กรมควบคุมโรคสะท้อนปัญหาศูนย์พักพิงขนาดเล็กจากการลงพื้นที่บางกอกน้อยวอน!!ผู้พักพิงหากจำเป็นควรอพยพ

ข่าวทั่วไป Monday October 31, 2011 09:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--โฟร์ พี แอดส์ (96) กรมควบคุมโรคสะท้อนปัญหาศูนย์พักพิงขนาดเล็กจากการลงพื้นที่บางกอกน้อยวอน!!ผู้พักพิงหากจำเป็นควรอพยพ ชี้!!ถ้าสถานการณ์น้ำท่วมกทม.ถึงขั้นเลวร้าย ผู้พักพิงส่วนใหญ่อาจได้รับอันตราย สถานการณ์น้ำท่วมยังคงสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนชาวไทยในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกระดับ ต่างได้ร่วมผนึกกำลังทั้งแรงกายและแรงใจ ให้การช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัยในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการรับบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อนำไปช่วยเหลือแจกจ่ายให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน การร่วมเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย การจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และโรงพยาบาลสนามเพื่อให้บริการด้านสาธารณสุข รวมทั้งการเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้มีสถานที่พักพิง ในยามที่สภาพบ้านเรือนได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่าขณะนี้มีการเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมกระจายในพื้นที่ต่างๆแล้วกว่า 23 จังหวัด รวมประมาณ 433 ศูนย์ เพื่อรองรับประชาชนที่ประสบอุทกภัย แยกเป็นภาคอีสาน 2 จังหวัด ภาคเหนือ1 จังหวัดและภาคกลาง 20 จังหวัด สามารถรองรับผู้อพยพได้มากกว่า 1.4 แสนคน สำหรับกรุงเทพมหานครนั้น พบว่ามีการเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวทั้งโรงเรียนและวัด มากกว่า 230 แห่ง สามารถรองรับผู้ประสบภัยได้ประมาณ 100,000 คน แต่ถ้าหากสถานการณ์อุทกภัยเลวร้ายกว่านี้ มีการคาดการณ์ว่าอาจมีผู้ประสบภัยที่ต้องการอพยพมากกว่า 400,000 คน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวต่อว่าในสถานการณ์น้ำท่วมที่เข้าขั้นวิกฤตขณะนี้ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนทั้งสภาพความเป็นอยู่ และการดำรงชีวิต และคาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องรวมแรงร่วมใจกันเพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่ผู้ที่ประสบภัย และจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ มอบชุดปฐมพยาบาล สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ มุ้ง ยาทากันยุง ยาทาน้ำกัดเท้า หน้ากากอนามัยและคู่มือประชาชนให้แก่ผู้ประสบภัยในศูนย์พักพิงโรงเรียนวัดดุสิตารามเขตคลองบางกอกน้อยเป็นศูนย์พักพิงขนาดเล็กมีผู้อพยพอาศัยอยู่รวมกันประมาณ 200 คน ซึ่งเป็นศูนย์ที่ทางการได้สั่งยกเลิกและต้องมีการอพยพผู้คนแล้ว เนื่องจากมีน้ำท่วมขังสูง การเดินทางเข้าไปให้ความช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทางกรมควบคุมโรคจึงได้ประสานอาสาสมัครและกู้ภัยในพื้นที่ขอเรือมาช่วยลำเลียงอุปกรณ์ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆเพื่อเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ยังไม่ยอมอพยพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่และมีฐานะยากจน มีความเป็นห่วงที่อยู่อาศัย และมีความกังวลว่าหากอพยพออกจากพื้นที่ไปแล้วไม่รู้ว่าจะไปอาศัยอยู่ที่ไหน จากการสังเกตพบว่าศูนย์พักพิงแห่งนี้ยังมีกระบวนการจัดการที่ไม่ค่อยเป็นระบบ ทั้งเรื่องของหลักการตั้งศูนย์พักพิงที่ต้องขึ้นอยู่กับ ลักษณะประชากร เพศ วัย และสุขภาพ รวมถึงการจัดทำทะเบียนรายชื่อของผู้พักพิง ความรู้เกี่ยวกับช่องทางในการประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก การจัดการด้านขยะและสุขอนามัยของผู้พักพิง การนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกับผู้พักพิง และที่น่าเป็นห่วงคือปัญหาการดูแลเด็กเล็กในศูนย์ที่มีน้ำท่วมถึง ซึ่งถูกปล่อยให้เล่นน้ำตามลำพัง เพราะนอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว เด็กอาจพลาดพลั้งจมน้ำเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ผู้พักพิงมีการร้องขอยารักษาโรคเบื้องต้นหลายชนิด ได้แก่ ยาแก้ปวดเมื่อย ยาแก้ไอ ยาแก้เจ็บคอ ยาแก้อักเสบ แก้เครียด ยานอนหลับ ยาแก้ผดผื่นคันตามผิวหนัง ยาทาแผล ยาแก้ท้องเสีย ฯลฯ ส่วนปัญหาสุขภาพที่พบนอกจากการขาดยาของผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง การมีบาดแผลจากของมีคมบาด น้ำกัดเท้าแล้ว ยังมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เครียด นอนไม่หลับ เป็นไข้ อาการไอเรื้อรัง ตาแดง รวมทั้งอันตรายจากสัตว์มีพิษที่หนีน้ำมาฯลฯ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นระบบของการบริหารจัดการศูนย์ ปัญหาสุขภาพและการเจ็บป่วยของผู้พักพิง อาจเป็นเพราะความเครียดจากปัญหาอุทกภัยและความรู้สึกไม่คุ้นชินต่อสถานที่ของผู้พักพิง หรือการขาดประสบการณ์ของผู้นำที่ดูแลศูนย์ กรมควบคุมโรคจึงได้มอบเอกสารซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำหรับผู้พักอาศัยในศูนย์พักพิงมอบให้ผู้นำศูนย์ได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการต่อไป และได้ร้องขอให้ผู้นำศูนย์ชี้แจงให้ผูพักพิงได้เข้าใจ ถ้าหากมีความจำเป็นควรอพยพ เพราะหากสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯถึงขั้นเลวร้าย เกรงว่าผู้อพยพส่วนใหญ่ในศูนย์อาจได้รับอันตราย และหากศูนย์พักพิงในพื้นที่ใด ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องของอุปกรณ์และเวชภัณฑ์สำหรับการป้องกันโรค หรือมีข้อสงสัยเรื่องโรคและภัยสุขภาพสามารถติดต่อมาได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรคโทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0-2590-3333 อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวปิดท้าย ***ผู้ที่ต้องการอพยพหรือขอความช่วยเหลือเข้าศูนย์พักพิงติดต่อได้ที่ 1300 ศูนย์ประชาบดี หรือ ศปภ.พม. โทร. 02-504-3050 *** กลุ่มเผยแพร่ สำนักงานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค โทรศัพท์:0-2590-3862 / โทรสาร: 0-2590-3386

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ