
วธ. โดย สศร. เผยโฉมทัพศิลปินไทย-ต่างชาติกลุ่มสอง 15 ศิลปิน / กลุ่มศิลปิน ร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยในงาน Thailand Biennale, Phuket 2025 ระหว่างเดือน พ.ย. 2568 - เม.ย. 2569 ดันภูเก็ต "เมืองศิลปะแห่งการสร้างสรรค์" เป็นหมุดหมายท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ส่งเสริมเศรษฐกิจชาตินางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวเปิดตัวศิลปินกลุ่มที่สองที่เข้าร่วมโครงการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Phuket 2025 โดยมีนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) วัฒนธรรมจังหวัดและผู้แทนวัฒนธรรมจังหวัดภาคใต้ นางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายกสมาคมศิลป์ภูเก็จ นายอริญชย์ รุ่งแจ้ง ผู้อำนวยการ ฝ่ายศิลป์ Mr. David Teh ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ นางสาวมาริสา พันธรักษ์ราชเดช ภัณฑารักษ์ Ms. Hera Chan ภัณฑารักษ์ นายปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2557 ศิลปินชาวไทยและศิลปินชาวต่างประเทศ ผู้แทนหน่วยงานรัฐ เอกชน แขกผู้มีเกียรติ เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ลานลม ชั้น 1 Central Phuket Festival จังหวัดภูเก็ตโดยก่อนพิธีแถลงข่าวได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Phuket 2025 ระหว่างสศร.และมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต โดยมีนางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้แทนสศร.และผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.หิรัญ ประสารการ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) ภูเก็ต เป็นผู้แทนมรภ.ภูเก็ต โดยมีหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและนายกสมาคมศิลป์ภูเก็จร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งบันทึกข้อตกลงนี้มุ่งเน้นความร่วมมือในการสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของสศร.และมรภ.ภูเก็ตในโครงการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Phuket 2025 ให้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จสูงสุดและเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนให้จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่ศิลปะสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นและสามารถเปิดพื้นที่ทางศิลปะร่วมสมัยเพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและจังหวัดภูเก็ตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสู่สาธารณชนทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) จัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Phuket 2025 ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2568 - เมษายน 2569 ภายใต้แนวคิด "นิรันดร์กัลป์" ซึ่งเปรียบเปรยถึงความรักที่มั่นคง อาจคงอยู่ชั่วขณะ การตระหนักถึงความเสื่อมสลาย จึงสอดคล้องกับการทำนุบำรุงรักษา เพื่อความยั่งยืนของธรรมชาติที่เป็นตัวแทนของความเป็นนิรันดร์ โดยนำศิลปะหลากหลายสาขามาเป็นเครื่องมือนำเสนอแนวคิดการสำรวจความสัมพันธ์อันยั่งยืนระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ต่อยอดภูเก็ตให้เป็นเมืองศิลปะแห่งการสร้างสรรค์ที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมในโครงการฯ มีใน 3 โซนหลัก ครอบคลุมทั้ง 3 อำเภอในจังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมคู่ขนานและกิจกรรมศาลาซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับแสดงผลงานนิทรรศการของกลุ่มศิลปินและองค์กรศิลปะทั้งในไทยและต่างประเทศทั้งหมด 13 ศาลา ตลอดระยะเวลา 5 เดือนของการจัดงานฯสำหรับการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Phuket 2025 มีเป้าหมายสำคัญคือ การนำศิลปินทั้งชาวไทยและต่างประเทศร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยทั้งหมด 65 คน จากประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ปัจจุบันมีศิลปินที่ได้รับคัดเลือกแล้ว 56 คน โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเปิดตัวศิลปินกลุ่มแรกไปแล้ว 30 คน และวันนี้เป็นการเปิดตัวศิลปินกลุ่มที่สอง 15 คน แบ่งออกเป็นศิลปินชาวไทย 5 คน ศิลปินต่างชาติ 8 คน และศิลปินกลุ่มต่างชาติ 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. อเล็กซ์ มอนทีธ และมารี ชีแฮน (Alex Monteith and Maree Sheehan) เมืองออกแลนด์ (ศิลปินกลุ่ม) 2. อาย็อง คิม (Ayoung Kim) เมืองโซล 3. โกเน็กซี ตามาลันเรอา (Koneksi Tamalanrea) เมืองตามาลัน 4. มาลิน ยิม (Maline Yim) เมืองเสียมเรียบ 5. พัฒนพงศ์ มณเฑียร หรือ โอ๊ต มณเฑียร (Oat Montien) กรุงเทพฯ 6. โอลิเวอร์ ลาริก (Oliver Laric) เมืองเบอร์ลิน 7. พอลลีน กุนิเยร์ ฌาร์แด็ง และฟีลกู๊ด โคโอเปอ เรทีฟ (Pauline Curnier Jardin and Feel Good Cooperative) เมืองมาร์แซย์ (ศิลปินกลุ่ม) 8. สะรุจ ศุภสิทธิเวช (Saroot Supasuthivech) กรุงเทพฯ9. เซอรีน ฮุย (Serene Hui) เนเธอร์แลนด์และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง 10. ศุภพงศ์ เหล่าธีรศิริ (Supapong Laodheerasiri) กรุงเทพฯ 11. สุพิชชา โตวิวิชญ์ (Supitcha Tovivich) กรุงเทพฯ 12. ทุย เทียน เหงียน (Thuy Tien Nguyen) เมืองฮานอยและเมืองแฟรงก์เฟิร์ต 13. วิลาวัณย์ เวียงทอง (Wilawan Wiangthong) จังหวัดเลย 14. อู๋ ฉี-อวี้ (Wu Chi-Yu) เมืองไทเป และ 15. จ้าว ย่าว (Zhao Yoa) เมืองปักกิ่งหลังจากนี้ สศร.จะคัดเลือกศิลปินเพิ่มเติมอีก 11 คน แบ่งเป็นศิลปินชาวไทย เอเชีย และต่างชาติ 6 คน และศิลปินชาวไทยซึ่งเป็นศิลปินภาคใต้ 5 คน เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินภาคใต้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับศิลปินนานาชาติเพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ และการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยไปสู่ระดับโลก
