หลักเกณฑ์ และขั้นตอนการจดทะเบียนผู้ประสบปัญหาสังคมและความยากจน

ข่าวทั่วไป Tuesday January 6, 2004 15:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--กทม.
หลักเกณฑ์และคุณสมบัติผู้ประสบปัญหาฯ
สำหรับหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประสบปัญหาสังคมและความยากจนที่ประสงค์จะจดทะเบียน แยกตามประเภทปัญหา 7 ประการ ได้แก่ 1.ปัญหาที่ดินทำกิน ซึ่งมีแนวคิดที่จะทำให้เกษตรกรมีหลักประกันในการทำมาหากิน จะรับจดทะเบียนเป็นรายครัวเรือน โดยให้หัวหน้าครอบครัวหรือผู้แทนคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูล ผู้ที่จะจดทะเบียนต้องไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง สำหรับผู้ที่ถือครองที่ดินเดิมอยู่แล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาจาก ส.ป.ก. หากมีที่ดินทำกินจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ หรือประกอบอาชีพอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือต่อเนื่องกับการปฏิรูปที่ดิน ก็สามารถมายื่นขอจดทะเบียนได้ 2.ปัญหาคนเร่ร่อน คือผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง หรือเป็นผู้ไม่มีอาชีพ 3.ปัญหาผู้ประกอบอาชีพผิดกฎหมาย ได้แก่ ผู้ที่เคยประกอบอาชีพผิดกฎหมาย เช่น ผู้ค้ายาเสพติด ขายหวยเถื่อน ขายซีดีเถื่อน ฯลฯ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีอาชีพและรายได้ อีกทั้งมีความประสงค์จะประกอบอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะได้รับการส่งเสริมและฝึกอาชีพที่ถูกกฎหมาย 4.ปัญหาการให้ความช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาให้มีรายได้จากการประกอบอาชีพที่เหมาะสม โดยจะเป็นการสร้างค่านิยม แนวความคิดที่สร้างสรรค์ให้แก่นักเรียน/ นักศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษา อายุ 15 ปีขึ้นไป โดยเปิดโอกาสให้ทำงานพิเศษในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือหลังเลิกเรียน และช่วงปิดภาคเรียน เพื่อให้มีรายได้จากอาชีพที่สุจริต ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ และมีประสบการณ์ชีวิต 5.ปัญหาการ ถูกหลอกลวง ได้แก่ ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้อื่นที่มีลักษณะฉ้อฉลในกรณีต่างๆ เช่น การหลอกลวงแรงงาน ซื้อบ้าน ซื้อสินค้าและบริการ การหลอกลวงด้านการเงิน เช่น แชร์ ระดมทุน และทรัพย์อื่นๆ โดยจะต้องมีหลักฐานการถูกหลอกลวงที่สามารถเชื่อถือได้มาแสดงในการขอจดทะเบียน ทั้งนี้รัฐบาลต้องการขจัดระบบนายหน้าที่ไม่ถูกต้องทุกประเภทให้หมดไป และช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอ ยากจน ให้ช่วยเหลือตัวเองได้ 6.ปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ได้แก่ ผู้ที่มีภาระหนี้สินในระบบ เช่น หนี้กลุ่มออมทรัพย์ ธกส. สหกรณ์ ฯลฯ รวมถึงผู้ที่มีภาระหนี้นอกระบบ เช่น เงินกู้จากบุคคล ทั้งนี้จะมีการจัดแบ่งกลุ่มประเภทหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ให้อยู่ในระดับที่ผู้เป็นหนี้สามารถชำระได้ โดยจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหนี้สินที่ได้ลงทะเบียนแจ้งไว้ด้วย 7. ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน ได้แก่ ผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว และมีอาชีพและรายได้ แต่ไม่มีบ้านอยู่อาศัยที่มีความมั่นคงถาวรเป็นของตัวเอง อย่างไรก็ดี บุคคลสามารถจดทะเบียนได้มากกว่า 1 ปัญหา และหากมีปัญหาที่ไม่เข้าข่ายกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวก็สามารถแจ้งเป็นปัญหาอื่นๆ ได้ ส่วนประชาชนที่มาประกอบอาชีพในกรุงเทพฯ แต่ยังไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาในเขตกรุงเทพฯ สามารถขอจดทะเบียนได้ ณ สำนักงานเขตที่ตนอาศัยอยู่โดยไม่ต้องกลับไปแจ้งที่ภูมิลำเนา เนื่องจากข้อมูลจะประมวลในระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์เป็นข้อมูลเดียวกับของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ขั้นตอนการจดทะเบียน
สำหรับเอกสารหลักฐานที่ต้องนำไปแสดงในการขอจดทะเบียน ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน และหลักฐานอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับปัญหา เช่น สัญญาซื้อ-ขายทรัพย์สิน ฯลฯ โดยเอกสารแต่ละชนิดใช้ต้นฉบับไม่ต้องถ่ายสำเนา ทั้งนี้ เพื่อให้สะดวกและง่ายในการมาติดต่อขอลงทะเบียน ประชาชนควรทราบว่ามีความประสงค์จะจดทะเบียนปัญหาประเภทใดในปัญหา 7 ประการ โดยศึกษาได้จากบอร์ดประชาสัมพันธ์ ณ สำนักงานเขต เพื่อพิจารณาคุณสมบัติของปัญหา และวิธีการเขียนแบบจดทะเบียน จากนั้นขอรับบัตรคิว และแบบฟอร์มลงทะเบียนตามประเภทปัญหา แล้วกรอกคำร้องจดทะเบียน กรณีที่เขียนหนังสือไม่ได้จะมีเจ้าหน้าที่ ช่วยเขียนให้ จากนั้นยื่นคำร้องจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่พร้อมให้รายละเอียดข้อมูลให้ครบถ้วน แล้วรับบัตรรับรองการจดทะเบียนเก็บไว้เป็นหลักฐานในการติดต่อสอบถามต่อไป
จากนั้นระหว่างวันที่ 1 เม.ย. - 30 มิ.ย.47 จะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลและยืนยันรายชื่อผู้จดทะเบียนภายใน 15 วัน และปิดประกาศรายชื่อผู้จดทะเบียนในที่สาธารณะประจำชุมชน, สำนักงานเขต หรือสถานที่ที่เหมาะสม เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วจะจัดเวทีประชาคมในระดับชุมชน เพื่อตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง และแจ้งข้อมูลผู้จดทะเบียนให้ศูนย์ปฏิบัติการฯ ระดับเขตต่อไป เพื่อประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินการช่วยเหลือตามปัญหาความต้องการของประชาชนในแต่ละเรื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.47 เป็นต้นไป--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ