
นายมีชัย ภัทรเปรมเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร (สงต.) กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์การแก้ไขปัญหาตลาดนัดจตุจักร อาทิ การเปิดตลาดกลางคืน โครงการ 30 บริเวณหอนาฬิกา การจัดเก็บค่าเช่าในอัตราสูง ห้องน้ำชำรุดว่า ประเด็นการเปิดตลาดในช่วงกลางคืนมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ตลาดนัดจตุจักรมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น เพิ่มแสงสว่าง ความน่าสนใจในการเดินซื้อสินค้ามากขึ้น โดยใช้พื้นที่ถนน ซึ่งเดิมไม่ใช่พื้นที่ของแผงค้าและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียนตลอดทั้งวันตามนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่และสร้างรายได้เพิ่มเติมให้ตลาดนัดจตุจักร โดยตลาดกลางคืนจะเริ่มหลังเวลา 18.00 น. เพื่อให้เป็นตลาดที่บริการประชาชนได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายและต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมในระยะแรก เพื่อขับเคลื่อนให้ตลาดกลางคืนสามารถเกิดขึ้นได้และผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งด้านกายภาพของสถานที่และการต่อต้านจากผู้เช่าบางส่วน ซึ่งในระยะแรก สงต. ได้กำหนดค่าเช่าพื้นที่ให้บริษัทเอกชนในอัตราเดิม 3,050,000 บาท โดยคำนวณจากจำนวนพื้นที่ส่งมอบ แต่เนื่องจากไม่สามารถส่งมอบพื้นที่เช่าได้ครบถ้วน จึงปรับลดพื้นที่และช่วยเหลือส่วนลดค่าเช่าในช่วง 3 เดือนแรก ทั้งนี้ สัญญาดังกล่าวมีระยะเวลาเพียง 1 ปี เพื่อประเมินผลและถอดบทเรียนนำไปสู่การพัฒนาตลาดกลางคืนให้ดีขึ้นเพื่อผู้ค้าและประชาชน
ส่วนโครงการ 30 หรือโครงการเต็นท์เขียว มีโครงสร้างชั่วคราว ตั้งอยู่บนถนนลานหอนาฬิกา ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของตลาดนัดจตุจักร จึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นพื้นที่ถาวร ขณะที่แผงค้าโครงสร้างกึ่งถาวรของตลาดนัดจตุจักรมีขนาดพื้นที่ 2 x 2.5 เมตร มีจำนวน 29 โครงการเท่านั้น โดยการอนุญาตทำการค้าเริ่มแรกตลาดนัดจตุจักรได้อนุญาตให้ผู้ค้าเช่าพื้นที่ทำการค้าชั่วคราว โดยกางร่ม ขึงผ้าใบ และนำสินค้าเข้ามาตั้งแผงจำหน่ายในวันศุกร์และขนย้ายกลับทั้งหมดในเย็นวันอาทิตย์ ต่อมาในปี 2548 ได้อนุญาตให้กางเต็นท์ได้ แต่ต้องขนย้ายสินค้าทุกเย็นวันอาทิตย์ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้มีการทำสัญญาให้สิทธิ์แต่อย่างใด จนกระทั่งได้คืนพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริหาร เมื่อปี 2555 รฟท. ได้ทำสัญญากับผู้เช่าและไม่ได้ให้ผู้ค้าขนย้ายสินค้ากลับ จนมีมติคณะรัฐมนตรี ในปี 2561 ให้ กทม. กลับมาเป็นผู้บริหารแทน รฟท. จึงได้ส่งมอบสัญญาให้สิทธิ์ทำการค้าโครงการ 30 (พื้นที่สีเขียว) ด้วย สงต. จึงได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ตามนโยบายและภารกิจที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพื้นที่บริเวณโครงการ 30 มีปัญหาความไม่สวยงาม อีกทั้งความกว้างของลานหอนาฬิกาเหลือเพียง 9 เมตร จากเดิม 19 เมตร ทำให้ร้านค้าโครงสร้างกึ่งถาวรที่อยู่ด้านริมของพื้นที่ถูกบดบังจึงเกิดการร้องเรียนปัญหาการระบายอากาศอย่างต่อเนื่อง และเมื่อสัญญาให้สิทธิจำหน่ายสินค้าใกล้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ต.ค. 67 สงต. มีนโยบายจัดระเบียบแผงค้า ปรับปรุงด้านกายภาพและภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบหอนาฬิกา เพื่อพัฒนาศักยภาพพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นจุดพักผ่อน จุดนัดพบ และจุดหมาย (แลนด์มาร์ก) ของผู้มาใช้บริการและนักท่องเที่ยว รวมทั้งใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เพื่อกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในตลาดนัดจตุจักรตามเจตนาเริ่มแรกของโครงการ จึงแจ้งบอกเลิกสัญญาโดยดำเนินการล่วงหน้าในระยะเวลาสมควร ทั้งนี้ การประกาศยกเลิกสิทธิ์แผงค้าโครงการ 30 เป็นไปตามสัญญา รวมทั้งให้สิทธิผู้เช่าย้ายแผงค้าจากโครงการ 30 ไปยังแผงค้าที่ว่างในโครงการอื่น ๆ โดยไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้า
สำหรับกรณีที่ระบุค่าเช่าแผงค้าและค่าเช่าศูนย์อาหารมีอัตราสูง ตลาดนัดจตุจักรมีอัตราค่าเช่า 1,800 บาท/แผง และค่าบริหารส่วนกลาง 500 บาท/แผง เพื่อบริหารจัดการด้านการรักษาความสะอาด ความปลอดภัย การจัดการขยะมูลฝอย และการปรับปรุงด้านกายภาพ ซึ่งถือเป็นอัตราที่เหมาะสมและต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไป โดยเรียกเก็บจากผู้เช่าโดยตรง อย่างไรก็ตาม พบว่ามีผู้เช่าตรงนำพื้นที่ไปปล่อยเช่าช่วงในอัตราที่สูงกว่าหลายเท่าตัว ส่วนพื้นที่ศูนย์อาหารมีขนาด 3 ตารางเมตร ตารางเมตรละ 1,500 บาท ซึ่งอยู่ในทำเลดีและมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก โดยอัตราค่าเช่าดังกล่าวเป็นการให้สิทธิ์กับผู้เช่าเดิม หากผู้เช่าเดิมเห็นว่าเป็นราคาที่สูงเกินไป สงต. ยินดีรับคืนพื้นที่เพื่อเปิดให้ผู้สนใจรายใหม่ต่อไป
ขณะที่การปรับปรุงห้องน้ำ ปัจจุบันตลาดนัดจตุจักรมีห้องน้ำ ห้องสุขา 8 แห่ง โดยได้ทำสัญญากับผู้รับสิทธิ์เพื่อบริหารจัดการ แม้ที่ผ่านมาจะมีปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ขณะนี้สามารถเปิดให้บริการได้บางส่วนและอยู่ระหว่างเร่งรัดการปรับปรุงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยเฉพาะห้องน้ำแห่งที่ 1 และแห่งที่ 3 ซึ่งเป็นห้องน้ำขนาดใหญ่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สงต. ในฐานะผู้บริหารตลาดนัดจตุจักร มีเป้าหมายยกระดับตลาดนัดจตุจักรให้เป็นหนึ่งใน Soft Power ของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล โดยหลังสถานการณ์โควิด 19 รูปแบบการค้าขายเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการค้าออนไลน์เข้ามามีบทบาท ตลาดนัดจตุจักรจึงจำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ทั้งการจัดระเบียบ เพิ่มความหลากหลายของช่วงเวลาการค้า และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งเป็นการดำเนินการอย่างมีทิศทาง โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อให้การดำเนินงานสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายที่กำหนด