กทม.จับมือหลายหน่วยงานร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชุมชนที่มีปัญหาไล่รื้อ

ข่าวทั่วไป Wednesday January 14, 2004 10:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--กทม.
นายชาญชัย ภาวสุทธิการ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน กทม.เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการบางแวก เขตภาษีเจริญ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาที่ดินและที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับชุมชนที่ถูกไล่รื้อจากการบุกรุกที่ดินสาธารณะและที่เอกชนว่า ขณะนี้ การพัฒนาที่ดินประมาณ 12 ไร่ ภายในโครงการบางแวก ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนประมาณ 13 ล้านบาท จากการเคหะแห่งชาติ ในการดำเนินการถมที่ดินและปรับพื้นที่สำหรับการก่อสร้างบ้านพักอาศัยสาธารณูปโภคและสาธารณูปการพื้นฐาน ได้แก่ ถนน, ระบบท่อระบายน้ำ และระบบประปา — ไฟฟ้า เสร็จเรียบร้อยแล้วประมาณกว่า 90 % เพื่อรองรับประชาชน 155 ครัวเรือนใน 4 ชุมชนที่มีปัญหาถูกไล่รื้อ ได้แก่ ชุมชนบ้านปูน และชุมชนวัดอมรคีรี เขตบางพลัด, ชุมชนสี่พระยา เขตบางรัก และชุมชนศิริอำมาตย์ เขตพระนคร
สำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยนั้น สำนักพัฒนาชุมชนได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเขตภาษีเจริญในการออกแบบแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินภายในโครงการ โดยเฉพาะบ้านพักอาศัยแบบชั้นเดียวและ 2 ชั้น บนเนื้อที่ 16 ตร.ว. ที่มีลักษณะเหมือนกันเพื่อความสวยงามเป็นระเบียบ โดยใช้ค่าก่อสร้างประมาณตั้งแต่ 150,000 บาทขึ้นอยู่กับวัสดุก่อสร้าง และเพื่อบรรเทาความ เดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างบ้าน ธนาคารออมสินจึงเข้ามาดูแลในเรื่องบริการสินเชื่อเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยในวงเงิน 300,000 บาท และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนในวงเงินกู้ 150,000 บาท โดยวงเงินกู้ขึ้นอยู่กับแบบบ้านและคุณสมบัติของผู้กู้ และคาดว่าประชาชนใน 4 ชุมชน จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อเงินกู้และสามารถทยอยเริ่มก่อสร้างบ้านของตนได้ตั้งแต่เดือนเม.ย.47 เป็นต้นไป โดยได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการประสานความร่วมมือกับกรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานเจ้าของที่ดินในการขอขยายสัญญาเช่าที่ดินที่กำหนดระยะเวลาเช่า 3 ปี เป็นสัญญาเช่าที่ดินอย่างน้อย 20 ปี เพื่อประกอบการพิจารณาขอสินเชื่อเงินกู้จากธนาคารออมสิน
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับที่ดินทางเข้า — ออกโครงการบางแวก ซึ่งเป็นที่ดินของมิสซังโรมันคาทอลิก ขณะนี้ ได้ตกลงราคาซื้อขายที่ดินเรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้งบกลางของกรุงเทพมหานคร และต่อไป สนช. จะเร่งประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันพัฒนาที่ดินและที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนในชุมชนทั้ง 4 ได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ เพื่อมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีเทียบเท่ากับประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ