
ในห้วงเวลา 75 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นดั่งสายใยอันแนบแน่นที่ถักทอขึ้นจากมรดกทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน วัฒนธรรมที่หยั่งรากลึก และการเดินทางไปมาหาสู่กันที่นับวันจะยิ่งใกล้ชิดมากขึ้น เปรียบเสมือนภาพวาดที่งดงามที่บอกเล่าเรื่องราวความผูกพันอันลึกซึ้งผ่านปลายพู่กันของศิลปิน สะท้อนถึงมิตรภาพและความร่วมมือกันระหว่างสองประเทศที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การสร้างสรรค์นิทรรศการครั้งประวัติศาสตร์ ที่บอกเล่าเรื่องราวมิตรภาพริมฝั่งโขงผ่านงานศิลปะอันงดงาม

รากเหง้าทางประวัติศาสตร์: มิตรภาพบนแผ่นดินอุษาคเนย์
ย้อนกลับไปในอดีต ดินแดนที่ปัจจุบันเป็นประเทศไทยในภาคเหนือบางส่วนและ สปป.ลาว เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรล้านนาและอาณาจักรล้านช้าง ก่อนที่อาณาจักรล้านช้างจะแยกเป็นอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ล้านช้างหลวงพระบาง และล้านช้างจำปาศักดิ์ ทำให้ทั้งสองประเทศมีความคล้ายคลึงกันทั้งในด้านภาษา วรรณกรรม ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี สะท้อนให้เห็นถึงความใกล้ชิดสนิทแนบดังคำเปรียบเปรยแต่โบราณที่ว่า "ไปเอาพริกที่บ้านเหนือ ไปเอาเกลือที่บ้านใต้"
ไทย-ลาว มีความผูกพันกันมามายาวนานตั้งแต่โบราณกาลราว 465 ปี ดังจะเห็นได้จากพระธาตุศรีสองรัก อ.ด่านซ้าย จ.เลย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรไมตรีระหว่างกรุงศรีสัตนาคนหุต ภายใต้การปกครองของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กับกรุงศรีอยุธยาในยุคสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2103 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2106 เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยและชาวลาวให้ความเคารพนับถือ มาตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน
แม้ทั้งสองประเทศจะมีความผูกพันกันยาวนาน แต่ราชอาณาจักรไทยกับ สปป.ลาว เพิ่งสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2493 หลังจากที่ สปป.ลาวได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2492 ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้เข้าสู่ยุคใหม่ เริ่มต้นด้วยการสถาปนาความร่วมมือในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ไทยและลาวต่างสนับสนุนกันในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความท้าทายระดับภูมิภาค และการปรับตัวเข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์ โดยได้พัฒนาความสัมพันธ์ในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน อย่างใกล้ชิดและแน่นแฟ้น และเมื่อ พ.ศ. 2565 ทั้งสองประเทศได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
วาระการครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย- สปป.ลาว จึงถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญที่จะนำพาความสัมพันธ์พิเศษนี้ไปสู่ยุคสมัยแห่งความร่วมมือที่สร้างสรรค์และมิตรภาพที่เกื้อกูลกันอย่าง
ยั่งยืน สายสัมพันธ์อันงดงามที่พระราชวงศ์ของไทยได้ทรงริเริ่มและสนับสนุนส่งเสริม มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อมิตรภาพและความเข้าใจอันลึกซึ้งระหว่างสองประเทศ พระบรมวงศานุวงศ์ไทยหลายพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือน สปป. ลาว อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความใกล้ชิดระหว่างสองประเทศ ทรงเสด็จฯ เยือน สปป. ลาว บ่อยครั้ง เพื่อทรงเยี่ยมโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ ตลอดจนทรงเยี่ยมเยียนราษฎรชาวลาวและพระราชทานความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในสาขาการศึกษา สาธารณสุข การเกษตร การพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนงานด้านศิลปวัฒนธรรมและภาษา อันเป็นรากฐานของความผูกพันที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบันนี้
จากสะพานเชื่อมใจ สู่ประตูแห่งโอกาส
ความสัมพันธ์ในด้านการคมนาคมระหว่าง สปป.ลาว และไทยเป็นอีกหนึ่งมิติที่สำคัญ ในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ การเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) ในปี พ.ศ. 2537 ช่วยให้การเดินทางระหว่างสองประเทศสะดวกสบายขึ้น ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือที่ยั่งยืน ปัจจุบันมีสะพานมิตรภาพ 4 แห่ง เพื่อส่งเสริมด้านการค้าขาย การลงทุน การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน และมีกำหนดเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ภายในปี พ.ศ. 2568 นอกเหนือจากสะพานแล้ว การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมอื่น ๆ ก็มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น
- ถนนหลวง: เส้นทางเดินรถที่เชื่อมโยงจากจังหวัดชายแดนของไทยสู่เมืองสำคัญในลาว เช่น เชียงราย-บ่อแก้ว, น่าน-ไซยะบูลี, หนองคาย-เวียงจันทน์, นครพนม-คำม่วน,มุกดาหาร-สะหวันนะเขต, อุบลราชธานี-จำปาสัก ทำให้การขนส่งสินค้าและการเดินทางส่วนบุคคลเป็นไปอย่างสะดวกสบาย
- ทางรถไฟ: การพัฒนาเส้นทางรถไฟที่เชื่อมโยงระหว่างลาวและไทย เช่น สายรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ และเวียงจันทน์ และการเปิดสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางและเพิ่มความสะดวกสบาย รวมไปถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน เชื่อมต่อจากบ่อเต็นถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ได้กลายเป็นเส้นทางคมนาคมใหม่ที่น่าจับตามอง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับโครงข่ายรถไฟของไทยในอนาคต ทำให้ลาวกลายเป็น "Land-linked" และเป็นสะพานเชื่อมไทยไปสู่จีนและภูมิภาคอื่น ๆ ได้อย่างคล่องตัว
- การคมนาคมทางน้ำและทางอากาศ: การเดินทางข้ามโขงโดยเรือยังคงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตดั้งเดิม ขณะที่เที่ยวบินตรงระหว่างเมืองหลวงทั้งสองประเทศ และเมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ ช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางและส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกันได้อย่างดี
ด้วยการคมนาคมที่สะดวกสบายและรวดเร็ว นำไปสู่โอกาสและการแลกเปลี่ยนทั้งด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การค้าบริเวณชายแดนมีความตื่นตัวยิ่ง นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในลาว และนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมาเที่ยว สปป.ลาว มากเป็นอันดับหนึ่งหลายปีซ้อน และนักท่องเที่ยวลาวก็เดินทางมาเยี่ยมเยือนไทยอย่างต่อเนื่อง นับเป็นอีกหนึ่งมิติที่แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดทางสังคมผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศในการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
วัฒนธรรมที่คล้ายคลึง มรดกอันล้ำค่าระหว่างสองชาติ
สปป.ลาวและไทยมีความคล้ายคลึงกันอย่างลึกซึ้งในด้านวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา และประเพณี โดยเฉพาะภาษาไทยและภาษาลาวที่มีความใกล้เคียงกัน แม้จะมีสำเนียงและคำศัพท์ที่แตกต่างกันบ้าง แต่ชาวอีสานและชาวลาวสามารถสื่อสารกันได้อย่างลื่นไหลราวกับไม่มีกำแพงภาษา และไม่ต้องใช้ล่ามแปลภาษาในการหารืออย่างเป็นทางการระหว่างคณะผู้แทนไทยกับ สปป.ลาว
ทั้งสองประเทศยังนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักประจำชาติ รวมถึงประเพณีต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกัน เช่น สงกรานต์ ขบวนแห่บั้งไฟ ลอยกระทง การแข่งเรือในช่วงออกพรรษา หรือประเพณีเกี่ยวกับแม่น้ำโขง และความเชื่อเรื่องพญานาค ล้วนมีรากฐานทางความเชื่อและความหมายที่ใกล้เคียงกันมาก นอกจากนี้ อาหารพื้นเมืองของลาวและอาหารเหนือและอาหารอีสานของไทยยังมีรสชาติและส่วนผสมที่ใกล้เคียงกัน เช่น ส้มตำ ลาบ ก้อย ไส้อั่ว และข้าวเหนียว สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและกลมกลืนกับธรรมชาติ รวมถึงศิลปะการแสดงพื้นบ้านอย่าง หมอลำ ฟ้อนรำ เพลงพื้นเมือง และการทอผ้าไหม ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ล้วนมีเอกลักษณ์ร่วมกันที่บ่งบอกถึงสายสัมพันธ์อันยาวนาน
ความคล้ายคลึงทางภาษา ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตเหล่านี้ ทำให้ผู้คนสองฝั่งโขงรู้สึกผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเฉกเช่นคนในครอบครัว และเป็นพื้นฐานสำคัญที่สร้างความสนิทสนม ความเข้าใจซึ่งกันและกัน และพร้อมที่จะเอื้ออาทรและให้อภัยกัน โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมือเผยแพร่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกันดังเช่นประเทศอื่น ๆ
นิทรรศการศิลปะฉลอง 75 ปี: สะพานเชื่อมวัฒนธรรม ผ่านปลายพู่กันอันวิจิตร
เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - สปป.ลาว สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต และกระทรวงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวแห่ง สปป.ลาว ได้จัดการประกวดวาดภาพจิตรกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปีฯ ภายใต้หัวข้อ "75 ปี แห่งความงดงามของความสัมพันธ์ไทย-ลาว" ซึ่งได้รับความสนใจจากศิลปิน นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดกันอย่างคึกคัก โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ และกระทรวงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวแห่ง สปป.ลาว จะจัดงานแสดงศิลปวัฒนธรรมรวมใจไทย-ลาว ในโอกาสเฉลิมฉลองการครบรอบ 75 ปีฯ พร้อมจัดพิธีมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวด ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 ณ หอวัฒนธรรมแห่งชาติ นครหลวงเวียงจันทน์
ภายในงานยังจัดแสดงนิทรรศการศิลปะของศิลปินไทยที่เดินทางไปเข้าร่วมworkshop ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต การแสดงดนตรีคลาสสิกจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะนักเรียนจากวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติ สปป.ลาว รวมถึงการแสดงโนราและฟ้อนรำวงลาว ซึ่งศิลปะการแสดงทั้งสองประเภทได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากUNESCO
นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ร่วมกับสมาคมศิลปินอีสาน มูลนิธิสงขลาเมืองเก่า และมูลนิธิศิครินทร์เพื่อการพัฒนา จัดงานจัดแสดงนิทรรศการผลงานศิลปะ "75 ปี แห่งความงดงามของความสัมพันธ์ไทย-ลาว จัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมใน 4 หอศิลป์ที่มีชื่อเสียงในนครหลวงเวียงจันทน์ ได้แก่ หอศิลป์ สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติลาว (National Institute of Fine Arts), สายลม อาร์ต สตูดิโอ (Saylom Art Studio) บ้านสีน้ำ (Water Colour House) และ i:cat gallery ระหว่างวันที่ 9-17 กรกฎาคม 2568 ก่อนที่ผลงานศิลปะทุกชิ้นจะสัญจรไปจัดแสดงที่จังหวัดอุดรธานี ประเทศไทย ในโอกาสต่อไป
75 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับ สปป.ลาว จึงเปรียบเสมือนภาพสะท้อนความงดงามที่เกิดขึ้นจากบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ความสัมพันธ์นี้ไม่เพียงแสดงถึงมิตรภาพระหว่างสองประเทศที่ผูกพันแน่นแฟ้นอย่างที่อดีตนายกรัฐมนตรีของ สปป.ลาว กล่าวไว้ว่า คนลาวและคนไทย "กินข้าวร่วมนา กินปลาร่วมน้ำ" แต่ยังเป็นต้นแบบสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน สายใยแห่งความงดงามนี้ยังคงสืบทอดต่อไปสู่อนุชนรุนต่อไป เป็นรากฐานที่แข็งแกร่งนำพา สปป.ลาว และไทยไปสู่อนาคตที่รุ่งเรืองและยั่งยืนร่วมกัน