กทม. รุกเข้มเฝ้าระวัง-กวาดล้างยาเสพติดทั่วกรุง เร่งฟื้นฟูผู้ป่วยกลับสู่สังคม

ข่าวทั่วไป Monday July 21, 2025 16:03 —ThaiPR.net

กทม. รุกเข้มเฝ้าระวัง-กวาดล้างยาเสพติดทั่วกรุง เร่งฟื้นฟูผู้ป่วยกลับสู่สังคม

นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ โดยดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กทม. ตามแนวทาง 4 มิติ ได้แก่ มิติด้านป้องกันยาเสพติด (ในสถานศึกษา ชุมชน สถานประกอบการ) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ปปส. กทม.) มิติด้านปราบปราม มี บช.น. และ ปปส.กทม. มิติด้านการแก้ไขปัญหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ร่วมกับ สธ. บช.น. และ ปปส.กทม. และมิติด้านการบริหารจัดการ ร่วมกับ บช.น. และ ปปส.กทม. โดยมีกลไกการกำกับติดตามการดำเนินงานผ่านศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ศอ.ปส.กทม.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผว.กทม.) เป็นผู้อำนวยการ กำหนดให้มีการประชุมทุกเดือน เพื่อติดตามเร่งรัดการดำเนินงานตามเป้าหมายและตัวชี้วัดที่กำหนด

ขณะเดียวกัน กทม. ได้ให้บริการด้านยาเสพติดครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อรองรับผู้ที่มีปัญหาการใช้ยาเสพติด โดยมีคลินิกก้าวใหม่ คลินิกก้าวใหม่พลัสในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง คลินิกก้าวใหม่พลัส ลาดพร้าว สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด (บ้านพิชิตใจ) สนอ. และคลินิกฟ้าวันใหม่ โรงพยาบาลตากสิน สำนักการแพทย์ (สนพ.) เป็นศูนย์คัดกรองให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของ กทม. ตามแนวทางที่ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 กำหนด ได้แก่ 2 ศูนย์ 2 สถาน (ศูนย์คัดกรอง-สถานพยาบาล -สถานฟื้นฟูสมรรถภาพ-ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม) ผู้ป่วยยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพต่อเนื่อง จนถึงการติดตาม (Retention Rate) หมายถึง การดูแลช่วยเหลือ บำบัดฟื้นฟูอย่างรอบด้าน ทั้งกาย จิต สังคม อย่างต่อเนื่องตามสภาพปัญหาของผู้ป่วยเฉพาะราย ตั้งแต่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูจนถึงการติดตามดูแลช่วยเหลือตามเกณฑ์มาตรฐานหลังการบำบัดอย่างน้อย 1 ปี (อ้างอิงจากนิยามของ สธ.)

รวมถึงจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ทำหน้าที่ติดตาม ดูแล ให้คำปรึกษา แนะนำ ให้ความช่วยเหลือ และสงเคราะห์ด้านสวัสดิการสังคมและการสังคมสงเคราะห์ที่เหมาะสมแก่ผู้มีปัญหายาเสพติด หรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา เพื่อให้บุคคลดังกล่าวสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้โดยไม่กลับมากระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีก ครอบคลุมทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ รวม 51 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม กทม. เป็นศูนย์ประสานนโยบาย แผนงาน และความร่วมมือต่าง ๆ กับส่วนราชการส่วนกลาง และหน่วยงานอื่นในพื้นที่ ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมเขต ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานเขต 50 แห่ง และที่สำนักพัฒนาสังคม (สพส.) อีก 1 แห่งเป็นกลไกหลักในส่วนปฏิบัติการให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ และสงเคราะห์แก่ผู้มีปัญหายาเสพติด หรือผู้ผ่านการบำบัดรักษาในพื้นที่ โดยมีบริการฟื้นฟูสภาพทางสังคม 4 ด้าน ได้แก่ ด้านครอบครัวและชุมชน ด้านสวัสดิการสังคม และสังคมสงเคราะห์ ทุนประกอบอาชีพ ที่อยู่อาศัย ด้านการศึกษา และด้านสาธารณสุขและสุขภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้ครอบครัวและเครือข่ายทางสังคมมีส่วนร่วมบำบัดฟื้นฟูและติดตาม ดูแล ช่วยเหลือมีปัญหายาเสพติด หรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา

สำหรับการดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันยาเสพติดในสถานศึกษา ได้ดำเนินงานตามมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหายาและสารเสพติดในสถานศึกษา คัดกรองนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนในสังกัด โดยแบบประเมินภูมิคุ้มกันยาและสารเสพติดสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำแนกนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ ภูมิกันปกติ ภูมิคุ้มกันต่ำ และเสี่ยง การจัดกิจกรรมเสริมสร้างภูมิคุ้มกันการป้องกันยาเสพติดในสถานศึกษาให้นักเรียนที่ภูมิคุ้มกันปกติและภูมิคุ้มกันต่ำที่โรงเรียนในสังกัด การติดตามดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่มีความเสี่ยง โดยประสานศูนย์บริการสาธารณสุขร่วมดูแลและส่งต่อนักเรียนที่เสพยาและสารเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษา และติดตามเยี่ยมบ้าน การสร้างแกนนำเครือข่ายเฝ้าระวังในสถานศึกษา โดยชมรม TO BE NUMBER ONE และการดำเนินกิจกรรมโดยรถโมบายสร้างสรรค์กิจกรรมสร้างสุขในวันหยุดราชการ

ส่วนการดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันยาเสพติดในสถานประกอบการ ได้สนับสนุนให้สำนักงานเขต 50 เขต เสริมภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้กับพนักงานในสถานประกอบการที่มีพนักงานต่ำกว่า 10 คน จำนวน 14,460 แห่ง สำหรับสถานประกอบการปลอดภัยยาเสพติดที่มีพนักงานมากกว่า 10 คน จำนวน 610 แห่ง สนับสนุนจัดตั้งชมรม TO BE NUMBER ONE ในสถานประกอบการ ปัจจุบันมีจำนวน 95 ชมรม โดยดำเนินงาน "ใครติดยายกมือ" ขึ้น เพื่อให้พนักงานที่ใช้ยาเสพติดเข้าถึงการบำบัดรักษา ส่วนกลุ่มแรงงานนอกระบบ เช่น กลุ่มวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง กลุ่มผู้รับจ้างทำของ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน และอาชีพอิสระในชุมชน มีการส่งเสริมการเข้าถึงความรู้เท่าทันสถานการณ์ปัญหายาและสารเสพติด เข้าถึงการบำบัดรักษาและพัฒนาให้แรงงานนอกระบบที่มีจิตอาสา ร่วมเป็นผู้เฝ้าระวังดูแลป้องกันภัยในชุมชนให้ประชาชน รวมถึงดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันยาเสพติดในชุมชน โดยสนับสนุนการสร้างและพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. เชี่ยวชาญยาเสพติด 13,274 คน (ปีงบประมาณ 2568) ปฏิบัติงานในชุมชนตามพื้นที่ของศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่งและอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยและยาเสพติด กทม. 11,791 คน ปฏิบัติงานในชุมชนตามพื้นที่ของสำนักงานเขต 50 แห่ง และสนับสนุนการขับเคลื่อนกองทุนแม่ของแผ่นดิน ระดับ A B และ C บูรณาการกับโครงการ/กิจกรรมในชุมชน เช่น ชมรม TO BE NUMBER ONE 204 ชุมชน และการบำบัดผู้เสพยาเสพติด ตามโครงการชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน (CBTx) ในชุมชนเฝ้าระวัง 150 ชุมชน และการบำบัดฟื้นฟูผู้มีปัญหายาเสพติดโดยชุมชนเป็นฐาน (CBTx) หรือการดำเนินงานกองทุนแม่ของแผ่นดิน ในชุมชนรักษาสภาพ 213 ชุมชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนและสนับสนุนให้ผู้เสพยาเสพติดเข้าถึงการบำบัดรักษา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ