กฐินสามัคคี ประจำปี 2554 รวมผู้มีจิตศรัทธาชาวราชภัฏนครราชสีมาสู่การปฏิบัติธรรม

ข่าวทั่วไป Monday November 14, 2011 13:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน 2554 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้เป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคี ประจำปี 2554 ณ วัดประมวลราษฎร์ ตำบลจอหอ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัด นครราชสีมา โดยมี อธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เศาวนิต เศาณานนท์ เป็นประธาน พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และพุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก โดยกิจกรรม เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น. องค์กฐินได้เคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัย เดินทางไปยังวัดประมวลราษฎร์ เวลา 10.30 น. เริ่มพิธีถวายผ้ากฐิน เครื่องบริวาร และปัจจัย ซึ่งมีผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาค รวมทั้งสิ้น 305,499 บาท โดยปัจจัยนี้ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏ นครราชสีมา ร่วมสมทบบริจาค จำนวน 50,000 บาท นอกจากนี้ในวันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2554 มหาวิทยาลัยยังได้ จัดให้มีการฉลองสมโภชน์องค์กฐินสามัคคี โดยเริ่มกิจกรรมตั้งแต่การแห่ องค์กฐินโดยรอบมหาวิทยาลัย และรวมองค์กฐิน ณ หอประชุมอนุสรณ์ 70 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จากนั้นมีการแสดงสมโภชน์ จำนวน 9 ชุด ดังนี้ ชุดที่ 1 รำเทพบันเทิง ชุดที่ 2 รำบายศรีสู่ขวัญ ชุดที่ 3 รำไทภูเขา ชุดที่ 4 เอ้ดอกคูณ ชุดที่ 5 รำตังหวาย ชุดที่ 6 เซิ้งแหย่ ไข่มดแดง ชุดที่ 7 แพรวากาฬสินธุ์ ชุดที่ 8 รำนารีศรีอีสาน ชุดที่ 9 เซิ้งกระโป๋ การแสดงทั้ง 9 ชุด เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของนักศึกษาโปรแกรมวิชา นาฏศิลป์ วงโปงลาง จากสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ชมรมต่างๆ และองค์การบริหารนักศึกษา การทอดกฐินสามัคคีในครั้งนี้ได้รับการบริจาคจากคณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และพุทธศาสนิกชน เพื่อสมทบทุนสร้างอาคาร หอประชุมปฏิบัติธรรม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติธรรม และอบรมเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ข้าราชการการและ ประชาชนทั่วไป โดยวัดประมวลราษฎร์ เป็นวัดเก่าแก่สร้างในสมัย กรุงศรีอยุธยา ประมาณ พ.ศ.2235 เดิมชื่อวัดใหญ่ประกาย ต่อมาคำว่า "ประกาย" ได้เพี้ยนเป็น "ระกาย" จนติดปากเหมือนกับชื่อหมู่บ้านระกาย ใน พ.ศ.2584 คณะสงฆ์อำเภอเมืองนครราชสีมาในขณะนั้นเห็นว่าชื่อวัดนี้ มีความหมายไม่ชัดเจนจึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "วัดประมวลราษฎร์" มาจนถึงทุกวันนี้ การทอดกฐิน เป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชน อย่างหนึ่ง นิยมทำกันตั้งแต่วันแรมค่ำเดือนสิบเอ็ดไปจนถึงกลางเดือน สิบสอง คำว่า กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับ ขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึง มาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน แล้วจึงเย็บ เพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมือน สมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอเหมือนจักร เย็บผ้าในปัจจุบันการทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็น ผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวร อันมิใช่ผ้ากฐิน เช่นตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระ ต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดา ก็เสด็จลงมาช่วยภิกษุ สามเณรอื่นๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกา ก็จัดหาน้ำดื่ม เป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้การเย็บจีวร แม้โดยธรรมดาก็เป็นการต้องช่วยกันทำ การทอดกฐินเป็นกาลทาน ปีหนึ่งทำได้ครั้งเดียว วันหนึ่งทำได้ ครั้งเดียวในปีหนึ่ง ๆ ต้องทำภายในกำหนดเวลา และผู้ทอดก็ต้อง ตระเตรียมจัดทำเป็นงานใหญ่ ต้องมีผู้ช่วยเหลือหลายคน พิธีเช่นนี้ได้ทั้ง โภคสมบัติ เพราะเราเองบริจาคได้ทั้งบริวารสมบัติเพราะได้บอกบุญ แก่ญาติมิตรให้มาร่วมการกุศล กาลทานเช่นนี้เรียกว่า ทานทาง พระวินัย จึงนิยมกันว่าเป็นพิธีบุญที่อานิสงส์แรง และเชื่อกันว่าผู้ที่ได้ทำ จะประสบแต่ความสุขความเจริญ ติดต่อ: มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (government) ติดต่อได้ที่: nrrupr@gmail.com โทร. o44-009009

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ