
นายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตบริษัทก่อสร้างจีนรับงานโครงการระบบรวบรวมน้ำเสียริมคลองแสนแสบฯ ของ กทม. ว่า สนน. ได้ดำเนินโครงการระบบรวบรวมน้ำเสียเพิ่มเติมริมคลองแสนแสบ ช่วงถนนวิทยุ-คลองตัน เข้าโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดงตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยลงนามสัญญาจ้างกับกิจการร่วมค้า อาร์ แอล จี เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 67 ซึ่งการลงนามสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 ที่ส่งผลกระทบต่ออาคารสำนักงานแห่งใหม่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ประมาณ 6 เดือน ทั้งนี้ สนน. ได้พิจารณาผลการจัดซื้อจัดจ้างโดยยึดตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งพบว่ากิจการร่วมค้า อาร์ แอล จี มีคุณสมบัติครบถ้วน โดยมีรายละเอียดของบริษัทร่วมค้า ดังนี้ บริษัท รวมนที จำกัด เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 27 และมีสัดส่วนการลงทุนโดยคนไทยทั้งหมด และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 61 มีสัดส่วนการลงทุนเป็นของชาวไทยร้อยละ 51 และชาวจีนร้อยละ 49 โดยแรงงานที่ใช้ในโครงการส่วนใหญ่เป็นแรงงานในประเทศไทย ส่วนเครื่องมือและอุปกรณ์ไม่ได้กำหนดรายละเอียดไว้ใน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ อย่างไรก็ตาม กทม. มีข้อกำหนดเรื่องวัสดุและครุภัณฑ์ที่ใช้ในการดำเนินโครงการให้ผู้รับจ้างใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 และเหล็กที่ใช้ในโครงการต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณเหล็กที่ต้องใช้ทั้งหมด อีกทั้งยังไม่อนุญาตให้ผู้รับจ้างใช้เหล็กที่ผลิตโดยบริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการโครงการฯ ณ วันที่ 21 ก.ค. 68 ตามแผนงานร้อยละ 5.58 โดยผลงานที่ทำได้จริงร้อยละ 5.43 ล่าช้าร้อยละ 0.15 ทั้งนี้ ผู้รับจ้างยังคงปฏิบัติงานตามสัญญาและข้อตกลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีวิศวกรสัญชาติไทยเป็นผู้ประสานงานและควบคุมงานก่อสร้าง รวมถึงมีการควบคุมคุณภาพของวัสดุก่อสร้าง (ชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็ก) จากโรงงานผู้ผลิตสัญชาติไทยอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมงานโครงการก่อสร้างจาก สนน. ตรวจสอบและติดตามงานให้เป็นไปตามสัญญาว่าจ้างอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน