ผู้บริหารโตโยต้า-ทีวีบูรพา-ตัน แนะสูตรทำซีเอสอาร์ สร้างธุรกิจยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Thursday November 10, 2011 15:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--โตโยต้า มอเตอร์ ผู้บริหารโตโยต้าเผยทำซีเอสอาร์แบบบูรณาการ และใช้โซเชียล มีเดียขยายเครือข่าย ส่วนทีวีบูรพามองธุรกิจต้องนำกำไรมาทำประโยชน์ให้สังคม ตันขอทำดีใช้หนี้สังคม นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวในงานสัมมนา “Driving Good Corporate Citizenship: เกื้อหนุนโลกด้วยธุรกิจดี” ว่า แนวทางการทำซีเอสอาร์ (CSR-Corporate Social Responsibility) ของบริษัท จะเป็นเชิงบูรณาการ คือคำนึงถึงผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่ายตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ ซึ่งจะมีผลให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืนได้ โดยโตโยต้าจะดูแลตั้งแต่บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนไปจนถึงบริษัทผู้จัดจำหน่าย ลูกค้า ชุมชน แม้ว่าสิ่งดังกล่าวจะใช้เวลากว่าจะเห็นผลดี แต่ในที่สุดก็ทำให้บริษัทได้รับการยอมรับ ความร่วมมือในการทำโครงการต่างๆ และมีผู้เข้าร่วมจนขยายเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ “เราต้องมองว่าสิ่งที่เราทำทั้งหมดต้องเกิดผลกลับไปสู่เขา อย่างเช่น เวลาผลิตรถ เราต้องคัดเลือกบริษัทผลิตชิ้นส่วนที่มีความรับผิดชอบ กระทั่งกระบวนการผลิต การจัดจำหน่าย ผู้แทนจำหน่ายของเราก็ผ่าน ISO 14001 ร้อยเปอร์เซ็นต์ คือเราค้าขายกับเขาอย่างเป็นธรรม ลูกค้าเราก็ต้องรับผิดชอบ นี่อยู่ในส่วนการทำธุรกิจ แต่อีกส่วนหนึ่ง คือเรื่องของชุมชนก็ยึดหลักให้โรงงานอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน อย่างโรงงานของโตโยต้าที่ อ. บ้านโพธิ์ตั้งใจทำให้เป็นต้นแบบ 1 ใน 5 ของโรงงานทั่วโลก โดยบริษัทดูแลเรื่องมลพิษ สิ่งแวดล้อม ทำงานกับชุมชน” นายวุฒิกร กล่าว นอกจากนี้โตโยต้ายังใช้โซเชียล มีเดีย เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้คนมีส่วนร่วมทำความดีในสังคมซึ่งก็มีผู้เข้าร่วมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมปลูกป่าชายเลนที่บางปู สมุทรปราการ ที่มีคนมาร่วมเป็นพันคน หรือช่วงน้ำท่วมที่แฟนของเฟซบุ๊คมาช่วยกันทำสุขาเคลื่อนที่ “ผมจำได้ว่าเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน วันนั้นเรื่องการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า เป็นเรื่องที่ใหม่มาก ณ วันนั้น ยังมองไม่เห็นผลในเชิงธุรกิจ อาจจะมองดูเหมือนเป็นต้นทุน หรือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม เราต้องใช้เวลานานพอสมควร จนกระทั่งมันเริ่มเห็นผล สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือ การบอกต่อ การให้ความยอมรับ ในที่สุดคือความเพิ่มพูนทางธุรกิจ” ขณะที่นายตัน ภาสกรนที ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไม่ตัน จำกัด กล่าวว่า เหตุผลหลักๆ ที่หันมาช่วยเหลือสังคม เพราะเห็นว่าทำธุรกิจมา 30 ปี เป็นทั้งหนี้พนักงาน หนี้สังคม หนี้เศรษฐกิจ หนี้สิ่งแวดล้อม จึงควรมีสำนึกในความเกรงใจ และขณะนี้ตนมีความพร้อมทั้งด้านการเงิน ไม่มีภาระต้องใช้จ่าย ขณะที่สังคมยังมีคนเดือดร้อนอีกมาก จึงถึงเวลาที่จะลุกขึ้นมาทำความดี เพื่อเป็นตัวอย่างให้สังคม ด้านนายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ทีวีบูรพาเริ่มต้นทำซีเอสอาร์ เพราะต้องการช่วยเหลือสังคม เนื่องจากการทำธุรกิจอาจจะเกิดการทำร้าย ทำลาย และตักตวงประโยชน์ไปจากสังคม และสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก จึงคิดว่าน่าจะทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้บ้าง “ในทุกปีแต่ละองค์กรมักตั้งเป้าหมายว่าปีต่อไปจะต้องได้กำไรมากขึ้นกว่าเดิม แต่ทีวีบูรพากลับมองว่าทำไมต้องได้กำไรมากขึ้นทุกปี เท่าเดิมหรือลดลงบ้างได้หรือไม่ และสามารถนำกำไรไปสร้างประโยชน์เพื่อสังคมบ้างไม่ได้หรือ เมื่อคิดเช่นนี้ จึงได้ทำโครงการซีเอสอาร์เป็นตัวอย่าง เพื่อถ่ายทอดความคิดนี้ไปยังคนในองค์กร” น.ส. สฤณี อาชวานันทกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า การทำธุรกิจยุคนี้ไม่ใช่เรื่องกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่การร่วมมือ ช่วยเหลือ การสร้างความสมดุล กับคู่ค้า ผู้บริโภค ชุมชน จะเป็นหัวใจในการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจได้ “แนวโน้มธุรกิจในโลกที่จะเติบโตขึ้น คือ ธุรกิจที่มีคุณค่าต่อสังคม เช่น เสื้อผ้าออแกร์นิคที่โตปีละ 50 เปอร์เซนต์ สินค้าแฟร์เทรด ไมโครไฟแนนซ์ อาหารปลอดสารพิษ และตลาดคนจนก็มีความสำคัญ บิล เกตต์ พูดว่าทุนนิยมต้องสร้างสรรค์มากขึ้น เขาบอกว่าต้องหาทางเอาความห่วงใยของคนไปรับใช้คนจน เราจึงจะสร้างโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนได้ ต้องมองเห็นก่อนว่าธุรกิจไม่ได้เป็นเรื่องกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป” น.ส. สฤณี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ