
คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จับมือพันธมิตรชั้นนำในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และเทคโนโลยี อาทิ บริษัท กันตนา โพสท์ โปรดักชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด, Epic Games (ผู้พัฒนา Unreal Engine) และบริษัทด้าน Virtual และ Immersive Technology ชั้นนำของไทย เปิดตัวโครงการ "พัฒนาบุคลากรด้าน Virtual Production โดยใช้ Unreal Engine เพื่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสู่ระดับโลก" ภายใต้การสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในวงการภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล ให้ก้าวทันเทคโนโลยีระดับโลก พร้อมขับเคลื่อน Soft Power ไทยด้วยเทคโนโลยีการผลิตภาพยนตร์แบบเสมือนจริง (Virtual Production) ที่ใช้ Unreal Engine และ In-Camera VFX ซึ่งกำลังเป็นมาตรฐานใหม่ของวงการภาพยนตร์โลก
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า "ถ้าเราต้องการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ให้ได้คนนำต้องเป็นเอกชนและรัฐต้องเป็นคนสนับสนุน อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนและโดดเด่นอย่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อุตสาหกรรมเกมเพราะทุกท่านลงมือทำและรัฐต้องทำหน้าที่เข้าไปสนับสนุนลงทุนในสิ่งที่ทางเอกชนยังขาดเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนควบคู่ไปด้วยกัน สิ่งสำคัญคือการรุกออกสู่ตลาดโลก โครงการฝึกอบรมในวันนี้ถือเป็นจิกซอว์ตัวนึงที่บอกถึงว่าเราทำต้นน้ำให้ดี ทำคนให้เก่ง ด้วยการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ Unreal Engine ที่จะช่วยทำให้เราพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตภาพยนตร์ ซีรีส์ แอนิเมชัน ได้มากขึ้น นี่คือจิกซอว์ตัวที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของการพัฒนาคน ต้องขอขอบคุณความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ อุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ อุตสาหกรรมด้านเกม และมหาวิทยาลัย ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในการจะนำเทคโนโลยีอย่าง Virtual Production มาพัฒนาบุคลากรด้วย Unreal Engine ซอฟต์แวร์สร้างภาพเสมือนจริงที่เป็นมาตรฐานระดับสากลในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เกม และคอนเทนต์สร้างสรรค์ ถือเป็นเรื่องที่ดีมากและสำคัญมากในการพัฒนาประเทศไทย"
อาจารย์ภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ, Partner Arc 9 และ CEO Zipcode กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีความตั้งใจในการส่งเสริมและเน้นให้ความสำคัญมานาน DNA ของม.กรุงเทพในเรื่องของ Creativity เรามีความพร้อมในการสนับสนุนให้เกิด Value ใหม่ๆ จากไทยไปสู่โลก และผลลัพธ์ของโครงการนี้ที่เราอยากเห็นคือการเล่าเรื่อง (Story Telling) จากฝีมือคนไทยที่ออกไปสู่ระดับโลก Virtual Production เป็นพื้นฐานใหม่เป็นนวัตกรรมที่เด็กรุ่นใหม่จะเข้ามาใช้ได้ในการสร้างสื่อ สร้างสตอรี่ที่มีคุณภาพระดับโลก ผมเชื่อว่า Partnership กับโครงการนี้จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากในการสร้าง Passion กับ DNA ความภาคภูมิใจในการเล่าเรื่องของคนไทยเราให้ไปสู่โลกได้ผ่านนวัตกรรมกับ Creativity"
ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ คณบดีคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า "Virtual Production ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นอนาคตของวงการภาพยนตร์โลก การผลักดันให้คนไทยมีทักษะและความเข้าใจในเทคโนโลยีนี้คือการเตรียมความพร้อมให้ Soft Power ไทยไปไกลกว่าที่เคย ทั้งในเชิงศิลปะ เศรษฐกิจ และความร่วมมือระหว่างประเทศ โครงการนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และพัฒนา แต่ยังเป็นเวทีสำคัญในการสร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญ นักศึกษา ผู้ประกอบการ และนักสร้างสรรค์จากทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันผลักดันนวัตกรรมและมาตรฐานใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์ไทย"
หนึ่งในกิจกรรมไฮไลต์ของโครงการ คือ Special Talk Session กับ คุณ Douglas Leong ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการของ Radiance 60 ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรม Unreal Authorized Training Center ที่ประเทศสิงคโปร์ อีกทั้งยังเป็นผู้สอน Unreal Authorized Gold ของ Epic Games ที่มีประสบการณ์มากกว่า 25 ปี คุณ Douglas จะมาแบ่งปันประสบการณ์ในการทำงาน พร้อมกรณีศึกษาจริงจากเอเชีย และแนวทางการใช้งานเทคโนโลยี Unreal Engine และ Houdini ที่เปลี่ยนโลกการผลิตสื่อแบบ Real-Time เปิดมุมมองการใช้ Unreal ข้ามอุตสาหกรรม ตั้งแต่เกม ภาพยนตร์ การศึกษา ถึงโลกเสมือนในอนาคต และในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สมัยใหม่
การอบรมเป็นไปอย่างเข้มข้น 6 วันเต็ม ระหว่างวันที่ 23, 25-27, 29-30 กรกฎาคม 2568 โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ การเสวนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ และการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติด้วย Unreal Engine ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และการลงมือทดลองถ่ายทำจริงด้วยระบบ Virtual Production ณ Kantana Virtual Production Studio ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับความรู้ครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างฉากเสมือน ไปจนถึงการควบคุมภาพในระบบ LED Volume และ In-Camera VFX (ICVFX)
โครงการนี้ตอบโจทย์บุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ หรือสื่อดิจิทัล ที่มีความสนใจในการเรียนรู้หรือพัฒนาทักษะด้าน Virtual Production ตลอดจน นักศึกษา ผู้ประกอบการและนักวิจัยด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมุ่งหวังให้ผู้ผ่านการอบรมสามารถนำทักษะไปใช้ในงานจริง พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือในอุตสาหกรรม และสนับสนุนการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยผ่านสื่อดิจิทัลในเวทีโลกอย่างยั่งยืน