
โครงการที่ขับเคลื่อนโดยเยาวชนของ eYAA สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแก่ผู้คนกว่า 89,000 คนทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยการสนับสนุนจากองค์กรพันธมิตรกว่า 40 แห่ง
ก่อนการเฉลิมฉลองวันอาเซียน ในวันที่ 8 สิงหาคม 2568 ที่จะถึงนี้ มูลนิธิเมย์แบงก์และมูลนิธิอาเซียนได้จัดพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อเสริมพลังเยาวชนทั่วอาเซียน (eYAA): รุ่นที่ 5 อย่างเป็นทางการ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย โดยงานนี้ได้ต้อนรับอาสาสมัครเยาวชนจำนวน 100 คน รวมถึงตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคม (CSO) และวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) อีก 10 คน ที่เดินทางมาจากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญเพื่อจุดประกายพลังและศักยภาพของเยาวชนในอาเซียน
อาสาสมัครเยาวชนทั้ง 100 คนนี้มีอายุระหว่าง 19 ถึง 35 ปี โดยได้รับการคัดเลือกมาจากสิบประเทศสมาชิกอาเซียน แต่ละคนมีความเป็นมาที่หลากหลาย เปี่ยมด้วยแนวคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีจิตวิญญาณอาสาสมัครที่เข้มแข็ง เยาวชนเหล่านี้จะร่วมดำเนินงานกับองค์กรภาคประชาสังคม (CSO) และวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) ในท้องถิ่น ซึ่งองค์กรเหล่านี้ได้รับการคัดเลือกโดยพิจารณาความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในประเด็นที่มีความท้าทายของชุมชน และความสามารถในการให้คำแนะนำแก่โครงการที่ขับเคลื่อนโดยเยาวชนเมื่อลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริง
การประชุมเชิงปฏิบัติการซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 กรกฎาคมนี้ ได้รวบรวมกลุ่มผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงชุมชนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น และตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคม (CSO) รวมถึงวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) ที่มาร่วมกัน เพื่อร่วมมือสรุปโครงการพัฒนาชุมชนทั้ง 10 โครงการ ซึ่งพร้อมจะนำไปปฏิบัติในประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และประเทศล่าสุดที่เข้าร่วมโครงการนี้ ได้แก่เวียดนาม การประชุมระดับภูมิภาคเป็นระยะเวลา 4 วันนี้ เป็นการต่อยอดจากการเรียนรู้ออนไลน์ และถือเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับผู้เข้าร่วมทุกคนในการพัฒนาโครงการชุมชนของตนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการในรุ่นก่อนหน้า ตลอดจนเสริมสร้างทักษะการทำงานร่วมกัน เพื่อวางรากฐานในการดำเนินโครงการที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายและยั่งยืนในชุมชนเป้าหมายในคำกล่าวเปิดงาน ตัน ศรี ดาโต๊ะ ศรี อิร. ซัมซัมไซรานี โมฮัมหมัด อิซา ประธานกลุ่มเมย์แบงก์และมูลนิธิเมย์แบงก์ ได้กล่าวว่า "เมย์แบงก์ยังคงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการเสริมสร้างศักยภาพทางสังคมผ่านทางโครงการ eYAA ร่วมกับมูลนิธิอาเซียน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้นักสร้างการเปลี่ยนแปลงรุ่นเยาว์สามารถสร้างผลกระทบที่เป็นรูปธรรมและมีความหมาย ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อผู้คนและชุมชน ช่วยส่งเสริมความสามัคคีระหว่างวัฒนธรรม และสร้างประชาคมอาเซียนที่ครอบคลุมและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น" ท่านยังได้กล่าวต่อไปว่า "เราเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่า หากเยาวชนของเราได้รับทรัพยากร คำแนะนำ โอกาส และการสนับสนุนที่เหมาะสม พวกเขาจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนา พลังของเยาวชนไม่ได้อยู่ที่การทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การค้นพบศักยภาพและความกล้าหาญภายในตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อให้พวกเขาสามารถบรรลุสิ่งที่มีคุณค่าในอนาคต"
ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน กล่าวว่า "เรารู้สึกตื่นเต้นอย่างยิ่งที่จะได้สานต่อการเดินทางครั้งนี้กับมูลนิธิเมย์แบงก์ โครงการนี้ย้ำเตือนเราว่า เยาวชนไม่ได้เป็นเพียงผู้นำในอนาคต แต่พวกเขากำลังเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน เรากำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างแท้จริงในการบรรลุวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 ผ่านโครงการ eYAA ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เยาวชนเป็นแกนหลักในการสร้างสรรค์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความครอบคลุม นวัตกรรม และความสามารถในการปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น"
โครงการที่ดำเนินการโดยชุมชนทั้ง 10 โครงการนี้ ได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับคัดเลือก โดยครอบคลุม 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การสร้างชุมชน ศิลปะและวัฒนธรรม ความหลากหลายทางสิ่งแวดล้อม และ การศึกษา แต่ละทีมจะได้รับเงินสนับสนุนสูงสุด 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ และองค์กรภาคประชาสังคมรวมถึงภาคธุรกิจท้องถิ่นจะมีบทบาทสำคัญในการร่วมรับรองความสำเร็จของโครงการที่กล่าวมานี้
ตัวอย่างหนึ่งคือ โครงการ "Green Roots Eco-Tourism" ซึ่งดำเนินงานโดย Recyglo ในจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย โดยอาสาสมัครเยาวชนจากรุ่นที่ 5 จะมีส่วนร่วมในโครงการนี้ โครงการนี้มุ่งเน้นเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนและข้อจำกัดด้านโอกาสทางเศรษฐกิจที่สตรีผู้ด้อยโอกาสต้องเผชิญ สตรีกลุ่มนี้ ซึ่งประกอบด้วยคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว แม่บ้านที่มีรายได้น้อย และนักศึกษาหญิงจำนวนมาก มักประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งรายได้ที่มั่นคง เนื่องจากขาดทักษะด้านการประกอบอาชีพ และยังคงพึ่งพาแนวทางการปฏิบัติแบบดั้งเดิมที่ไม่ยั่งยืน
เพื่อรับมือกับปัญหานี้ โครงการได้มุ่งเสริมทักษะให้กับผู้เข้าร่วมโดยจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เกษตรกรรมยั่งยืน และการบริการจัดการโดยชุมชนตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ แม่ริมฟาร์ม โรงเรียนนานาชาติเปรม และสังกะดี สเปซ (Sang Ga Dee Space) การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการเสริมสร้างศักยภาพของคนในท้องถิ่นเป็นหลัก ไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของสตรีโดยตรงจำนวน 100 คน และผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นอีก 10 คนเท่านั้น หากยังสร้างผลกระทบเชิงบวกที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลประมาณ 2,350 ถึง 2,600 คน ซึ่งรวมถึงครอบครัว นักเรียน ชุมชนท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับภูมิภาค โครงการนี้ยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และบ่มเพาะสตรีและเยาวชนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำที่มีศักยภาพในภูมิภาคต่อไป
การประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างศักยภาพระดับภูมิภาคของโครงการ eYAA: รุ่นที่ 5 ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ ดร. ลลิวัลย์ กาญจนจารี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สินีนาฏ เสริมชีพ ผู้อำนวยการบริหารศูนย์อาเซียนศึกษา ฯพณฯ ซาน ลวิน รองเลขาธิการอาเซียนฝ่ายประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ฯพณฯ เอกอัครราชทูต สิทธิสังคหะ สีสะเกด ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิอาเซียน และเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำภูมิภาคอาเซียน ฯพณฯ เอกอัครราชทูต ซาราห์ อัล บักรี เทวาดาซัน เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรมาเลเซียประจำอาเซียน ฯพณฯ เอกอัครราชทูต พันธุ์ทิพา เอี่ยมสุธา เอกะโรหิต คณะผู้แทนถาวรราชอาณาจักรไทยประจำอาเซียน ตัน ศรี ดาโต๊ะ เสรี วิศวกร ซัมซัมไซรานี โมฮัด อีซา ประธานกรรมการกลุ่มเมย์แบงก์และมูลนิธิเมย์แบงก์ ดาตุก อาร์ การุณาการัน คณะกรรมการมูลนิธิเมย์แบงก์ ปวน มาซฮาตุลชิมา โมฮัด ซาฮิด ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลกลุ่มเมย์แบงก์ ชาริล อาซัวร์ จิมิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายความยั่งยืนกลุ่มเมย์แบงก์ อิสลิน รัมลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิเมย์แบงก์ สุรินทร์ สีการ์ หัวหน้าฝ่ายภาษีกลุ่มและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินของมูลนิธิเมย์แบงก์ ดร. อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) เฮนรี่ โคห์ ซวี ออง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) และ ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน เข้าร่วมงาน
หลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ อาสาสมัครเยาวชนจะเดินทางไปยังพื้นที่โครงการที่ได้รับมอบหมายซึ่งได้แก่ 10 ชุมชนใน 6 ประเทศอาเซียน พวกเขาจะใช้ชีวิตและทำงานร่วมกับคนในท้องถิ่นเป็นเวลาสองสัปดาห์ เพื่อร่วมกันพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาและสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนที่จะช่วยเสริมสร้างความเป็นเอกภาพของอาเซียนจากรากฐานที่แข็งแกร่ง
นับตั้งแต่การเปิดตัวในปี พ.ศ. 2561 โครงการ eYAA ได้เสริมสร้างศักยภาพอาสาสมัครเยาวชนไปแล้วจำนวน 382 คน ดำเนินโครงการชุมชนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก 40 โครงการ และส่งผลดีต่อบุคคลกว่า 89,000 คนทั่วทั้งภูมิภาค ในแต่ละปี โครงการนี้เติบโตขึ้นทั้งในด้านการเข้าถึงและความสำคัญ และในปีนี้ เวียดนามได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในประเทศดำเนินโครงการ ทำให้ eYAA ยังคงขยายพื้นที่และสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงลึกแก่พื้นที่ที่มีความจำเป็นมากที่สุด
ตัวอย่างเช่น ซุลฟิการ์ แดบบี้ อันวาร์ ผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการนี้ในรุ่นที่ 4 เคยมีส่วนร่วมในโครงการริเริ่มการจัดการขยะระหว่างปฏิบัติงานในเมืองกูชิง รัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันเขามีบทบาทสำคัญในฐานะหนึ่งในตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม (CSO) ในโครงการของรุ่นที่ 5 เส้นทางของเขาแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เป็นรูปธรรมของโครงการ eYAA ในการเสริมสร้างศักยภาพเยาวชนให้เป็นผู้นำด้านการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือข้ามพรมแดนกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย
หัวใจสำคัญของโครงการ eYAA คือการเป็นโครงการที่ริเริ่มเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมีส่วนสำคัญโดยตรงในการขับเคลื่อนแผนงานภาคประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนประจำปี พ.ศ. 2568 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างประชาคมอาเซียนที่ครอบคลุม ยั่งยืน และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนด้วยเครื่องมือ ประสบการณ์ และเครือข่าย เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โครงการนี้จึงได้มอบหมายตำแหน่งให้เยาวชนอาเซียนเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนและเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นในระดับภูมิภาค
วิสัยทัศน์ร่วมกันนี้เกิดขึ้นได้โดยอาศัยความร่วมมือที่แน่นแฟ้นระหว่างมูลนิธิอาเซียน และ เมย์แบงก์ ผ่านทางมูลนิธิเมย์แบงก์ การสนับสนุนโครงการ eYAA ของมูลนิธิเมย์แบงก์เป็นการเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเติบโตอย่างทั่วถึง โดยมอบเวทีที่มีความสำคัญในการบ่มเพาะผู้นำรุ่นใหม่ที่พร้อมรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาทั่วทั้งภูมิภาค โครงการริเริ่มนี้ยังสอดคล้องกับพันธกิจของเมย์แบงก์ในการสร้างบริการทางการเงินที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น และสนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนจำนวน 2 ล้านครัวเรือนทั่วอาเซียนซึ่งเป็นหนึ่งในสี่พันธกิจหลักด้านความยั่งยืนขององค์กร