
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเข้มงวดตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษทั่วพื้นที่ 50 เขต และแนวทางดำเนินการกรณีพบการก่อสร้างอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษไม่ปฏิบัติตามระเบียบหลักเกณฑ์และข้อกฎหมายที่กำหนด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะการเข้าถึงพื้นที่ของรถดับเพลิง หน่วยกู้ภัย หรือรถพยาบาล หากเกิดเหตุอัคคีภัย หรือภัยพิบัติ ตามที่ประชาชนยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสภาองค์กรของผู้บริโภคว่า อาคารสูงและขนาดใหญ่พิเศษจะต้องมีผู้ตรวจสอบอาคารตามมาตรา 32 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ดำเนินการตรวจสอบอาคาร อาทิ โครงสร้างของตัวอาคาร ระบบไฟฟ้า ระบบแสงสว่าง ระบบแจ้งเตือนเพลิงไหม้ ระบบดับเพลิง ระบบระบายอากาศ ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบลิฟต์ หรือระบบอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงถนนที่กว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร (ม.) โดยรอบอาคาร โดยเจ้าของอาคารมีหน้าที่ต้องส่งรายงานการตรวจสอบอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นประจำทุกปี และหากผู้ตรวจสอบอาคารพบว่า อาคารไม่ปลอดภัยต่อการใช้งาน ไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือผู้ตรวจสอบอาคารพบว่า อาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารบางส่วน หรือบางรายการไม่ผ่านหลักเกณฑ์ หรือมาตรฐานที่กำหนด ผู้ตรวจสอบอาคารมีหน้าที่ต้องจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงอาคาร หรืออุปกรณ์ประกอบของอาคาร เพื่อให้อาคาร หรืออุปกรณ์ประกอบของอาคารเป็นไปตามหลักเกณฑ์ หรือมาตรฐานที่กำหนด ให้แก่เจ้าของอาคาร โดยเจ้าของอาคารจะต้องเสนอรายงานผลการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคาร แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นประจำทุกปี หากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจสอบรายงานที่ผู้ตรวจสอบอาคารให้ความเห็นต้องแก้ไขอาคาร เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะมีหนังสือให้เจ้าของอาคารแก้ไขอาคารให้มีความปลอดภัยก่อน จึงจะออกใบรับรองการตรวจสอบอาคาร (ร.1)
ทั้งนี้ การพิจารณาอนุญาตก่อสร้างอาคารสูงและขนาดใหญ่พิเศษต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และอาคารสูงเข้าข่ายเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ ต้องได้รับหนังสือรับรองการก่อสร้างอาคาร (อ.5) ก่อนการใช้งาน รวมทั้งระหว่างการใช้งานต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคารเป็นประจำทุกปี