ฟิทช์: ความเสียหายจากอุทกภัยต่อบริษัทประกันภัยอยู่ในระดับที่จัดการได้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 28, 2011 17:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ เชื่อว่าแม้สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยในขณะนี้จะมีความรุนแรงกว่าปกติและทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก ความเสียหายที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของบริษัทประกันภัยน่าจะอยู่ในระดับที่จัดการได้โดยไม่น่าส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อฐานะทางการเงินของบริษัทต่างๆในอุตสาหกรรม หรือทำให้เกิดความตึงตัวทางการเงินต่อบริษัทประกันวินาศภัยในประเทศไทย โดยลักษณะของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และสภาพทางภูมิอากาศ พื้นที่ในหลายภาคของประเทศไทยมักจะประสบกับปัญหาอุทกภัยตามฤดูกาล ซึ่งการที่มีน้ำท่วมในจังหวัดในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสานในช่วงครึ่งหลังของปีถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ปกติ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์อุทกภัยในปีนี้กลับมีความรุนแรงมากเกินกว่าปกติ โดยขณะนี้กรุงเทพฯก็กำลังเผชิญเหตุการณ์อุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประเมินความเสียหายจนถึงปัจจุบันไว้ที่ประมาณ 4 พันเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 120,000 ล้านบาท) เนื่องด้วยสถานการณ์น้ำท่วมยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง บริษัทประเมินความเสียหายต่างชาติและผู้เจรจาตกลงค่าสินไหมทดแทน น่าจะยังคงต้องใช้เวลาในการประมาณการความสูญเสียภายใต้การคุ้มครองของบริษัทประกันภัยที่เกิดขึ้นจริง ธุรกิจประกันภัยประเภทต่างๆจะได้รับผลกระทบ ซึ่งประกอบด้วยการประกันความเสี่ยงทุกประเภท ประกันภัยทรัพย์สิน ประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยความสูญเสียจากธุรกิจหยุดชะงักและประกันชีวิต โรงงานต่างๆและบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้หยุดทำการผลิต และมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นคงจะขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการฟื้นตัวของธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ จากการประมาณการของฟิทช์ในเบื้องต้น ณ ขณะนี้ เชื่อว่าความเสียหายที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของบริษัทประกันภัยน่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจริง อย่างไรก็ตามระดับของความเสียหายอาจแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละบริษัท ประเทศไทยซึ่งมีประชากรประมาณ 70 ล้านคน ยังมีอัตราการทำประกันภัยอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับตลาดที่พัฒนาแล้ว จากการคาดการณ์ของ Swiss Re Sigma อัตราการทำประกันภัยของประเทศไทยวัดจากจำนวนเบี้ยประกันภัยเทียบเป็นสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ 4.3% ในปี 2553 เทียบกับ 8.0% สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา และ 12.4% สำหรับสหราชอาณาจักร ฟิทช์เชื่อว่าประชากรส่วนใหญ่ในชนบทโดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสาน น่าจะได้รับความคุ้มครองจากการทำประกันภัยไม่มากนัก ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมยังเป็นไปอย่างต่อเนื่องและกำลังขยายตัวเข้าสู่กรุงเทพชั้นในนั้น ระดับน้ำในตอนกลางของประเทศเริ่มลดลง และได้มีการเริ่มกระบวนการประเมินความเสียหายจริง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ Office of Insurance Commission (OIC) ได้ประมาณการในเบื้องต้นว่าความเสียหายในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 140,000 ล้านบาท รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งในจังหวัดอยุธยา ซึ่งยังคงอยู่ในขั้นตอนของการประเมินความเสียหาย ในกลุ่มบริษัทประกันวินาศภัยในประเทศไทย บริษัทประกันสัญชาติญี่ปุ่นที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยน่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมมากกว่าบริษัทไทย เนื่องจากมีการประกันความเสี่ยงภัยต่อทรัพย์สิน และประกันภัยความสูญเสียจากธุรกิจหยุดชะงักให้กับบริษัทผู้ผลิตญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ OIC ประมาณการว่า 80% ของประมาณการความเสียหายที่ 140,000 ล้านบาทได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันสัญชาติญี่ปุ่น โดยมีจำนวนเงินเอาประกันสูงถึง 456,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามจำนวนเงินเอาประกันยังถือว่าอยู่ในระดับไม่สูงนัก โดยคิดเป็นสัดส่วน 5% ของจำนวนวงเงินเอาประกันความเสี่ยงภัยต่อทรัพย์สินทั้งประเทศ ขณะที่ความเสียหายอาจอยู่ในระดับที่สูงกว่าที่คาดการณ์ ฟิทช์เชื่อว่าบริษัทประกันสัญชาติญี่ปุ่นไม่น่าจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจาก 85% ของการคุ้มครองได้มีการส่งต่อให้กับบริษัทรับประกันภัยต่อต่างชาติ จากสถิติประกันภัยของ OIC บริษัทประกันสัญชาติญี่ปุ่นที่น่าจะได้รับผลกระทบ รวมถึง กลุ่มบริษัทประกันภัย MS&AD ซึ่งมีการให้การคุ้มครองผ่านบริษัทลูก 2 แห่ง คือ บริษัท เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ไอโออิ กรุงเทพประกันภัย จำกัด และสาขา มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด โดยมีจำนวนเงินเอาประกันรวม 2.8 พันล้านบาท สำหรับการประกันความเสี่ยงภัยทุกประเภทต่อทรัพย์สิน (มีสัดส่วนอยู่ที่ 34% ของอุตสาหกรรม) ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2554 และ บริษัทประกันสัญชาติญี่ปุ่นอื่นๆอีก 2 แห่งที่น่าจะได้รับผลกระทบเช่นกันคือ บริษัท สมโพธิ์ เจแปน ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มบริษัทประกันภัย NKSJ และ บริษัท ประกันภัยศรีเมือง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่ม Tokio Marine Holding ซึ่งรวม 2 บริษัททำให้มีจำนวนเงินเอาประกันรวม 3.6 พันล้านบาท (ของสองบริษัทสัดส่วนอยู่ที่ 8.4% ของอุตสาหกรรม) อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมการคุ้มครองความเสี่ยงทุกประเภท บริษัทประกันสัญชาติญี่ปุ่นมีสัดส่วนความคุ้มครองในระดับที่ไม่สูงนักอยู่ที่ 19% ของอุตสาหกรรม ฟิทช์จะมีการออกบทวิจัยเพื่อแจ้งให้ทราบต่อไปถึงการประเมินระดับความเสียหายหากมีข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ Primary Analyst นฤมล ชาญชนะวิวัฒน์ Director +662 655 4763 บริษัท ฟิทช์เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด 55 ถนน วิทยุ ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 Secondary analyst Siew Wai Wan Senior Director +65 6796 7217 ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com การใช้อันดับเครดิตที่จัดทำโดยฟิทช์เรทติ้งส์มีข้อจำกัดและขอบเขตการใช้ ซึ่งข้อจำกัดและขอบเขตของการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวสามารถหาได้จาก HTTP://FITCHRATINGS.COM/UNDERSTANDINGCREDITRATINGS นอกจากนี้คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฎข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ