กทม. เตรียมพร้อมมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน 'ฝีดาษลิง' กำชับคนกรุงป้องกันตนเองเคร่งครัด

ข่าวทั่วไป Tuesday July 15, 2025 16:37 —ThaiPR.net

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานรในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของสถานพยาบาลสังกัด กทม. เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยว่า สนพ. ได้ติดตามสถานการณ์และสั่งการให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัดเฝ้าระวังคนไข้ทั้ง ER และ OPD รวมถึงโรงพยาบาลที่มีคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกรักษาผู้ติดเชื้อ HIV หากพบผู้ป่วยให้ส่งยืนยันการติดเชื้อผ่านสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สอบสวนโรคทุกราย เฝ้าระวังควบคุมโรคในพื้นที่ให้เร็วที่สุด เพื่อลดการแพร่ระบาด พร้อมทั้งมอบหมายโรงพยาบาลสิรินธรเปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอุบัติใหม่ขึ้น เพื่อเฝ้าติดตามข้อมูล ควบคุม ดูแล สถานการณ์โรคฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ป่วยที่อาการต้องสงสัยให้แยกกักตัวและแจ้งให้ผู้บริหารและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทราบทันที

ขณะเดียวกันได้เฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานร (MPOX) อย่างใกล้ชิด พร้อมป้องกัน ลดเสี่ยง ลดโรค หากประชาชนมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้สงสัยฝีดาษวานร หรือการสัมผัสใกล้ชิด กอดจูบ ลูบ คลำ พูดคุยระยะ 1 เมตร โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือเคยดูแลผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานรให้สังเกตอาการตนเองเบื้องต้นภายใน 21 วัน หากมีผื่น มีตุ่มน้ำตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือบริเวณรอบ ๆ มือ เท้า หน้าอก ใบหน้า ปาก มีไข้ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ ให้เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที พร้อมเน้นย้ำผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำหรือมีโรคประจำตัว อาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิต หากพบผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสงสัยจะทำการแยกกักตัวทันทีและรายงานข้อมูลตามแนวทางที่กำหนดต่อไป

นอกจากนี้ ได้รณรงค์เน้นย้ำพร้อมสนับสนุนส่งเสริมให้ความรู้และคำแนะนำประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันตัว ไม่คลุกคลีใกล้ชิดผู้อื่นนอกบ้าน ไม่แชร์ของกินของใช้กับผู้อื่น ไม่สำส่อนทางเพศ หมั่นสังเกตผู้ที่เราพบปะว่ามีอาการไม่สบายหรือไม่ การใส่หน้ากากอนามัยจะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ ลงไปได้มาก โดยพฤติกรรม ที่มีความเสี่ยงยังคงมาจากการมีเพศสัมพันธ์กับคนหลายคนและคนแปลกหน้า ซึ่ง สนพ. ให้ความสำคัญในการเฝ้าระวัง คัดกรอง แยกกักรักษาผู้ป่วย และสื่อสารถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยงปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงข้อควรปฏิบัติเมื่อพบอาการเข้าข่ายโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว หรือย่านพักอาศัยของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม แม้การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อดังกล่าวได้ แต่การฉีดวัคซีนดังกล่าวควรทำเฉพาะในบุคคลที่ต้องทำงานมีความเสี่ยง หรือใกล้ชิดกับคน หรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และวัคซีนยังสามารถรับได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน

ทั้งนี้ สนพ. ได้เน้นย้ำบุคลากรทางการแพทย์ หากพบผู้ป่วยให้แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่น การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ แม้วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อดังกล่าวได้ แต่การฉีดควรทำเฉพาะในบุคคลที่ต้องทำงานมีความเสี่ยง หรือใกล้ชิดกับคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และวัคซีนยังสามารถรับได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันทีได้ที่ "คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กทม." ปัจจุบันมี 24 แห่ง หรือพบแพทย์ผ่านทาง Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชัน "หมอ กทม." เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว แล้วแยกกักตัว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สนพ. กทม. โทร. 1646 บริการตลอด 24 ชั่วโมง


แท็ก โรคติดต่อ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ