GUNKUL รุกพลังงานทดแทนครบวงจรจับมือ พีอีเอ เอ็นคอมฯ บุกผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 17, 2011 15:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--IR network บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL แจกข่าวดีอีกแล้ว หลังดอดเซ็น MOU ร่วมกับ พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ กฟภ. ลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานลม โปรเจ็กแรกกำลังการผลิต 6 เมกกะวัตต์ บนพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดชุมพร เผยปัจจุบันอยู่ในช่วงติดตั้งเสาวัดลมเพื่อทดสอบแรงลมซึ่งได้ผลออกมาดีตามคาด "โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์" ระบุ พร้อมเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ทันทีเมื่อผลวัดลมเรียบร้อย ช่วยต่อยอดธุรกิจของกลุ่มบริษัทให้ดำเนินการได้ครบวงจร ระบุจุดแข็งของพลังงานลมอยู่ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามในสัญญาร่วมกับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM International Co., Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทแรกในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ดำเนินธุรกิจการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในประเทศและการลงทุนด้านระบบไฟฟ้าในต่างประเทศ เพื่อร่วมลงทุนทางธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม มีขนาดกำลังการผลิต 6 เมกกะวัตต์ บนพื ้นที่ตำบลเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและเหมาะสมที่จะลงทุนธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม และเพื่อเป็นโครงการนำร่องเพราะพื้นที่ดังกล่าวสามารถติดตั้งกังหันลมได้มากกว่า 6 เมกกะวัตต์ สำหรับการร่วมทุนระหว่าง GUNKUL และบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในครั้งนี้ ส่งผลต่อการขยายโอกาสทางธุรกิจของ GUNKUL เป็นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการในเบื้องต้นแล้ว โดยติดตั้งเสาวัดลมจำนวน 2 ชุด เพื่อทดสอบความแรงของลม แบ่งเป็นบนพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ 1 ชุด และจังหวัดชุมพร 1 ชุด และจากการทดสอบในเบื้องต้นพบว่าความแรงของลมเป็นที่น่าพอใจ "หากโครงการนี้เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการติดตั้งกังหันลมได้ในปี 2555 โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องเงินลงทุน เนื่องจากมีมีสถาบันการเงินหลายแห่งพร้อมที่จะให้การสนับสนุน และโครงการนี้คาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 6 ปี และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมจะได้อัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) ของไฟฟ้าจากพลังงานลมอยู่ 3.50 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี” กรรมการผู้จัดการ GUNKUL กล่าวต่อว่าบริษัทได้ตระหนักถึงศักยภาพของพลังงานลม ที่นับเป็นอีกหนึ่งพลังงานทดแทนที่สำคัญของประเทศและเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่มีวันหมด ซึ่งการร่วมมือทางธุรกิจในครั้งนี้ถือเป็นการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนตามเป้าหมายของ GUNKUL โดยจะเป็นการสร้างฐานให้มีการดำเนินธุรกิจที่ครบวงจรและเสริมจุดแข็งให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมสามารถดำเนินการได้ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะลมพัดตลอดเวลา และสำหรับแนวโน้มผลประกอบการในปี 2554 คาดว่ารายได้รวมน่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 100% จากปี 2553

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ