กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--ไออาร์ พลัส
บิ๊ก TPOLY ส่งสัญญาณ Q3/54 แนวโน้มโตต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า จากการรับรู้รายได้จาก Backlog ในมือที่มีอยู่กว่า 5.7 พันลบ. พร้อมยืนยันปัญหาอุทกภัยไม่กระทบเหตุโครงการส่วนใหญ่อยู่นอกพื้นที่น้ำท่วม มั่นใจสิ้นปียังเดินหน้าปั๊มรายได้ 2.5 - 2.7 พันลบ. ส่วน Backlog รักษาระดับ 4.5 พันลบ.ได้เช่นกัน
นายเจริญ จันทรพลังศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPOLY ผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ เปิดเผยถึงแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3/2554 ว่า มีทิศทางดีต่อเนื่องจากไตรมาส 2/2554 จากการทยอยรับรู้รายได้จากงานในมือ (Backlog) ที่มีอยู่กว่า 5,700 ล้านบาท แบ่งเป็นภาคเอกชน 51% และงานภาครัฐ 49% ซี่งงานทั้งหมดจะรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ราว 25-30% ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้เป็นรายได้ในปี 2555-2556 จึงมั่นใจว่าในปีนี้จะทำรายได้ที่ 2,500-2,700 ล้านซึ่งบาทตามเป้าหมายที่วางไว้ได้
“หลังการรับรู้รายได้ในครึ่งปีหลังนี้ จะทำให้ Backlog ในปัจจุบันลดลงอยู่ที่ 4,350 ล้านบาท และจากเป้า Backlog ณ สิ้นปีที่บริษัทฯ เคยประกาศไว้อยู่ที่ 5 พันล้านบาท จึงเหลืออีกเพียง 650 ล้านบาทเท่านั้นที่ Backlog จะขึ้นมาอยู่ในระดับที่วางแผนไว้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างประมูลงานใหม่อีกราว 4-5 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นงานภาคเอกชนในกลุ่มคอนโดมีเนียม และชอปปิ้งมอลล์ มูลค่ารวมประมาณ 3 พันล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถชนะการประมูลได้งาน 20% ของมูลค่างานที่ยื่นประมูล ซึ่งจะสนับสนุนให้ Backlog อยู่ในระดับ 5,000 ล้านบาทตามแผนที่กำหนดไว้”
นายเจริญ กล่าวต่อถึงสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เนื่องจากโครงการก่อสร้างส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่ภาคใต้ และกรุงเทพชั้นใน แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ติดตามข่าวสารและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหานี้ไว้มากพอสมควรแล้ว จึงมั่นใจว่าจะดูแลโครงการต่างๆ ได้ดี แต่อาจจะมีผลกระทบในส่วนของการรับรู้รายได้ที่ช้าลงเนื่องจากผลกระทบทางดังกล่าว ที่เกิดขึ้นส่งผลให้วัสดุก่อสร้าง ขาดแคลนในระยะสั้น อีกทั้งผู้ประกอบการภาคเอกชนเลื่อนเวลาการเปิดตัวโครงการ แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนภาคราชการไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้เป็นหลัก
ส่วนแนวโน้มธุรกิจงานรับเหมาก่อสร้างในปีหน้า เขากล่าวว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากปีนี้ได้ ตามปริมาณงานที่ออกสู่ตลาด นอกจากนั้นเชื่อว่าหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลงจะส่งผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างทั้งระบบ เนื่องจากจะมีงานซ่อมแซมสาธารณูปโภคที่ได้รับความเสียหายเข้ามาเพิ่มขึ้นจากงานก่อสร้างที่มีอยู่เดิม ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับผลดีจากสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งTPOLY ด้วย ที่คาดว่าจะเติบโตจากปี 2554 ไม่น้อยกว่า 15-20% ตามมูลค่างานในมือที่เติบโตขึ้น โดยในปี 2555บริษัทจะหันมาประมูลงานในโครงการขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น และได้ตั้งเป้าหมาย Backlog ณ สิ้นปี 2555 อยู่ที่ 5,600 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจสังหาริมทรัพย์ยังคงอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งผลจากภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ ส่งผลกระทบให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจในการซื้อ ซึ่งทางบริษัทได้มีการต้องประเมินสถานการณ์จากผลกระทบครั้งนี้ อาจจะส่งผลกระทบให้มีการเลื่อนการเปิดตัวโครงการออกไปจาก แผนการเปิดตัวโครงการที่กำหนดไว้กลางปี 2555
ขณะที่ธุรกิจพลังงานยังคงรุกหน้าอย่างต่อเนื่องโดยคาดการณ์ว่าในปี 2555 จะสามารถเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวะมวลแห่งใหม่ได้อีก 1 ถึง 2 โครงการ โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ(Feasibility Study) จากที่ปัจจุบันบริษัทได้ทำการศึกษาอยู่ 4 โครงการ โดยได้เน้นการพัฒนาโครงการทางด้านภาคใต้เป็นหลัก ซึ่งโดยภาพรวมทางบริษัทจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าชีวะมวลแห่งแรกที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายในไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายเดิมที่ได้วางไว้ และโครงการที่ 2 และ 3 คาดว่าจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้ในปี 2557 โดยบริษัทได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวะมวลให้ได้ทั้งสิ้น 4 โครงการภายในปี 2557 และเริ่มรับรู้รายได้ทั้งหมดทุกโครงการภายในปี 2558
จากแผนธุรกิจที่บริษัทได้วางแผนไว้ในส่วนของการบริหารงานก่อสร้างอย่างมีคุณภาพ สามารถตรวจสอบและวิเคราะห์ ข้อมูล เพื่อควบคุมต้นทุน,กระแสเงินสด และบริหารบุคลากร อย่างเรียลไทม์การ กระจายธุรกิจไปสู่ธุรกิจพลังงานและอสังหาริมทรัพย์ จะส่งผลให้บริษัทมีความแน่นอนทางด้านรายได้และกำไรสุทธิที่มั่นคงมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลบริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPOLY
บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างประเภทศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และอาคารสูงเพื่อพักอาศัย โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงโรงงานผลิตไฟฟ้า โดยการให้บริการรับเหมาก่อสร้างดังกล่าวครอบคลุมถึงงานวิศวกรรมโยธา งานติดตั้งงานระบบวิศวกรรมต่าง ๆ และงานภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape) บริษัทมีรายได้จากการก่อสร้างในประเทศทั้งหมด แบ่งลูกค้าออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ภาคเอกชน ได้แก่ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ซึ่งลูกค้าภาคเอกชนของบริษัทจะเป็นลูกค้าที่มีชื่อเสียง และมีฐานะทางการเงินดี ส่วนกลุ่มที่สอง เป็นหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ หน่วยงานราชการและมหาวิทยาลัยรัฐบาล กลุ่มลูกค้าภาครัฐเป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีความเสี่ยงด้านการชำระเงิน