
บริษัท เอ็นแอล ซูเปอร์แท็กซ์ จำกัด (มหาชน) ยืนยันธุรกิจ SMEs ไทยส่วนใหญ่เกิดความผิดพลาดเรื่องการรับรู้รายได้และรายจ่าย ส่งผลให้งบการเงินขาดความน่าเชื่อถือ รวมทั้งการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจที่ผิดพลาด และอาจถูกสรรพากรประเมินภาษีย้อนหลัง ย้ำผู้ประกอบการทำความเข้าใจด้านบัญชี พร้อมทั้งแนะหลักการรับรู้รายได้และรายจ่ายอย่างถูกวิธี
นายนิพนธ์ งามทรัพย์ทวีคูณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นแอล ซูเปอร์แท็กซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NL SUPER TAX เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาธุรกิจ SMEs จำนวนมากมีความผิดพลาดเรื่องการรับรู้รายได้และรายจ่ายที่ถูกต้องตามงวดบัญชี ส่งผลกระทบต่อความความน่าเชื่อถือของการทำงบการเงิน ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องรู้ว่าควรบันทึกรายได้และรายจ่ายในชั้นตอนไหนบ้าง เช่น บันทึกรายได้ควรทำเมื่อได้รับเงิน หรือบันทึกเมื่อส่งมอบสินค้า หรือบันทึกเมื่อออกใบแจ้งหนี้ฯลฯ หากเกิดความผิดพลาดในขั้นตอนนี้อาจทำให้งบการเงินของบริษัทไม่สะท้อนความเป็นจริง
สำหรับปัญหาของการรับรู้รายได้และค่าใช้จ่ายผิดงวด จะส่งผลกระทบต่อตัวเลขกำไรที่มีปัญหา เนื่องจากการรับรู้รายได้ช้าหรือเร็วเกินไปทำให้กำไรสุทธิบิดเบือน อาจส่งผลทำให้การตัดสินใจผิดพลาด เช่น คิดว่าธุรกิจกำลังขาดทุนทั้งที่จริง ๆ แล้วมีกำไร หรือคิดว่ามีกำไรมากจึงขยายกิจการ แต่จริง ๆ ธุรกิจกำลังประสบปัญหา นอกจากนี้แล้วอาจมีปัญหากับสรรพากร เนื่องจากสรรพากรยึดหลักการเกณฑ์สิทธิ์ ซึ่งหมายถึงรับรู้รายได้เมื่อมีสิทธิได้รับเงิน และรับรู้ค่าใช้จ่ายเมื่อมีภาระต้องชำระ ไม่ว่าจะมีการรับหรือจ่ายเงินจริงหรือไม่ หากบันทึกไม่ถูกต้องอาจถูกสรรพากรประเมินภาษีย้อนหลัง ที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อการวิเคราะห์ธุรกิจที่ผิดพลาด เพราะการรับรู้ค่าใช้จ่ายผิดงวดทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบผลประกอบการระหว่างช่วงเวลาได้อย่างถูกต้อง ทำให้การวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจผิดพลาดตามไปด้วย
นายนิพนธ์เปิดเผยเพิ่มเติมว่า หลักการรับรู้รายได้และค่าใช้จ่ายที่ถูกต้องนั้น แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ๆ คือ 1.การรับรู้รายได้ตามเกณฑ์สิทธิ์ หากเป็นธุรกิจขายสินค้าต้องรับรู้รายได้เมื่อส่งมอบสินค้า ส่วนธุรกิจบริการรับรู้รายได้เมื่อให้บริการเสร็จสิ้นหรือตามขั้นตอนความสำเร็จของงาน สำหรับธุรกิจรับเหมารับรู้รายได้ตามอัตราส่วนของงานที่ทำเสร็จ 2.การรับรู้ค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์สิทธิ์ จะต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดภาระผูกพันไม่ใช่เมื่อจ่ายเงิน เช่น ค่าสินค้ารับรู้เมื่อได้รับสินค่าแล้วแม้ยังไม่ได้ชำระเงิน ค่าบริการรับรู้เมื่อรับบริการเรียบร้อยแล้ว ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เช่น ค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคมควรบันทึกในเดือนธันวาคมแม้จะจ่ายจริงในเดือนมกราคม 3.การบันทึกรายได้ล่วงหน้าและค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า กรณีได้รับเงินก่อนส่งมอบสินค้าหรือบริการ จะต้องบันทึกเป็นรายได้รับล่วงหน้า ไม่ใช่บันทึกเป็นรายได้ ในกรณีจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าหรือบริการ ต้องบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้าไม่ใช่บันทึกเป็นค่าใช้จ่าย
กรณีศึกษาบริษัทออกแบบเว็บไซต์แห่งหนึ่ง รับเงินมัดจำค่าออกแบบเว็บไซต์ในเดือนธันวาคม แต่บันทึกเป็นรายได้ทั้งจำนวนทันทีทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มทำงาน ทำให้ผลประกอบการเดือนธันวาคมดูดีเกินจริง และเมื่อทำงานเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์เสร็จแล้วจึงไม่มีรายได้ตามสัดส่วนงานที่ทำ ส่งผลต่อการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจผิดพลาด ดังนั้น การรับรู้รายได้และค่าใช้จ่ายอย่างถูกต้อง ผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจทางบัญชีจึงจะช่วยให้เห็นภาพธุรกิจที่แท้จริงและตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังช่วยป้องกันการเกิดปัญหากับสรรพากร หากผู้ประกอบการไม่มั่นใจเรื่องการรับรู้รายได้และค่าใช้จ่ายควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชี เพราะความผิดพลาดในเรื่องดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้ สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 098-956-5256 หรือ https://nlsupertax.com