
กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) อัปเดตมุมมองเศรษฐกิจและเทรนด์การลงทุนช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 ในงานสัมมนา Mid-Year Economics and Investment Outlook 2025 จัดขึ้นสำหรับลูกค้ากรุงศรี ไพรเวท แบงก์กิ้ง และกรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ โดยสรุปว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวจากความเสี่ยงสงครามการค้า ขณะที่ตลาดหุ้นผันผวนสูงจากนโยบายสหรัฐฯ แต่ยังเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป จีน อินเดีย และสินทรัพย์ทางเลือก แนะสร้างพอร์ตลงทุนแบบ Core & Satellite กระจายการลงทุนทั้งในแง่สินทรัพย์และภูมิภาคท่ามกลางความไม่แน่นอน
งานสัมมนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของกรุงศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจาก 4 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนระดับโลก ได้แก่ Allianz Global Investors, First Sentier Investors, Schroders, Fidelity International และนายทิวา ชินธาดาพงศ์ นายกสมาคมนักลงทุนประเทศไทย เริ่มต้นด้วยภาพรวมเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดย ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ และผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ชี้ว่าเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากปัจจัยเสี่ยงด้านการค้า โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนแรง แม้การเจรจาการค้าจะมีความคืบหน้า และคาดว่า FED จะลดดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้งในครึ่งปีหลัง ขณะที่ยูโรโซนเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและการค้าระหว่างประเทศ โดยคาดว่า ECB จะลดดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้ง อยู่ที่ระดับ 1.5%-1.75% ภายในสิ้นปี ในส่วนของญี่ปุ่นได้แรงหนุนจากภาคบริการที่แข็งแกร่ง แม้ภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า คาดว่า BOJ จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% ส่วนจีนยังเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ทำให้การฟื้นตัวยังไม่มั่นคง
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2568 คาดว่าจะเติบโตเพียง 2.1% ต่ำกว่ากว่าศักยภาพและต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งหากได้รับผลกระทบจากภาษีตอบโต้ที่ 36% อาจเติบโตเพียง 1.5% อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐฯ มาตรการกระตุ้น และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดว่ากนง. จะลดดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้ง
'หุ้นสหรัฐฯ คุณภาพสูง' ยังเป็นทางเลือกลงทุนหลัก
ผู้เชี่ยวชาญจาก Allianz Global Investors ได้ฉายภาพตลาดหุ้นที่มีความผันผวนอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมา โดยความผันผวนในปัจจุบันมีสาเหตุหลักจากนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความผันผวนสูงเป็นอันดับสองรองจากช่วง COVID-19 ทำให้เกิดความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ สะท้อนผ่านการคาดการณ์ GDP ที่ถูกปรับลง ขณะที่คาดการณ์เงินเฟ้อสหรัฐฯ ถูกปรับขึ้น อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจในแง่ของคุณภาพของบริษัทที่มีการเติบโตโดดเด่นในระยะยาว ทั้งนี้ ยังได้แนะนำให้กระจายความเสี่ยงโดยลงทุนในยุโรป ซึ่งได้ประโยชน์จากนโยบายการคลังที่กระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงแนะนำการลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งได้ประโยชน์จากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง ส่วนทองคำยังคงได้รับแรงหนุนจากการซื้อของธนาคารกลางประเทศกำลังพัฒนา โดยมองกลยุทธ์การลงทุนแบบ Core & Satellite ที่กระจายการลงทุนทั้งในแง่สินทรัพย์และภูมิภาคเป็นกลยุทธ์สำคัญในช่วงนี้
ด้านนายวิรัตน์ วิทยศรีธาดา, CFA ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์และที่ปรึกษาการลงทุน, Head of Krungsri Investment Intelligence Office, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ยังคงมองบวกต่อหุ้นสหรัฐฯ หากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยังคงดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดดังเช่นที่ผ่านมา 9 ไตรมาสติดต่อกัน แม้มีความเสี่ยงจาก 4 ปัจจัยได้แก่ 1. ภาวะเศรษฐกิจแบบ Stagflation 2. ความไม่แน่นอนของนโยบายทรัมป์ 3. การผ่อนคลายนโยบายการเงินของ FED ที่มีความไม่แน่นอนเรื่องขนาดและเวลาที่ FED จะลดดอกเบี้ย 4. มูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับตึงตัว
ดังนั้น ในส่วนของ Core Portfolio แนะนำว่า 50-70% ควรลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งยังคงมีคุณภาพและแนวโน้มผลประกอบการที่เติบโต รวมถึงกองทุนผสม เช่น KFGDB-A ลงทุนหุ้นโลก ตราสารหนี้ ผ่านกองทุนหลัก Allianz Dynamic Multi Asset Strategy SRI 50 และ KFGDA-A ที่ลงทุนในทรัพย์สินหลายประเภท เน้นตลาดตราสารทุน และตราสารหนี้ทั่วโลก
ยุโรป-จีน-อินเดีย กับกลยุทธ์ Satellite Portfolio เพิ่มโอกาสในโลกผันผวน
ในช่วงเสวนากลุ่ม นายวิรัตน์ วิทยศรีธาดา, CFA, Head of Krungsri Investment Intelligence Office พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจาก 4 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนระดับโลก ได้แก่ Allianz Global Investors, First Sentier Investors, Schroders, Fidelity International และนายทิวา ชินธาดาพงศ์ นายกสมาคมนักลงทุนประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อการลงทุนในหลากหลายภูมิภาคและสินทรัพย์ทั่วโลก โดยเฉพาะในส่วนของ Satellite Portfolio ที่เน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตสูงและมีความเสี่ยงที่สูงกว่าพอร์ตหลัก เริ่มจากมุมมองตลาดหุ้นยุโรป ซึ่งเคยตามหลังตลาดสหรัฐฯ มาระยะหนึ่ง แต่กลับมาโดดเด่นหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ เนื่องจากนักลงทุนหันกลับมาให้ความสำคัญกับมูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น นอกจากนี้โครงสร้างตลาดหุ้นยุโรปมีความกระจายตัวในหลายกลุ่มมากกว่า เมื่อเทียบกับหุ้นสหรัฐฯ ที่กระจุกในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Magnificent 7)
ขณะที่เศรษฐกิจจีนอาจเติบโตช้าลงในไตรมาส 2 ทั้งนี้ ปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจจีนจะมาจากการสนับสนุนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากภาครัฐ รวมถึงความคืบหน้าในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ โดยหุ้นกลุ่ม A-Shares มีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากมาตรการภาครัฐและการบริโภคภายในประเทศ และยังมีโอกาสฟื้นตัวเมื่อเทียบกับ H-Shares
สำหรับตลาดหุ้นอินเดียยังคงเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างจำกัด เนื่องจากมีการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศสูง ประชากรวัยแรงงานขนาดใหญ่ยังช่วยหนุนกำลังซื้อในประเทศ โดยมองว่ากองทุนอย่าง FSSA Indian Subcontinent Fund มีความโดดเด่นและแตกต่างจากกองทุนหุ้นอินเดียอื่น ซึ่งเน้นวิเคราะห์หุ้นแบบเจาะลึก และให้ความสำคัญกับประเด็นด้านธรรมาภิบาลเพื่อปกป้องเงินลงทุนของนักลงทุนด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอทางเลือกการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดหุ้นอย่าง Private Assets โดยเฉพาะ Private Equity ซึ่งให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอและมีความผันผวนน้อยกว่าตลาดหุ้น โดยทาง Schroders จะเน้นลงทุนในกลุ่ม Small-mid Buyout ที่มี มูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานน่าสนใจ กระจายการลงทุนกว่า 230 บริษัททั่วโลก มีจุดเด่นด้านการบริหารสภาพคล่องแบบ Semi-liquid ที่สามารถลงทุนได้ทุกเดือน และสามารถขายคืนได้เป็นรายไตรมาส ช่วยให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนแบบ Private Equity ได้ง่ายขึ้น โดยพอร์ตการลงทุนของ Schroders ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Services ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำจากประเด็นสงครามการค้า
โดยสรุปในส่วนของ Satellite Portfolio ควรกระจายไปยังกองทุนที่เน้นลงทุนหุ้นรายประเทศ Private Assets และ Structure Notes เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและความผันผวนโดยรวมของพอร์ตลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
- กองทุนที่แนะนำ ได้แก่ KT-Ashares-A ลงทุนในหุ้นจีนที่มีคุณภาพสูง ผ่านตลาด A-Shares, KFHEUROP-A ลงทุนในหุ้นชั้นนำของยุโรป ครอบคลุมหลากหลาย Sector, KFINDIA-A ลงทุนในหุ้นอินเดียที่มีแนวโน้มเติบโตและมี Valuation ที่น่าสนใจ, KFGDIV-A ลงทุนในหุ้นปันผลทั่วโลกผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ Fidelity Funds - Global Dividend Fund
- ในส่วนของ Private Assets เช่น หุ้นนอกตลาด สินเชื่อเอกชน อสังหาฯ ซึ่งไม่ได้เคลื่อนไหวตามตลาดหุ้นหรือตราสารหนี้ เช่น กองทุน KFGPE-UI ลงทุนในกองทุนหลัก Schroders Capital Semi-Liquid Global Private Equity ที่ลงทุนใน Private Assets กว่า 200 ดีลทั่วโลก
- หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง (Structured Notes) อาทิ Bullish Shark-Fin Note หรือ Fixed Coupon Note เป็นต้น
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถรับชมย้อนหลังได้ผ่านช่องทาง YouTube: Krungsri Simple หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ KRUNGSRI PRIVATE BANKING หรือ KRUNGSRI EXCLUSIVE โทร 02-296-5566 LINE: @KrungsriExclusive
หมายเหตุ: ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
- กองทุน KFGDB-A, KFGDA-A, KFINDIA-A, KFGPE-UI, KT-Ashares-A ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน จึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
- KFGPE-UI เป็นกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษเท่านั้น กองทุนนี้ไม่ถูกจำกัดความเสี่ยงด้านการลงทุนเช่นเดียวกับกองทุนรวมทั่วไป จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่รับผลขาดทุนระดับสูงได้เท่านั้น และหากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก กองทุนนี้เป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงหรือซับซ้อน ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนทำการลงทุน