
มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัมเรศ เทพมา คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยนายบุญเยี่ยม เหลาสะอาด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ (ฝ่าย 3) ดำเนินกิจกรรมถอดบทเรียนการขับเคลื่อน "เมืองแห่งการเรียนรู้ด้วยการวิจัย" จากเครือข่ายเมืองและมหาวิทยาลัยที่ได้รับทุนสนับสนุนภายใต้กรอบการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้จาก บพท.

พ.ศ. 2567-2568 มีโครงการรับทุนเมืองแห่งการเรียนรู้จาก บพท. จำนวน 27 โครงการ ใน 21 พื้นที่ ทั่วประเทศ งานในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวน 53 คน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 ณ โรงแรม The Siamese Hotel Pattaya จังหวัดชลบุรี ภายในงาน อาจารย์บุญเยี่ยม เหลาสะอาด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ (ฝ่าย 3) กล่าวเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก ดร.ศิวัช บุญเกิด รองปลัดเทศบาลเมืองพัทยา กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน
กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการบรรยายถอดบทเรียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา หัวหน้าโครงการกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ประเทศไทย ได้บรรยายองค์ความรู้ที่สังเคราะห์จากงานวิจัยเมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บพท. พร้อมสรุปเป็นแนวทางพัฒนาเมือง ได้แก่ Checklist การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ และการเขียนใบสมัครเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO
ในช่วงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตัวแทนเมืองแห่งการเรียนรู้ที่มีแนวปฏิบัติที่น่าสนใจจาก 4 พื้นที่ ได้แก่
- เมืองฉะเชิงเทรา โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ครรชิต มาระโภชน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
- เมืองขอนแก่น โดย คุณรภัสสา พันธ์ภูงา ตัวแทนจากบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง KKTT จำกัด
- เมืองชลบุรี โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นวลวรรณ ทวยเจริญ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- เมืองมุกดาหาร โดย คุณศศิพงษา จันทรสาขา สมาคมเครือข่ายมุกดาหารเมืองสามธรรม
ได้นำเสนอประสบการณ์การขับเคลื่อนพื้นที่ของตน พร้อมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมจัดการความรู้ (KM) เพื่อระบุปัจจัยสู่ความสำเร็จ (Key Success Factors) บุคคลสำคัญในการขับเคลื่อน (Key Person) และอุปสรรคที่พบเจอ รวมถึงการทดลองใช้ Checklist การสมัครเข้าร่วม Learning City ของ UNESCO เพื่อทบทวนความพร้อมของพื้นที่ตนเอง
จากนั้น เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดเวทีอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์และวางแผนยกระดับการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ในประเทศไทย โดยมีผู้แทนจาก 12 พื้นที่ที่ได้รับทุนเข้าร่วม ภายในเวทีการอบรมฯ รองศาสตราจารย์ ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วย บพท. ฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร และอาจารย์บุญเยี่ยม เหลาสะอาด ได้ร่วมบรรยายแนวคิดและทิศทางการยกระดับและขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้
กิจกรรมยังประกอบด้วยการแบ่งปันกรณีศึกษาดีเด่น (Good Practice) จากนักวิจัยและภาคีเครือข่าย อาทิ รองศาสตราจารย์ ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา และคุณกังวาน เหล่าวิโรจนกุล จากบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) จำกัดพร้อมกิจกรรม Workshop ภาคบ่าย ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ร่วมออกแบบแนวทางขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการวิธีการประเมินเสริมพลัง "Empowerment Evaluation" เพื่อสร้างพลังและความยั่งยืนในการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ของประเทศไทยในระยะต่อไป