วงมหาดุริยางค์ไทยเยาวชนแห่งจุฬาฯ วง "ChulaThaiYO" พร้อมโชว์บนเวทีระดับนานาชาติในงาน Thai Festival Tokyo 2025 ที่ญี่ปุ่น

ข่าวบันเทิง Friday May 9, 2025 15:28 —ThaiPR.net

วงมหาดุริยางค์ไทยเยาวชนแห่งจุฬาฯ วง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยส่งเสริมและสืบสานศิลปะดนตรีไทยโดยบูรณาการร่วมกับพันธกิจ CU Social Engagement : Arts and Cultural Communities จัดตั้งวงมหาดุริยางค์ไทยเยาวชนของมหาวิทยาลัย "ChulaThaiYO" ซึ่งเป็นวงดนตรีไทยประจำมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่สุดในกระบวนวิชาการได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของมหาวิทยาลัยไทย พร้อมแสดงศักยภาพบนเวทีการแสดงระดับนานาชาติ ในงาน Thai Festival Tokyo ครั้งที่ 25 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 10 - 11 พฤษภาคม 2568

วงมหาดุริยางค์ไทยเยาวชนแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University Thai Traditional Youth Orchestra : ChulaThaiYO) เป็นวงดนตรีแห่งความภาคภูมิใจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการแสดงออกทางดนตรีไทยของนิสิตจุฬาฯ ผ่านการบูรณาการระหว่างวิชาการกับศิลปวัฒนธรรมไทย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Impactful Growth และ International Growth ของจุฬาฯ โดยที่ "จุฬาฯ เติบโตรอบทิศ มีนิสิตเป็นศูนย์กลาง" ตามนโยบายและวิสัยทัศน์ของ ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ ที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมด้านศิลปวัฒนธรรมของนิสิต และเป็นการเปิดประสบการณ์ของนิสิตในระดับนานาชาติ

วงมหาดุริยางค์ไทยเยาวชนแห่งจุฬาฯ วง

รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ รองอธิการบดี จุฬาฯ เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีวงดนตรีสากลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในชื่อวง CU Symphony Orchestra ซึ่งเป็นวงดนตรีที่เป็นมาตรฐานดนตรีตะวันตกอยู่แล้วของมหาวิทยาลัย การจัดตั้งวงมหาดุริยางค์ไทยเยาวชนแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเปรียบเสมือนการเติมเต็มอีกมิติหนึ่งของศิลปวัฒนธรรม ด้วยการสร้างวงดนตรีไทยขนาดใหญ่ให้ก้าวขึ้นมาในระดับมาตรฐานเดียวกัน เป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่รักและสนใจดนตรีไทยได้มีพื้นที่แสดงออก สร้างองค์ความรู้ ถ่ายทอดวัฒนธรรม และมีส่วนขับเคลื่อนบทบาทของจุฬาฯ ในด้านศิลปวัฒนธรรมทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ

วงมหาดุริยางค์ไทยเยาวชนแห่งจุฬาฯ หรือวง ChulaThaiYO เป็นวงดนตรีไทยขนาดใหญ่เทียบเท่าวง Orchestra ก่อตั้งวงเมื่อปี 2567 อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเสริมสร้างพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่สอง (C2F) ปัจจุบันมีสมาชิก 50 คน ซึ่งเป็นนิสิตจากคณะครุศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้ามาเป็นนักดนตรีในวง โดยในอนาคตจะเปิดรับนิสิตจากทุกคณะในจุฬาฯ เข้ามาเป็นสมาชิกในวง ที่ผ่านมาวง ChulaThaiYO มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากการแสดงดนตรี "รวมใจภักดิ์ เฉลิมทศมจักรีนฤบดินทร์ : มหาดุริยางค์ไทย -สากล" เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับกองทัพไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2567 ณ หอประชุมจุฬาฯ

ผศ.ดร.วิชฏาลัมพก์ เหล่าวานิช ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ กล่าวถึงความพิเศษของ "วงมหาดุริยางค์ไทยเยาวชนแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" หรือวง ChulaThaiYO ว่าเป็นวงดนตรีไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบทบาทสะท้อนคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมไทย ถ่ายทอดอัตลักษณ์ของไทยผ่านการแสดงทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ตอบสนองพันธกิจของมหาวิทยาลัยในด้านศิลปวัฒนธรรมไทย

วง ChulaThaiYo ได้รับการฝึกซ้อมอย่างเข้มข้นโดย อาจารย์ ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติ และศิลปินแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ปรับวงและวางมาตรฐานให้วง ChulaThaiYO จะเป็นผู้นำด้านดนตรีไทยในอนาคต นอกจากงาน "รวมใจภักดิ์ เฉลิมทศมจักรีนฤบดินทร์ : มหาดุริยางค์ไทย-สากล" ซึ่งเป็นเวทีการแสดงครั้งใหญ่ที่ทำให้วง ChulaThaiYO มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแล้ว วง ChulaThaiYO ยังมีผลงานการแสดงดนตรีไทยที่สร้างความประทับใจแก่ผู้ชมมาแล้วในงานปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ฉลอง 108 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาฯ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568 ณ หอประชุมจุฬาฯ และงาน "สงกรานต์รวมใจ วิถีไทย จุฬาฯ สืบสานประเพณี เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ณ ศาลาพระเกี้ยว อีกด้วย

ผศ.ดร.วิชฏาลัมพก์ กล่าวว่า วง ChulaThaiYO ได้รับเกียรติอย่างยิ่งจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ให้เข้าร่วมการแสดงในงาน Thai Festival Tokyo 2025 ซึ่งเป็นงานเทศกาลไทยที่ใหญ่ที่สุดในต่างประเทศ มีผู้เข้าร่วมงานกว่าสองแสนคน ในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 - 11 พฤษภาคม 2568 ณ สวนสาธารณะโยโยงิ กรุงโตเกียว โดยวง ChulaThaiYO เป็นวงแรกในการแสดงเปิดบนเวทีหลักซึ่งมีความสำคัญที่สุดของเทศกาล และจะทำการแสดงอีก 2 รอบต่อวัน นอกจากนี้ วง ChulaThaiYO ยังจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมไทยกับ Kanda University of International Studies ภายใต้ "โครงการศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ สัญจรระดับนานาชาติ ครั้งที่ 1" ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2568 อีกด้วย

รายการแสดงที่วงดนตรี ChulaThaiYO จะทำการแสดงในงานนี้ประกอบด้วยบทเพลงไทยสร้างสรรค์ 4 ภาค และผลงานเพลงไทยที่ประพันธ์และเรียบเรียงขึ้นใหม่รวม 18 เพลง อาทิ

  • โหมโรงเฉลิมวชิรราช ระบำค้างคาว โดย ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติและศิลปินแห่งมหาวิทยาลัย
  • เพลงชุดเจ้าพระยา สายน้ำแห่งกาลเวลาและอารยธรรม โดย รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ รองอธิการบดี จุฬาฯ
  • การแสดงอื่น ๆ เช่น ฟ้อนที ตาลีกีปัส เซิ้งโปงลาง โห่กลองยาว-ค้างคาวกินกล้วย ระบำสุขสันต์วันสงกรานต์ การแสดงชุด เมขลา-รามสูร การแสดงชุดวิถีไทย การแสดงชุดฉุยฉายทศกัณฑ์ลงสวน และเชิดนอก เป็นต้น

การเข้าร่วมเวทีนานาชาติของวงมหาดุริยางค์ไทยเยาวชนจุฬาฯ "วง ChulaThaiYO" ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายต่างประเทศทั้งในระดับมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และหน่วยงานด้านวัฒนธรรม "โดยใช้ศิลปวัฒนธรรมเป็นสะพานเชื่อมไปยังความร่วมมือด้านอื่นๆ ต่อไปในอนาคต" ที่สำคัญ พร้อมเปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมกับเพื่อนนิสิตนานาชาติที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยใช้ดนตรีและการแสดงเป็นสื่อเชื่อมความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ