
ซีบีอาร์อี ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก รายงานว่า ตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ ในไตรมาส 1 ปี 2568 ยังคงเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากซัพพลายใหม่ ส่งผลให้อัตราพื้นที่ว่างสูงขึ้นและการแข่งขันระหว่างเจ้าของอาคารสำนักงานรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ซึ่งแรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ทั่วกรุงเทพฯ ได้เพิ่มมุมมองใหม่ในการตัดสินใจเรื่องการตั้งสำนักงาน โดยกระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ ประเมินลำดับความสำคัญและความต้องการใหม่ เนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัยเพิ่มสูงขึ้น
เมื่อแผ่นดินไหวได้เพิ่มความเร่งด่วนให้กับความเปลี่ยนแปลงของตลาดที่กำลังดำเนินอยู่ ซีบีอาร์อีได้เผยถึงสามปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ประการแรก ความปลอดภัยของโครงสร้างได้กลายเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผู้เช่าสำนักงาน ทั้งผู้เช่าปัจจุบันและผู้ที่กำลังมองหาพื้นที่ใหม่ โดย นางสาวมณีรัตน์ วิจิตรรัตนะ ผู้อำนวยการอาวุโส แผนกพื้นที่สำนักงาน กล่าวว่า "สิ่งที่ผู้เช่าปัจจุบันให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งคือ การสร้างความมั่นใจโดยเจ้าของอาคารสำนักงานว่าได้ดำเนินการตรวจสอบโครงสร้างอาคารอย่างละเอียดเรียบร้อยแล้ว สามารถประกาศได้ว่าอาคารมีความปลอดภัยตามมาตรฐานของกรุงเทพมหานคร และสามารถใช้งานได้ตามปกติ"
ประการที่สอง การสื่อสารที่มีคุณภาพและชัดเจนจากเจ้าของอาคารนั้นมีความสำคัญอย่างมาก ในช่วงหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ผู้เช่าคาดหวังให้เจ้าของอาคารแจ้งข้อมูลอัปเดตอย่างทันท่วงที ชัดเจน และกระชับ ผ่านช่องทางที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้เช่ารับทราบและมั่นใจเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังคาดหวังให้เจ้าของอาคารสร้างและเผยแพร่คู่มือสิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่ชัดเจน และเป็นส่วนหนึ่งในคู่มือเกี่ยวกับสำนักงานทั้งหมดสำหรับผู้เช่า หลังจากเกิดแผ่นดินไหว เจ้าของอาคารสำนักงานหลายรายได้แสดงให้เห็นถึงตัวอย่างที่ดี โดยการสื่อสาร ผ่านเทคโนโลยีและช่องทางหลากหลายที่มีอยู่อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันบนมือถือของอาคาร จอดิจิทัล โซเชียลมีเดีย และอีเมล เพื่อให้ผู้เช่าได้รับข้อมูลที่อัปเดตและมั่นใจในการตอบสนองของอาคาร
ประการที่สาม ซีบีอาร์อีสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความต้องการด้านพื้นที่สำนักงานและข้อกำหนดเพิ่มเติมจากบริษัทที่ก่อนหน้านี้ตัดสินใจที่จะอยู่ในอาคารที่เช่ามาเป็นเวลานาน นางสาวมณีรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "นับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหว บริษัทบางแห่งที่กำลังมองหาสำนักงานใหม่ได้เปลี่ยนความต้องการไปที่อาคารแบบโลวไรส์ หรือชั้นล่าง ๆ ของอาคารสูง นอกจากนี้ ซีบีอาร์อียังเห็นบริษัทจำนวนมากขึ้นพิจารณาที่จะย้ายออกจากอาคารเก่าบางแห่งที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ในขณะที่ธุรกรรมการเช่าสำนักงานบางส่วนยังคงดำเนินต่อไปตามแผนในหลายสัปดาห์หลังแผ่นดินไหว แต่มีบางส่วนที่ล่าช้าออกไป เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ต้องการความมั่นใจจากเจ้าของอาคารที่จะเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหม่ เนื่องจากมีบริการบางส่วนในอาคารที่ต้องหยุดชะงักไป"
โดยรวมแล้ว อาคารสำนักงานส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ แสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงและความทนทานของโครงสร้าง อย่างไรก็ตาม เจ้าของอาคารสำนักงานที่ให้ความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยของอาคารอย่างทันท่วงที มีการสื่อสารกับผู้เช่าอย่างชัดเจน และดำเนินการซ่อมแซมสิ่งที่จำเป็นอย่างรวดเร็ว สามารถเสริมสร้างสถานะของอาคารของตนเองให้โดดเด่นขึ้นในตลาดได้ ในทางตรงกันข้าม อาคารที่ไม่สามารถสื่อสารหรือให้ความมั่นใจแก่ผู้เช่าได้ดีในช่วงหลังเกิดแผ่นดินไหว มีแนวโน้มที่ผู้เช่าจะพิจารณาย้ายออกเพิ่มมากขึ้น
เมื่อ 'ความปลอดภัย' กลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะสื่อถึง 'คุณภาพ' ซีบีอาร์อีคาดว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะเพิ่มแรงกระตุ้นต่อแนวโน้ม "การย้ายสำนักงานไปสู่อาคารคุณภาพสูง" ในตลาดอาคารสำนักงานของกรุงเทพฯ มากขึ้น "เหตุการณ์นี้จะกระตุ้นให้เจ้าของอาคารเก่าที่สร้างมานานแล้วได้พิจารณาที่จะปรับใช้กลยุทธ์ทางเลือกสำหรับสินทรัพย์ของตนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน" นายนิโคลัส เว็ทเทวิงเคลผู้อำนวยการอาวุโส แผนกที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการและวิจัยตลาด และผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์ด้านสินทรัพย์ กล่าว