
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) เตือนระวังเด็กเล็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก แนะล้างมือบ่อย ๆ ทำความสะอาดของใช้ เน้นย้ำ ผู้ปกครองและครูสังเกตอาการป่วยของบุตรหลาน หากพบว่ามีอาการสงสัยป่วย ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติทันที รีบไปพบแพทย์ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายดี
โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) มักพบการระบาดในสถานที่ที่มีเด็กอยู่จำนวนมาก โดยเกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าไปทางปากโดยตรง จากการติดมากับมือหรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำลาย น้ำมูก ตุ่มน้ำใสจากแผล ผื่นที่ผิวหนัง อุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน เชื้อไวรัสสามารถปนเปื้อนอยู่บนของเล่น เสื้อผ้า ภาชนะที่ใช้ร่วมกัน และพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อย เช่น ลูกบิดประตูหรือราวจับ สาเหตุที่พบการระบาดในกลุ่มเด็กเล็ก เนื่องจากเด็กวัยนี้มักชอบเล่นของเล่นร่วมกัน หยิบของเข้าปาก หรือใช้มือจับปาก จมูก ตา ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

สคร.12 สงขลา ขอเน้นย้ำ ให้ผู้ปกครองหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการไข้ ร่วมกับมีแผลหรือจุดแดงในช่องปาก เช่น บริเวณลิ้น เพดานปาก กระพุ้งแก้ม และมีผื่นหรือตุ่มน้ำใสบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลำตัว ก้น เด็กเล็กจะมีอาการงอแง ไม่ยอมรับประทานอาหารหรือดื่มนม มีน้ำลายไหลหรือบ่นเจ็บปาก ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคมือเท้าปาก ในกรณีที่อาการรุนแรง อาจพบไข้สูงผิดปกติ รับประทานอาหารและน้ำได้น้อยมาก ซึมลง อาจมีอาการชักเกร็ง อาเจียนรุนแรง หรือหายใจหอบเหนื่อย หากพบอาการเหล่านี้ ควรพาบุตรหลานไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยและดูแลรักษาอย่างเหมาะสม
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือใช้เจลล้างมือทุกครั้ง ก่อน-หลัง รับประทานอาหารและหลังขับถ่าย หรือหลังการเล่นของเล่น ตัดเล็บให้สั้น ไม่ใช้ของร่วมกัน ดูแลสุขอนามัยสิ่งแวดล้อม เช่น กำจัดขยะ และสิ่งปฏิกูลที่ถูกต้อง ดูแลรักษาและทำความสะอาดอาคารสถานที่ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ และของเล่นต่างๆ เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ด้วยน้ำยาทำความสะอาด หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ ไม่ควรนำเด็กเล็กไปในสถานที่ที่มีประชาชนแออัดในช่วงที่มีการระบาด เช่น สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี
เด็กที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรหยุดพักรักษาตัวที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้เด็กอื่นๆ สำหรับสถานศึกษาหรือสถานรับดูแลเด็ก จะต้องมีการคัดกรองเด็กทุกเช้าอย่างเคร่งครัด หากพบเด็กป่วยให้แยกออกจากเด็กคนอื่นทันทีและให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายดี หากมีเด็กป่วยมากกว่า 2 รายขึ้นไปในห้องเดียวกันในระยะเวลา 1 สัปดาห์ ควรปิดห้องเรียนอย่างน้อย 1 วัน พร้อมทั้งทำความสะอาดสิ่งของ พื้นที่ภายในห้องเรียน หลังเปิดเรียนควรเฝ้าระวังคัดกรองอย่างเข้มข้นต่ออีก 1 สัปดาห์
ปัจจุบันโรคมือ เท้า ปาก ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสกลุ่มนี้ จึงใช้การรักษาเพื่อบรรเทาต่างๆ เช่น การให้ยาลดไข้ร่วมกับการเช็คตัว ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนๆ ดื่มน้ำสะอาด และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ หากอาการไม่รุนแรงมักป่วยประมาณ 7-10 วัน และหายได้เอง หากมีข้อสงสัย สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422