
สทนช. เร่งหารือปรับแผนการระบายน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ หลังกรมอุตุฯ ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป คาด ส.ค.- ต.ค. พายุเข้าเหนือ-อีสาน 1-2 ลูก ย้ำทุกหน่วยเน้นบริหารจัดการน้ำรูปแบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ พร้อมประสานข้อมูล MRCS และผู้ว่าราชการจังหวัดริมโขง เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก
วันนี้ (14 พฤษภาคม 2568) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 6/2568 โดยมี นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการ สทนช. พร้อมด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง (จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี อุดรธานี และสกลนคร ) ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมน้ำปิง ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ สทนช. เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนในวันพรุ่งนี้ (15 พฤษภาคม 2568) เป็นต้นไป ซึ่งภาพรวมปริมาณฝนปีนี้มีแนวโน้มใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยปกติหรือมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อยประมาณร้อยละ 5-10 โดยช่วง 3 เดือนแรกคือ ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม มีแนวโน้มมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ อีกทั้งในช่วงวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2568 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น จึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคใต้ริมฝั่งทะเลอันดามัน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือตอนล่าง จากนั้นปริมาณฝนจะเบาลง และมีแนวโน้มว่าในช่วงวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2568 ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงขึ้น ซึ่งพื้นที่ที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ จังหวัดเชียงราย บริเวณริมฝั่งแม่น้ำแม่สายที่อยู่ในระหว่างการขุดลอกลำน้ำที่จะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังและเตรียมการป้องกันอย่างใกล้ชิด และวันนี้ได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขงเข้าร่วมประชุมด้วยเพื่อรับทราบข้อมูลของผลคาดการณ์ดังกล่าว
"นอกจากนี้ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat หรือ MRCS) ได้มีการประเมินสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม บางพื้นที่มีแนวโน้มเสี่ยงเกิดน้ำล้นตลิ่งได้ ซึ่งสอดคล้องกับ
การคาดการณ์ปริมาณฝนที่พบว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2568 มีปริมาณฝนตกมากโดยเฉพาะในพื้นที่ริมแม่น้ำโขง ทั้งนี้ สทนช. ในฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้ประสาน MRCS เพื่อหารือแนวทางการป้องกัน และการประชุมหารือทวิภาคีด้านการบริหารจัดการน้ำระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีข้อสรุปที่จะจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ (Ad Hoc Flood Task Team) ระหว่างไทย- สปป.ลาว และ MRC เพื่อสนับสนุนข้อมูลสำหรับเตรียมการรับมือพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและการแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำในช่วงฤดูฝนนี้ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำแม่น้ำโขงร่วมกันในรูปแบบลุ่มน้ำ เนื่องจาก สปป.ลาว มีเขื่อนต่างๆ ที่อยู่ในลำน้ำสาขาจำนวนมากที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ทั้งนี้ หากแนวโน้มปริมาณฝนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงมีจำนวนมาก ต้องวางแผนเร่งพร่องและระบายน้ำออกไปก่อน จะช่วยบรรเทาผลกระทบน้ำล้นตลิ่งได้ พร้อมเตรียมการในเชิงป้องกันล่วงหน้า โดยเฉพาะการทำคันกั้นน้ำชั่วคราวหรือการจัดเรียงกระสอบทรายให้ได้มาตรฐานและมีความมั่นคงแข็งแรงให้สามารถรองรับแรงดันจากน้ำ และเตรียมการป้องกันในพื้นที่เปราะบาง เช่น โรงพยาบาลหรือสำนักงานประปาสาขาต่างๆ ของการประปาส่วนภูมิภาค โดย สทนช. จะเฝ้าติดตามและประเมินสถานการณ์ พร้อมประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง" เลขาธิการ สทนช. กล่าว
เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมในวันนี้ยังได้ติดตามแผนการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่างๆ ที่มีผลการระบายน้อยกว่าแผน เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ่างเก็บน้ำน้ำพุง อ่างเก็บน้ำน้ำอูน เป็นต้น ได้กำชับให้เร่งพร่องน้ำให้เป็นไปตามแผนเพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับปริมาณฝนที่ตกหนักในช่วงปลายปี เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ประเทศไทยอาจมีพายุจรเข้ามา 1-2 ลูก ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม แม้ว่าปัจจุบันปรากฏการณ์เอนโซ่ ยังมีค่าความเป็นกลาง แต่หลังจากนั้น ในช่วงปลายปี ประมาณช่วงเดือนตุลาคม ปรากฏการณ์ลานีญาอาจกลับมาและส่งผลให้ฝนตกเพิ่มมากขึ้น จึงต้องบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม วันนี้ได้แจ้งให้ทุกหน่วยงานได้รับทราบการคาดการณ์ ทั้งกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และจังหวัดต่างๆ เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน การคาดการณ์สถานการณ์แม่น้ำโขงจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และจะประสานงานจังหวัดอย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งสร้างการรับรู้ด้านสถานการณ์น้ำให้กับประชาชน เพื่อพร้อมรับมือฤดูฝนปีนี้ และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีต่อไป