สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอนและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม เปิดเวทีเสวนาสาธารณะว่าด้วย THAILAND TAXONOMY 2.0

ข่าวทั่วไป Friday July 4, 2025 14:48 —ThaiPR.net

สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอนและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม เปิดเวทีเสวนาสาธารณะว่าด้วย THAILAND TAXONOMY 2.0

  • Thailand Taxonomy ระยะที่สองขยายขอบเขตให้ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจเพิ่มเติม 4 กลุ่ม แต่หลักเกณฑ์ด้านการนำไปปรับใช้ยังไม่รัดกุม โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและการจัดการของเสีย ที่กรอบการประเมินปัจจุบันยังไม่คำนึงถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ สวัสดิภาพสัตว์ และผลกระทบตลอดห่วงโซ่อุปทาน
  • ภาคประชาสังคมแสดงความกังวลต่อความเสี่ยงในการฟอกเขียว (greenwashing) จากการลดทอนมาตรฐานหลักเกณฑ์ Do No Significant Harm (DNSH) และ Minimum Social Safeguards (MSS) โดยชี้ว่ากิจกรรมบางประเภทแม้จะผ่านเกณฑ์ในเชิงเทคนิค แต่ยังคงสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการโรงไฟฟ้าขยะและกิจกรรมในภาคปศุสัตว์
  • มีข้อเรียกร้องให้คณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน สานต่อกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปิดรับฟังความเห็นจากภาคประชาสังคม การเปิดเผยแผนลดผลกระทบอย่างโปร่งใส และการพัฒนาระบบผู้เสนอความเห็นอิสระเพื่อเสริมกลไกความโปร่งใสและความรับผิดชอบในระยะยาว
สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอนและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม เปิดเวทีเสวนาสาธารณะว่าด้วย THAILAND TAXONOMY 2.0

สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (Zoological Society of London: ZSL) จัดเสวนาสาธารณะหัวข้อ "Thailand Taxonomy 2.0: ช่องว่าง ข้อสะท้อน และมุมมองจากภาคประชาสังคม" ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ภายใต้โครงการ UK PACT (Partnering for Accelerated Climate Transitions) โดยร่วมมือกับพันธมิตรโครงการ ได้แก่ บริษัท ป่าสาละ จำกัด (Sal Forest) แนวร่วมทางการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand: FFT) องค์กร Madre Brava และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) โดยงานเสวนาในครั้งนี้ได้เปิดเวทีให้ตัวแทนจากภาคประชาสังคม สถาบันวิจัย และองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาส ว่าด้วยการปรับใช้ Thailand Taxonomy ระยะที่สอง

งานเสวนาดังกล่าวได้จัดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุมคนทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น โดย Thailand Taxonomy 2.0 หรือมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (มาตรฐานการจัดกลุ่มฯ) ระยะที่ 2 ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ได้ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมอีก 4 ภาคเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาคเกษตร ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคการผลิต และภาคการจัดการของเสีย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อวางแนวทางการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืนและน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในกว่า 20 ประเทศทั่วโลกที่พัฒนามาตรฐานการจัดกลุ่มฯ ของตนเองเพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Thailand Taxonomy ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น แต่ยังมีความท้าทายด้านเกณฑ์การประเมินและการนำไปใช้ในทางปฏิบัติ

ในการประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจใดเข้าข่ายว่าเป็น "กิจกรรมสีเขียว" Thailand Taxonomy ใช้ระบบจำแนกประเภทแบบ "สัญญาณไฟจราจร" ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง (ช่วงเปลี่ยนผ่าน) และสีแดง ซึ่งเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยใช้หลักการสำคัญคือ Do No Significant Harm (DNSH) และ Minimum Social Safeguards (MSS)

ดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐานการจัดกลุ่มฯ ในงานเสวนาครั้งนี้ โดยได้นำเสนอภาพรวมของโครงสร้างมาตรฐานการจัดกลุ่มฯ ฉบับใหม่ ความสอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืนระดับสากล และกลไกการดำเนินงานในประเทศไทย

ดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย อธิบายว่า "Thailand Taxonomy 2.0 พัฒนาขึ้นผ่านกระบวนการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพันธมิตรระหว่างประเทศ และข้อเสนอแนะจากภาคประชาสังคมในประเทศ โดยแม้ว่าแนวทางจะตั้งอยู่บนหลักวิทยาศาสตร์ มีความโปร่งใส และสามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของไทยได้ แต่การปรับใช้มาตรฐานสากลในบางภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจที่เพิ่งถูกเพิ่มเข้ามา ยังคงมีความท้าทาย เมื่อบริบทด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มาตรฐานการจัดกลุ่มฯ ฉบับนี้จึงถูกออกแบบให้เป็นเอกสารที่สามารถปรับปรุงได้ (living document) เพื่อให้ทันสมัยต่อสถานการณ์ ปลดล็อกโอกาสด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน และช่วยนำทางการเปลี่ยนผ่านจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืนไปสู่กิจกรรมที่ยั่งยืน"

ต่อมา ได้เปิดเวทีพูดคุยให้ตัวแทนจากพันธมิตรโครงการ ได้แก่ ZSL, FFT, Madre Brava, TDRI และมูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อ Thailand Taxonomy 2.0 โดยเฉพาะประเด็นความกังวลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ DNSH และ MSS รวมถึงความเสี่ยงในการฟอกเขียว (greenwashing) ที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่อนปรนมาตรฐานใน มาตรฐานการจัดกลุ่มฯ ระยะที่ 2 นี้

สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าทีมวิจัย แนวร่วมทางการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย กล่าวว่า "เราขอขอบคุณ UK PACT ที่สนับสนุนกิจกรรมที่ช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างเป็นธรรม Thailand Taxonomy ถือเป็นแนวปฏิบัติที่มีศักยภาพ แต่หากจะให้เกิดประสิทธิผลจริง จำเป็นต้องมีความโปร่งใส ตั้งอยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และสะท้อนความเสี่ยงที่เกิดขึ้นบนโลกความเป็นจริง ซึ่ง ณ ตอนนี้ เรายังเห็นช่องว่าง เช่น กิจกรรมที่แม้จะผ่านเกณฑ์ แต่ยังสามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในระยะต่อไป เราเสนอให้มีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น มีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาท เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและความรับผิดชอบในระบบโดยรวม"

วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้อำนวยการประเทศไทย Madre Brava กล่าวเสริมว่า "ภาคเกษตรมีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังไม่ได้รับการกล่าวถึงอย่างเพียงพอในเอกสารฉบับนี้ แม้มาตรฐานการจัดกลุ่มฯ จะสื่อถึงผลกระทบจากภาคปศุสัตว์ แต่ยังมีช่องว่างสำคัญ เช่น ประเด็นห่วงโซ่อุปทานและสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เราจึงขอเสนอให้มีการนำหลักการเปลี่ยนผ่านการบริโภคโปรตีนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในมาตรฐานการจัดกลุ่มฯ เพื่อให้การผลิตอาหารในประเทศไทยสอดคล้องกับข้อตกลงปารีส"

ปุณญธร จึงสมาน นักวิจัยโครงการพลาสติก มูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า "การบรรจุภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการจัดการของเสียไว้ใน Thailand Taxonomy 2.0 ถือเป็นก้าวสำคัญ แต่จำเป็นต้องก้าวข้ามการจำแนกตามเกณฑ์ทางเทคนิคและเสนอการปฏิรูปปัญหาเชิงระบบ การลงทุนและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกในปัจจุบันมักเน้นไปที่การจัดการของเสียโดยไม่ได้แก้ไขสาเหตุหลักของปัญหา ซึ่งก็คือการผลิตมากเกินไป นอกจากนี้ แนวทางแก้ไขที่ผิดทาง เช่น การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน จะทำให้มีความต้องการขยะมากขึ้น ลดแรงจูงใจในการลดการผลิตพลาสติกลง และก่อให้เกิดการผูกขาดคาร์บอนจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อีกทั้งยังผลิตออกมาในอัตราที่ไม่ยั่งยืน หากมาตรฐานการจัดกลุ่มฯ สามารถป้องกันและปฏิเสธการใช้แนวทางแก้ไขที่ผิดทางได้ ภาคการเงินก็จะสามารถช่วยพลิกวิกฤตขยะพลาสติกและสภาพอากาศ"

Thailand Taxonomy 2.0 และก้าวต่อไปของเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน

งานเสวนาปิดท้ายด้วยข้อเรียกร้องให้คณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ทบทวนและเสริมความชัดเจนของเกณฑ์ DNSH และ MSS ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นในระยะถัดไป พร้อมทั้งเสนอให้เดินหน้ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

เมย์ โม วาฮ์ ผู้อำนวยการสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย กล่าวว่า "ZSL ภูมิใจที่ได้สนับสนุนเวทีเสวนาในครั้งนี้ ภายใต้โครงการ UK PACT ซึ่งตลอด 17 ปีที่ ZSL ได้ดำเนินงานในประเทศไทย เรามุ่งส่งเสริมการเงินที่คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกับพันธมิตร รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้กำหนดแนวทาง Thailand Taxonomy โดยเรามีความเห็นว่ามาตรฐานการจัดกลุ่มฯ ของประเทศไทยสามารถก้าวไปไกลกว่าการเป็นเพียงเครื่องมือด้านการเงินสีเขียว โดยมีศักยภาพในการส่งเสริมการอนุรักษ์ถิ่นอาศัยและสายพันธุ์ต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น การเสริมสร้างตัวชี้วัดด้านความหลากหลายทางชีวภาพและกลไกคุ้มครองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ