กทม. ชี้โรคผื่นกุหลาบไม่ใช่โรคติดต่อ เร่งส่งเสริมความรู้การป้องกัน-รักษาที่ถูกต้อง

ข่าวทั่วไป Monday July 7, 2025 17:13 —ThaiPR.net

กทม. ชี้โรคผื่นกุหลาบไม่ใช่โรคติดต่อ เร่งส่งเสริมความรู้การป้องกัน-รักษาที่ถูกต้อง

นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตือนเฝ้าระวังโรคผื่นกุหลาบระบาดในช่วงฤดูฝนว่า กทม. ได้ให้ความรู้แก่บุคลากรทางสาธารณสุขให้รับทราบลักษณะและอาการของโรค เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง แต่เนื่องจากไม่ใช่โรคติดต่อจึงไม่มีการแพร่ระบาดของโรคผื่นกุหลาบในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยผู้ป่วยโรคผื่นกุหลาบสามารถอยู่อาศัยร่วมกับบุคคลอื่นในครอบครัวได้ตามปกติ อีกทั้ง สนอ. ได้ส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรค ลักษณะอาการ ข้อควรระวัง รวมทั้งวิธีป้องกันตนเองให้ปลอดจากโรคผื่นกุหลาบผ่านช่องทางและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งมักพบบ่อยในช่วงฤดูฝน

ทั้งนี้ โรคผื่นกุหลาบเป็นโรคผิวหนังมีอาการเฉียบพลัน ไม่ใช่โรคติดต่อ มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส ผื่นมีลักษณะเฉพาะ รูปร่างกลม หรือรี กระจายเป็นแนวตามร่องบนผิวคล้ายกับลักษณะของต้นสน โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดในคนช่วงอายุ 10-35 ปี พบได้ในทุกเชื้อชาติ พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผื่นมักเกิดอยู่นานประมาณ 6-8 สัปดาห์ สามารถหายได้เอง ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นนานถึง 5 เดือน หรือมากกว่า มักเกิดขึ้นบริเวณลำตัวและมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ บางครั้งอาจพบบริเวณคอ หรือแขนขาส่วนบนได้ โดยมักจะเกิดนำผื่นอื่น ๆ เป็นชั่วโมง หรือวัน ลักษณะเป็นผื่นเป็นสีชมพู หรือสีน้ำตาล อาจจะมีขอบยกเล็กน้อย ขนาดประมาณ 2-4 เซนติเมตร (ซม.) แต่บางกรณีอาจมีขนาด 1 ซม. หรือใหญ่ถึง 10 ซม. ตรงกลางของผื่นมีขุย ขนาดเล็ก ขอบขยายใหญ่ขึ้น ประมาณร้อยละ 5 ของคนไข้มีอาการนำมาก่อน เช่น ปวดหัว มีไข้ ปวดข้อ ปวดเมื่อย อาจพบตุ่มหนองเล็ก ๆ ในช่วงแรกของโรค มักไม่พบผื่นบริเวณหน้า มือและเท้า อาการคันในโรคผื่นกุหลาบพบได้ประมาณร้อยละ 25

สำหรับผู้ป่วยโรคผื่นกุหลาบมักไม่มีอาการแสดงและสามารถหายได้เองโดยไม่ทิ้งร่องรอย การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการเป็นหลัก การใช้ครีมชุ่มชื้นผิวที่เหมาะสม ร่วมกับยาทาสเตียรอยด์ หรือยารับประทานในกลุ่ม Antihistamines สามารถช่วยลดอาการคันได้ แต่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง การรับประทานยาในกลุ่มสเตียรอยด์ช่วงสั้น ๆ การฉายแสง UVB (Narrowband or broadband) สามารถช่วยควบคุมโรคได้ อย่างไรก็ตาม ลักษณะของผื่นกุหลาบค่อนข้างคล้ายกับผื่นโรคอื่น ๆ จึงอาจสร้างความสับสนเกี่ยวกับอาการ และอาจทำให้ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้น หากรู้สึกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกาย และเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและป้องกันการลุกลามทั้งอาการผื่น หรืออาการอื่น ๆ ควรรีบเข้าพบแพทย์และทำการรักษาโดยทันที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ