บุหรี่ไฟฟ้า : วัยใสเสี่ยงปอดพัง

ข่าวทั่วไป Friday May 23, 2025 13:57 —ThaiPR.net

บุหรี่ไฟฟ้า : วัยใสเสี่ยงปอดพัง

จากสถานการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนไทยกำลังน่าวิตกอย่างยิ่ง อาจกล่าวได้ว่าเป็นสถิติที่พุ่งแรงที่สุดในรอบ 10 ปี ปัจจุบัน พบว่าในวัยรุ่นไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5 เท่า ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคพบว่าในปีพ.ศ. 2558 เยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 3.3 แต่ในปีพ.ศ. 2565 ตัวเลขพุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 17.6 และล่าสุดในปี 2567 พบว่าเยาวชนไทยอายุ 6 -30 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 18.67 โดยสาเหตุหลักมาจากภาพลักษณ์ของบุหรี่ไฟฟ้าที่สื่อต่างๆ พยายามนำเสนอว่า "ปลอดภัย" ไม่มีควัน มีกลิ่นหอม และรสชาติหลากหลาย และส่งผลถึงข้อมูลที่พบว่า เพศหญิงและเยาวชนในระดับประถมศึกษา หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น และยังพบว่า เยาวชนอายุ 9-12 ปี เป็นกลุ่มอายุต่ำสุดที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อนนั้นจะเป็นระดับมัธยมศึกษา เป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวล

บุหรี่ไฟฟ้า : วัยใสเสี่ยงปอดพัง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาธกา พิมพ์รุณ อาจารย์ประจำภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และที่ปรึกษาชมรมนักศึกษาพยาบาลในการสร้างสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวถึงสาเหตุหลัก มาจากกลุ่มเพื่อน เพราะวัยรุ่นนั้น เพื่อนคือบุคคลที่สำคัญที่สุด และมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม การชักชวนในการลองผิดลองถูก หรือความอยากรู้อยากลองที่เป็นไปตามวัย รวมถึง Social Media ที่โฆษณาชวนเชื่อให้เกิดความน่าสนใจ และบางสื่อนำเสนอให้เกิดการเข้าใจผิด เช่น "ช่วยเลิกบุหรี่ได้" นอกจากนี้ยังพบว่าเยาวชนไม่รับรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าเหมือนในอดีต ส่งผลให้ยอดผู้ใช้เพิ่มขึ้นสวนทางกับการลดลงของผู้สูบบุหรี่ทั่วไป และในปัจจุบันการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เยาวชนหาซื้อบุหรี่ไฟฟ้าง่าย โดยที่ผู้ปกครองไม่รับรู้

ความอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ส่งผลกระทบต่อร่างกายไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา สารเคมีในบุหรี่ไฟฟ้า ก็คือ สารนิโคติน เมื่อร่างกายได้รับสารนิโคตินมาก และได้รับในระยะยาว จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรา ดังนี้

ระบบการหายใจ - โรคปอดอักเสบ ปอดอุดกั้นเรื้องรั้ง และส่งผลต่อระบบการหายใจ จนลามไปถึงอาจกลายเป็นโรคมะเร็ง แม้ว่าในร่างกายเด็กยังอาจไม่พบว่าจะเป็นมะเร็ง แต่จะส่งผลถึงอนาคต เพราะเกิดจากการสะสมสารเคมีต่างๆ ในร่างกายมากขึ้น

ระบบสมองและประสาท - โดยทั่วไปคนปกติ สมองจะได้รับการพัฒนาจนถึงอายุ 25 ปี แต่ถ้าได้รับสารที่ทำให้การทำงานของสมองลดลง ความจำ สมาธิสั้น อารมณ์ซึมเศร้าได้ง่าย

ตัวอย่างกรณีศึกษา ผู้ป่วยที่เคยเจอในโรงพยาบาล - หายใจเหนื่อย หอบ ไอเป็นเลือด มีอาการหายใจเต้นผิดจังหวะ และตัวอย่างกรณีที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามาก และใช้สารเสพติด ทำให้มีอาการซึมเศร้า หรืออีกกรณีศึกษา คือ สูบบุหรี่มาตั้งแต่อายุ 12 ปี จนถึงอายุ 19-20 ปี มีอาการไอเป็นเลือด จนต้องเข้ารับการรักษา

จากกรณีศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงว่าเยาวชนเริ่มต้นจากการลิ้มลองบุหรี่ไฟฟ้า และมีโอกาสที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการติดยาเสพติดอื่นๆ ในอนาคต เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กัญชา ยาบ้า เป็นต้น หรืออีกนัยหนึ่งในบุหรี่ไฟฟ้านั้น มีการใช้น้ำยาเคมีอื่นๆ ผสม เช่น กัญชา ยาอี ยาเค ทำให้เยาวชนติดสารเสพติดต่างๆ เหล่านี้ไปด้วยและส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวโดยที่เยาวชนนั้นแทบไม่รู้ตัว

หากในวันนี้เยาวชนอยากหันมาเลิกใช้บุหรี่ไฟฟ้า สุขภาพร่างกายของน้องๆ จะสามารถฟื้นตัวได้เร็ว หากเราหยุดสูบบุหรี่ได้เร็ว ภายหลัง 24 ชั่วโมง สารนิโคตินจะหายออกจากร่างกาย ทำให้การหายใจโล่งขึ้น ความรู้สึกการรับรส รับกลิ่นจะกลับมา การเคลื่อนไหวร่างกายสะดวกขึ้น ออกกำลังกายได้เต็มที่ ไม่มีอาการเหนื่อยหอบ จากผลลัพธ์เหล่านี้ จะเห็นว่าหากหยุดสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว สุขภาพจะดีขึ้นในทุกวัน และหากเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้า 1 ปี จะลดอัตราการเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ หรือมะเร็ง เพราะโรคเหล่านี้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 90% ทั่วโลก

กล่าวได้ว่า บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายและโทษไม่ต่างจากบุหรี่ หากผู้ปกครองหรือพ่อแม่ กำลังสงสัยว่าลูกใช้บุหรี่ไฟฟ้า สิ่งแรกที่ต้องมีเลย คือ "สติ" ใช้หลักการพูดคุย มีเหตุผล เปิดใจรับฟัง บางครั้งเยาวชนอาจจะกำลังหลงผิดหรือยังไม่เข้าใจพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้ามากนัก และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้ปกครองควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก ท้ายสุดนี้ อยากฝากถึงน้องๆ "มาเลิกบุหรี่ไฟฟ้ากันเถอะ เพื่อประโยชน์ของตัวเองและครอบครัว"


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ