รมว.สธ.ย้ำการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มากในศูนย์พักพิงต้องใส่ใจป้องกันโรค อธิบดีคร.แนะ 3 รู้ สู้โรคเพื่อชีวิตที่ปลอดภัยในศูนย์พักพิง

ข่าวทั่วไป Friday November 11, 2011 17:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--โฟร์ พี แอดส์ (96) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ขณะนี้ ส่งผลให้ประชาชนหลายล้านคนประสบความเดือดร้อนและต้องผจญกับการไร้ที่อยู่อาศัย จังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นจังหวัดที่ตั้งของกระทรวงสาธารณสุข ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่พื้นที่ส่วนใหญ่ประสบกับภัยพิบัติน้ำท่วมอย่างหนัก ตั้งแต่อำเภอบางบัวทอง ปากเกร็ด บางใหญ่ บางกรวย อำเภอเมืองนนทบุรี ไทรน้อย ฯลฯ ประชาชนผู้ประสบภัยได้อพยพออกจากบ้านเรือน หนีภัยจากน้ำท่วมเข้ามาอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงตามจุดต่างๆ ซึ่งพบว่าขณะนี้ในเขตพื้นที่จังหวัดนนทบุรีมีการจัดตั้งศูนย์พักพิงประมาณ 181 ศูนย์ สามารถรองรับผู้อพยพได้ถึง 109,230 คน การอยู่อาศัยร่วมกันของคนจำนวนมากในศูนย์พักพิง อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดได้ง่าย หนทางป้องกันที่ดีที่สุดคือ สมาชิกทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติตามแนวการจัดตั้งศูนย์พักพิงที่ปลอดภัย ใส่ใจเรื่องการดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อม สุขาภิบาลน้ำ อาหาร กำจัดสิ่งปฏิกูล เพื่อป้องกันควบคุมไม่ให้เกิดโรคระบาดระหว่างพักอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิง ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวขณะลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์พักพิงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิศูนย์นนทบุรี พร้อมแจกจ่ายชุดยาและเวชภัณฑ์ป้องกันโรคให้ผู้ประสบภัยว่าศูนย์พักพิงชั่วคราวมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิศูนย์นนทบุรีเปิดมาตั้งแต่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นศูนย์พักพิงขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีผู้มีผู้ประสบภัยเข้าพักอาศัยกว่า 538 ครัวเรือน รวม 1,670 คน จากการสังเกตพบว่าการบริหารจัดการศูนย์พักพิงแห่งนี้มีความเป็นระบบระเบียบ เป็นไปตามเกณฑ์การจัดตั้งศูนย์พักพิงที่ปลอดภัย จึงน่าจะเป็นตัวอย่างของศูนย์พักพิงที่มีการจัดการที่ดีอีกแห่งหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ผู้ประสบภัยที่จะเข้าพักต้องลงทะเบียนรายชื่อเพื่อรับบัตรประจำตัว และจะตรวจบัตรก่อนเข้าตัวอาคารทุกครั้ง มีการจัดแยกประเภทของผู้ประสบภัย ออกเป็นกลุ่มๆเพื่อความสะดวกในการจัดสรรสถานที่พักให้เป็นสัดส่วน อาทิ กลุ่มครอบครัว กลุ่มคนโสด กลุ่มชาย-หญิง กลุ่มคนป่วย ผู้พิการ และผู้สูงอายุ เป็นต้น มีการออกกฎห้ามดื่มสุรา สูบบุหรี่ และห้ามเล่นการพนัน รวมทั้งมีการจัดเวรยามรักษาความปลอดภัย ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนด้านการป้องกันควบคุมโรคทางศูนย์ฯก็สามารถจัดการได้ดี มีการเปิดโรงครัวเพื่อปรุงอาหารสุกใหม่ให้กับผู้พักพิงได้รับประทาน มีการติดตั้งเครื่องกรองน้ำสำหรับผลิตน้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัยซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคติดต่อจากน้ำและอาหารได้ การกำจัดขยะก็จะมีถุงดำแจกจ่ายให้ผู้พักพิงไว้สำหรับใส่ขยะและจัดจุดรองรับสำหรับรวบรวมขยะทั้งหมดเพื่อนำไปกำจัดต่อไป ซึ่งจะช่วยลดแหล่งก่อโรคและการแพร่กระจายของโรคได้ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ อสม.เข้ามาช่วยดูแลปฐมพยาบาลเบื้องต้นและส่งเสริมความรู้เรื่องการป้องกันโรคให้แก่ผู้ประสบภัย หรือแม้แต่การดูแลสัตว์เลี้ยงของผู้ประสบภัยก็ยังมีการจัดสถานที่แยกส่วนไว้ต่างหากด้วย ฯลฯ “ถึงแม้การอาศัยอยู่ร่วมกันของคนหมู่มากในศูนย์พักพิงจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดได้ง่าย แต่ก็เป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้เพียงแค่ผู้อยู่อาศัยในศูนย์พักพิง ให้ความใส่ใจที่จะระมัดระวังป้องกันตนเอง จึงขอแนะนำกระบวนการ 3 รู้ ตามแนวคิด “ น้ำท่วม อยู่รอด ปลอดโรค ” โดย 3 รู้ที่ว่า คือ “ รู้เตรียม รู้ระวัง รู้สะอาด ” รู้เตรียม คือ การเตรียมเพื่อป้องกันเหตุสุดวิสัยขึ้นกับตนเอง และคนใกล้ชิด ซึ่งมีทั้งเรื่องอุบัติเหตุ และการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ให้ได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รู้จักสังเกตอาการผิดปกติด้วย เช่น เตรียมยา ทั้งยากันยุง ยาซึ่งต้องกินต่อเนื่อง พร้อมทั้งสังเกตอาการผิดปกติ หรือ ป้องกันอุบัติเหตุ เช่น ใส่รองเท้าบู๊ต ป้องกันไฟดูดด้วยการตัดไฟ ไม่ให้เด็กเล่นน้ำเพื่อป้องกันเด็กจมน้ำ และเตรียมหมายเลขโทรศัพท์ ติดต่อยามฉุกเฉิน รู้ระวัง คือ ความเสี่ยงซึ่งเกิดจากแมลงสัตว์กัดต่อย และการรับเชื้อจากคนที่ไม่สบาย เช่น ระวังสัตว์ แมลง หมาบ้า ปลิง ฉี่หนู ไข้เลือดออก มาลาเรีย และระวังติดโรคจากคนอื่น โรคทางเดินหายใจ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด มือเท้าปาก สุดท้าย รู้สะอาด คือ ดูแลเรื่องความสะอาดของอาหารการกิน น้ำ การใช้ห้องน้ำ การทิ้งขยะให้เป็นที่ เป็นทาง เช่น ร่างกายสะอาด อาบน้ำ ล้างมือ กินสะอาด อาหารที่รับประทาน ปรุงสุก ถูกหลักอนามัย และสิ่งแวดล้อมสะอาด ถ่ายในส้วม ขยะใส่ถุงดำ”อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวปิดท้าย ***หากศูนย์พักพิงในพื้นที่ใด ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องของอุปกรณ์และเวชภัณฑ์สำหรับการป้องกันโรค สามารถติดต่อมาได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรคโทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0-2590-3333 *** กลุ่มเผยแพร่ สำนักงานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค โทรศัพท์: 0-2590-3862 / โทรสาร: 0-2590-3386

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ