยาง แบตเตอรี่ ปุ๋ย ยา เครื่องสำอาง เหล็กเคลือบป้องกันสนิม และโลหะผสม ซึ่งจะส่งผลให้การใช้สังกะสีในประเทศสูงขึ้น
อนึ่ง การประชุมครั้งนี้ ได้ติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมกับกลุ่มศึกษาทองแดงระหว่างประเทศ (International Copper Study Group) และกลุ่มศึกษานิกเกิลระหว่างประเทศ (Internation Nickel Study Group) เพื่อให้เกิดพัฒนาโลหะพื้นฐานแบบบูรณาการอันจะเป็นประโยชน์ของภาครัฐและผู้ประกอบการ โดยได้เริ่มกิจกรรมแรก คือ Joint Study Group's Workshop on Metal Recycling เมื่อวันที่ 10-11 กันยายน 2546 ณ เมืองเซนต์ปีเตอร์เบอรก สหพันธรัฐรัสเซีย สำหรับการปรับโครงสร้างองค์กร และความร่วมมือด้านอื่นจะได้ร่วมหารือในการประชุมกลุ่มย่อยต่อไป
ในส่วนของประเทศไทย ปี 2546 คาดการณ์ว่า การบริโภคตะกั่วจะมีจำนวน 130,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เนื่องจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลให้มีความต้องการใช้ตะกั่วสำหรับผลิตแบตเตอรี่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาในประเทศปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายปีตามสถานการณ์ราคาโลหะในตลาดโลก
สำหรับการบริโภคสังกะสีในปีนี้ คาดว่าจะมีปริมาณ 130,000 ตัน และการผลิตเต็มกำลังคือ 105,000 ตัน ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา อันเป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ส่งผลให้การส่งออกลดลงประมาณร้อยละ 15 เนื่องจากผู้ประกอบการเน้นการจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก ความต้องการในประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกับความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้ราคาสังกะสีปรับตัวสูงขึ้นโดยมีราคาในตลาดโลกประมาณ ตันละ 900 เหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง--จบ--
-วอ/รก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ