
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบความปลอดภัยและคุณภาพผัก ผลไม้ และอาหารที่จำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพ ฯ โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 เขต ตามที่มีผลงานวิจัยระบุพบการปนเปื้อนของพยาธิในผักสดสูงสุดว่า สนอ. ได้ประสานความร่วมมือและเฝ้าระวังการปนเปื้อนในอาหารอย่างต่อเนื่อง ทั้งประสานสำนักงานเขตพื้นที่เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบความปลอดภัยและคุณภาพของผักและผลไม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่ 5 เขตในกรุงเทพฯ 5 เขต ได้แก่ เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตปทุมวัน เขตจตุจักร และเขตพระนคร ที่มีแนวโน้มพบการปนเปื้อนของพยาธิในผักสดในระดับสูง นอกจากนี้ ยังมีรถหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร (Mobile Unit for Food Safety) ประจำกลุ่มเขต เพื่อเสริมกำลังเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร ป้องกันและลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน พร้อมทั้งประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สมาคมตลาดสดไทย กรมควบคุมโรค สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อร่วมกันวางแผนและดำเนินมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยและคุณภาพของผักและผลไม้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน และดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างผักสดจากตลาดต่าง ๆ ทั้งในตลาดเอกชนและตลาดที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กทม. เพื่อนำส่งตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดยในปีที่ผ่านมาได้เก็บตัวอย่างผัก ผลไม้ ตรวจวิเคราะห์ด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น (Test-kit) และตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหายาฆ่าแมลงตกค้าง 28,073 ตัวอย่าง พบว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 28,022 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 99.82 รวมทั้งยังได้ร่วมกับ 50 สำนักงานเขตสุ่มตรวจเฝ้าระวังคุณภาพอาหารอย่างต่อเนื่อง และรายงานผลการตรวจสอบเพื่อนำไปสู่การวางแผนพัฒนามาตรการควบคุมอย่างเหมาะสม ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารในพื้นที่กรุงเทพฯ และสร้างความมั่นใจให้ประชาชนผู้บริโภคอย่างยั่งยืน โดย สนอ. ได้จัดทำแผนและสุ่มตรวจเฝ้าระวังผักสดและผลไม้ในพื้นกรุงเทพฯ ระหว่างเดือน มิ.ย. - ก.ย. 68 ซึ่งจะเน้นย้ำการเฝ้าระวังเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติมต่อไป
ทั้งนี้ กทม. ให้ความสำคัญกับการพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองอาหารปลอดภัย ซึ่งได้ดำเนินงานพัฒนายกระดับมาตรฐานด้านอาหารปลอดภัยร่วมกับสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต อีกทั้งได้จัดทำนโยบายอาหารกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2566 - 2570 (Bangkok Food Policy 2023 - 2027) เพื่อให้มีการบริหารจัดการอาหาร ตั้งแต่กระบวนการผลิตและกระจายผลผลิตทางอาหาร การสะสม การปรุงประกอบ และการจำหน่ายอาหาร ต่อเนื่องมาถึงการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน การบริจาคอาหาร และการจัดการขยะเศษอาหารให้เกิดประโยชน์ ควบคู่กับความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีประเด็นขับเคลื่อนที่เกี่ยวข้องกับการสุขาภิบาลอาหาร ในประเด็นขับเคลื่อนที่ 3 ยกระดับมาตรฐานสถานประกอบการอาหารในพื้นที่กรุงเทพฯ (Food Establishment Safety) โดยเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. ประกอบด้วย ด้านสุขลักษณะทางกายภาพ อาคารสถานที่ (Place) ด้านคุณภาพอาหาร (Food) ด้านบุคลากร ผู้สัมผัสอาหาร (Food Handler) และด้านการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Service) โดยในองค์ประกอบด้านบุคลากร ผู้สัมผัสอาหาร (Food Handler) กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการ ผู้สัมผัสอาหารต้องมีความรู้ด้านการสุขาภิบาลอาหาร สามารถเตรียมประกอบปรุงอาหารที่สะอาด ปลอดภัยจากเชื้อโรค และสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงพยาธิที่อาจปนเปื้อนมาในวัตถุดิบอาหาร ซึ่ง สนอ. และสำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต ได้ตรวจประเมินให้การรับรองมาตรฐานฯ ทั้งในตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ท ร้านอาหาร และแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี รวมทั้งตรวจประเมินติดตามกำกับมาตรฐานฯ อย่างต่อเนื่อง ผลการดำเนินงานปัจจุบันพบว่า จำนวนสถานประกอบการอาหารทั้งหมด 24,083 ราย สามารถพัฒนาผ่านเกณฑ์ฯ 13,354 ราย คิดเป็นร้อยละ 55.45 (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ก.ค. 68) ทั้งนี้ สนอ. จะเร่งรัดผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในการเลือกอาหารปลอดภัย โดยสังเกตป้ายรับรองฯ อีกช่องทางหนึ่ง
ขณะเดียวกัน สนอ. ได้สนับสนุนความร่วมมือการรณรงค์ส่งเสริมความรู้และสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีเลือกซื้อผักและผลไม้ให้ปลอดภัยจากสารเคมีและสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ โดยแนะนำประชาชนเลือกซื้อผักจากสถานประกอบการที่น่าเชื่อถือ และมีมาตรฐานรับรองจากหน่วยงาน เช่น Bangkok G เกษตรอินทรีย์ GAP เป็นต้น รวมถึงการล้างทำความสะอาดผักอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการก่อนนำมาบริโภค โดย สนอ. ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์รูปแบบ Infographic เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงวิธีการเลือกซื้อและล้างผักอย่างถูกวิธี เพื่อสร้างความตระหนักรู้ความปลอดภัยจากสารเคมีและสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ รวมทั้งลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย