กทม. เฝ้าระวังโควิด 19 ในกลุ่มเด็กเล็ก เน้นย้ำมาตรการป้องกันช่วงเปิดเทอม

ข่าวทั่วไป Monday May 19, 2025 08:47 —ThaiPR.net

กทม. เฝ้าระวังโควิด 19 ในกลุ่มเด็กเล็ก เน้นย้ำมาตรการป้องกันช่วงเปิดเทอม

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-4 ปี ซึ่งพบว่า มีรายงานการป่วยจำนวนมาก โดย สนพ.ได้ประสานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การติดเชื้อและจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด โดยตั้งแต่ เม.ย. - 8 พ.ค. 68 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการโรงพยาบาลในสังกัดรวม 1,974 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยใน (IPD) 11 ราย และผู้ป่วยนอก (OPD) 1,963 ราย (ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์) ซึ่ง สนพ. ได้เตรียมความพร้อมสถานพยาบาลในสังกัดทั้งด้านบุคลากรทางการแพทย์ เตียงรักษา วัคซีน ยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ที่มีโรคประจำตัว พร้อมทั้งได้เตรียมวัคซีนสำหรับควบคุมโรคตามฤดูกาล ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ หัด ไข้เลือดออก และอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัส สำหรับกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว และส่งทีมแพทย์และสาธารณสุขลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ เพื่อเน้นย้ำการป้องกันโรคเบื้องต้น เช่น การสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง

ส่วนมาตรการเชิงรุกในการรับมือกับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 สนพ.ได้เตรียมแนวทางเฝ้าระวังในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในสังกัด กทม. โดยเตรียมความพร้อมหากพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) เพื่อควบคุมและป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสามารถขยายจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยได้หากมีผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้และให้โรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 11 แห่ง บริการเชิงรุกและให้ความรู้แก่ประชาชนที่มารับบริการ รวมถึงชุมชนโดยรอบ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง เพื่อสร้างความตระหนักในการดูแลสุขภาพและป้องกันโรคโควิด 19 อย่างถูกต้อง รวมทั้งรณรงค์สร้างความเข้าใจแก่นักเรียน ผู้ปกครอง ครู และบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงเรียน โดยเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด หากมีอาการเสี่ยง เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ หรือมีน้ำมูก ควรตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK หากผลเป็นบวกควรแยกตัว สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและรีบพบแพทย์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถพบแพทย์ผ่านระบบ Telemedicine แอปพลิเคชัน "หมอ กทม." หรือปรึกษาเรื่องสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สนพ. โทร. 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง

นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาของสำนักงานโรคติดต่อทางสาธารณสุข สนอ. ระหว่างวันที่ 27 เม.ย. - 3 พ.ค. 68 พบผู้ป่วยรายใหม่ 2,967 ราย เป็นคนไทย 2,381 ราย และคนต่างชาติ 586 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 3 พ.ค. 68 มี 15,055 ราย คิดเป็น 275 คนต่อแสนประชากร เป็นคนไทย 11,700 ราย และคนต่างชาติ 3,355 ราย โดยพบผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว คิดเป็นอัตราป่วยตายร้อยละ 0.02 จำนวนผู้ป่วยที่ตรวจพบ แบ่งเป็นจากการตรวจด้วยวิธี RT-PCR 7,806 ราย และการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK 7,249 ราย จำแนกตามประเภทการรักษา ได้แก่ ผู้ป่วยใน (IPD) 1,696 ราย และผู้ป่วยนอก (OPD) 13,359 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 31-40 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 21-30 ปี และกลุ่มอายุ 41-50 ปี ตามลำดับ โดย สนอ.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขตต่าง ๆ ดำเนินมาตรการคัดกรองเด็กก่อนเข้าโรงเรียน วิธีปฏิบัติเมื่อพบเด็กป่วย การจัดการภายในโรงเรียน รวมถึงการปฏิบัติตัวเมื่อป่วย พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์โรคจากรายงานของสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมือการระบาดของโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

ทั้งนี้ สำนักงานโรคติดต่อทางสาธารณสุข และศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ได้จัดทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เพื่อให้บริการสอบสวนและควบคุมโรคกรณีที่เกิดการระบาด รวมทั้งเตรียมพร้อมด้านยาและเวชภัณฑ์และร่วมกับสถานศึกษาให้ความรู้และสุขศึกษาแก่นักเรียน ผู้ปกครอง ครู และบุคลากร เกี่ยวกับวิธีป้องกันตนเองจากเชื้อโควิด 19 ทุกสายพันธุ์ ตามมาตรฐานงานอนามัยโรงเรียน รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการหลัก DMHT ได้แก่ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ และตรวจวัดอุณหภูมิ จัดให้มีจุดบริการล้างมืออย่างเพียงพอทั่วบริเวณโรงเรียน ทำความสะอาดพื้นที่สัมผัสร่วม เช่น ราวบันได โต๊ะอาหาร ของเล่น ฯลฯ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง จัดให้มีการระบายอากาศที่ดีในห้องเรียน และหากพบเด็กป่วยสงสัยติดเชื้อให้ส่งเข้ารับการรักษาตามสิทธิ รวมทั้งหากพบเด็กป่วยเป็นกลุ่มก้อนตั้งแต่ 5 รายขึ้นไป ให้ประสานหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อสอบสวนโรคและเฝ้าระวังควบคุมการระบาดในวงกว้างต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ