
The Ocean Cleanup ร่วมกับเหล่าพันธมิตร ฉลองโอกาสครบรอบ 1 ปีแห่งความร่วมมือในการติดตั้งเรือ Interceptor(TM) ลำแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเชิงวิจัยเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่มีการสัญจรมากที่สุดสายหนึ่งของโลก
โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของพันธมิตรจากหลายภาคส่วน ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรุงเทพมหานคร, กรมเจ้าท่า, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย, บริษัท อีโคมารีน จำกัด, บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โคคา-โคล่า ประเทศไทย เพื่อศึกษาปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกที่ส่งผลต่อแม่น้ำและลำคลองสายต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ
Interceptor 019 ที่ติดตั้งในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเรือที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และมาพร้อมนวัตกรรมเทคโนโลยีของ The Ocean Cleanup ในการช่วยดักจับขยะในแม่น้ำ เพื่อช่วยสกัดขยะพลาสติกก่อนที่จะถูกพัดพาลงสู่มหาสมุทร
นอกจาก Interceptor 019 จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยขยะพลาสติกแล้ว ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมายังสามารถดักจับขยะได้มากกว่า 150 ตัน สร้างงาน 13 ตำแหน่ง และมีผู้เยี่ยมชมมากกว่า 450 คน ซึ่งรวมถึงหน่วยงานภาครัฐและนักเรียน นักศึกษา
แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของผู้คนและชุมชนมายาวนาน เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 11 ล้านคน และนับเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของเอเชีย
โครงการนี้ได้ติดตั้ง Interceptor 019 ที่ริมฝั่งแม่น้ำบริเวณหน้าสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ซึ่งเป็นช่วง 16 กิโลเมตรสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีลำคลองจำนวน 61 สายไหลมาบรรจบในช่วงนี้ ทำให้มีโอกาสที่ขยะพลาสติกจะถูกพัดพามาจากที่ต่าง ๆ ทั้งนี้ได้มีการเก็บข้อมูลของขยะที่ Interceptor 019 ดักจับได้ เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจประเภทของขยะพลาสติก และมุ่งศึกษาวิธีการสกัดและดักจับขยะพลาสติกก่อนที่จะไหลเข้าสู่ช่วง 50 กิโลเมตรสุดท้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะบรรจบกับอ่าวไทยและพัดพาขยะพลาสติกไปยังมหาสมุทร
โบแยน สแลต ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้ง The Ocean Cleanup กล่าวว่า "พันธกิจของ The Ocean Cleanup คือการกำจัดขยะพลาสติกในมหาสมุทรทั่วโลก และเราเชื่อว่าการแก้ปัญหาจากต้นทาง ซึ่งก็คือแม่น้ำ เป็นสิ่งสำคัญ ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในประเทศไทยที่นำเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญระดับโลกของเรา มาผนวกกับความรู้และการดำเนินงานในพื้นที่ ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยั่งยืนให้กับกรุงเทพฯ และที่อื่นๆ นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการป้องกันขยะพลาสติกไม่ให้ไหลลงสู่มหาสมุทร และแสดงให้เห็นว่าเมื่อเราผสานนวัตกรรมเข้ากับความร่วมมือของพันธมิตรในพื้นที่ สามารถยกระดับการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในระดับโลกได้"
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า "ความสำเร็จของ Interceptor 019 แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าสำคัญของเราในการปกป้องทะเลและชายฝั่งของไทยอย่างต่อเนื่อง เราตระหนักดีว่าพลาสติกในแม่น้ำส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศทางทะเล ความร่วมมือกับ The Ocean Cleanup ทำให้เราได้ข้อมูลวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการวางนโยบายและแผนอนุรักษ์ทะเลโดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสามารถดักจับขยะก่อนที่จะไหลลงสู่อ่าวไทยได้ถึง 184,000 กิโลกรัม ซึ่งพิสูจน์ว่าการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี สอดประสานกับกับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สามารถสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้"
"เราเชื่อว่าความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก จะช่วยลดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ซึ่งรวมถึงการปกป้องสัตว์ทะเลหายาก แนวปะการัง และระบบนิเวศทางทะเลโดยรวม นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความตระหนักรู้ และส่งเสริมให้ประชาชนรู้สึกอยากมีส่วนในการปกป้องมหาสมุทรร่วมกัน"
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า "โครงการติดตั้ง Interceptor 019 ของ The Ocean Cleanup กลายเป็นส่วนสำคัญในแผนการจัดการขยะแบบครบวงจรในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่สำคัญในการพัฒนาและการเชื่อมต่อเมืองของเรา ด้วยความมุ่งมั่นดังกล่าว กรุงเทพมหานคร กำลังปรับปรุงระบบการจัดการขยะในทุกระดับ นับตั้งแต่การส่งเสริมการคัดแยกขยะในครัวเรือน ไปจนถึงการกำจัดขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยใช้เทคโนโลยี ซึ่งรวมถึง Interceptor 019 ที่เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการดูแลแม่น้ำลำคลองอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ปัจจุบัน กทม. สนับสนุนการปฏิบัติงานที่จำเป็นด้านการขนถ่ายและจัดการคัดแยกขยะ นอกเหนือจากขยะพลาสติกที่ Interceptor ดักจับได้ ทาง กทม. ยังสามารถจัดการขยะในแม่น้ำได้ราว 3,400 ตันต่อปี และยังรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหามลพิษให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง"
นอกจาก Interceptor 019 จะดักจับขยะได้กว่า 150 ตันแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อให้ความรู้แก่ชุมชน โดยมีผู้เยี่ยมชมมากกว่า 450 คน ซึ่งรวมถึงนักเรียน นักศึกษา ซึ่งได้เรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกันมลพิษในแม่น้ำ โครงการนี้มีส่วนสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ในวงกว้าง เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่ผู้คนใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และทำให้เมืองสามารถพัฒนาเดินหน้าควบคู่กับการดูแลรักษาแม่น้ำลำคลองให้ใสสะอาดได้
รีติมา รัคยัน ผู้จัดการทั่วไป และรองประธานฝ่ายธุรกิจแฟรนไชส์ โคคา-โคล่า ประเทศไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา กล่าวว่า "โคคา-โคล่า ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ในประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือระดับภูมิภาคของเรากับ The Ocean Cleanup ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกเล็ดลอดสู่มหาสมุทร นอกจากประเทศไทยแล้ว เรายังสนับสนุนการติดตั้ง Interceptor ในมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย และทีมงาน โคคา-โคล่า ในแต่ละพื้นที่ยังสนับสนุน The Ocean Cleanup ในการดำเนินงานต่าง ๆ ในพื้นที่ด้วย"
ความสำเร็จครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ในการบูรณาการความเชี่ยวชาญและทรัพยากร ประกอบด้วย
หน่วยงานภาครัฐหลัก
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักในการประสานการดำเนินงานระหว่าง The Ocean Cleanup และหน่วยงานราชการอื่น ๆ พร้อมทั้งดูแลมาตรฐานการทำงานของเทคโนโลยี Interceptor ส่วน กรุงเทพมหานคร ดูแลรับผิดชอบการจัดเก็บและคัดแยกขยะที่ดักจับได้ ซึ่งในแต่ละปีกรุงเทพมหานครมีการจัดการขยะจากแม่น้ำลำคลองเฉลี่ย 3,400 ตัน เพื่อนำพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และกำจัดขยะอื่น ๆ อย่างเหมาะสม รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนในการไม่ทิ้งขยะลงสู่แหล่งน้ำ กรมเจ้าท่า กำกับดูแลด้านข้อกำหนดและมาตรฐานความปลอดภัย ส่วนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย สนับสนุนการเข้าถึงพื้นที่ติดตั้ง Interceptor 019
ผู้ดำเนินงานและพันธมิตรด้านองค์ความรู้
บริษัท อีโคมารีน จำกัด และ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) รับผิดชอบการติดตั้งและปฏิบัติการของเรือ Interceptor 019 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนด้านการวิจัยขยะพลาสติกที่ดักจับได้ เพื่อนำไปต่อยอดการจัดการปัญหาขยะในแม่น้ำลำคลองในประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย มีส่วนในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปีของ Interceptor 019 ในแม่น้ำเจ้าพระยา
ผู้สนับสนุนทางการเงิน
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากมูลนิธิ YP และมูลนิธิ Pathway ซึ่งให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาและติดตั้ง Interceptor 019 ร่วมกับ เดอะ โคคา-โคล่า คัมปะนี ซึ่งเคยเป็นพันธมิตรกับ The Ocean Cleanup ในการสนับสนุนการดำเนินพันธกิจในระดับโลก